ติดอันดับ

อินโดนีเซียทลายกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่เป็นแก๊งค้ามนุษย์

โจเซฟ แฮมมอนด์

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียขุดรากถอนโคนแก๊งค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยจับกุมชายสี่คนที่ต้องสงสัยว่าทำการค้ามนุษย์ชาวอินโดนีเซีย 1,200 คนให้ไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านในโมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย และตุรกี โดยไม่มีเอกสารการเข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย

นายเดดี ประเสตโย โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียกล่าวถึงการจับกุมดังกล่าวในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ว่าเป็น “คดีครั้งใหญ่ที่สุดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเปิดโปงมา เนื่องจากมีเหยื่อเกี่ยวข้องมากกว่า 1,000 ราย”

คดีดังกล่าวแสดงให้เห็นขนาดของการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความร้ายแรงที่ผู้นำต่าง ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนกำลังต่อสู้ รายงานขององค์การสหประชาชาติ พ.ศ. 2562 พบว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นมาก และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสถานที่หนึ่งที่มีแหล่งสำหรับผู้ค้ามนุษย์มากที่สุด (ภาพ: อาชญากรที่เป็นผู้ต้องสงสัยเข้าร่วมการแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียกล่าวว่าได้เปิดโปงแก๊งค้ามนุษย์ครั้งใหญ่)

ใน พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบกับแผนดำเนินงานด้านสถานการณ์การค้ามนุษย์โบโฮลเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งต่อยอดมาจากอนุสัญญาการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้นำในอาเซียนก่อนหน้านี้ ตามที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนระบุ สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในหลายประเทศจากนานาชาติที่ให้ความช่วยเหลือในโครงการนี้

เมื่อวันที่ 4-7 มีนาคม พ.ศ. 2562 เมืองโบโฮล ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียนเพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าของแผนดังกล่าว ซึ่งมีการบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2565)

“ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในอาเซียน” นายแมทธิว ยิงซัน จากคณะกรรมการอาเซียนและแคริบเบียน ซึ่งเป็นองค์การพัฒนาเอกชนระหว่างภูมิภาคกล่าวกับ ฟอรัม“ในบางประเทศ บุคคลจะถูกค้ามนุษย์เพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวทางเพศที่ได้รับความนิยม เช่น ในประเทศไทย” ในประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา และลาว บางครั้งเหยื่อก็ถูกบังคับให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม นายยิงซันกล่าว

การค้ามนุษย์ดังกล่าวส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นมาที่เอเชีย ตามการรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในจำนวนเหยื่อทั้งหมดจากการค้ามนุษย์ทั่วโลก มากกว่าร้อยละ 50 มาจากภูมิภาคอินโดแปซิฟิก การค้าที่ผิดกฎหมายดังกล่าวในภูมิภาคนี้เพียงแห่งเดียวสร้างกำไรราวปีละ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท)

เหยื่อบางรายจากการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกบังคับให้ขึ้นเรือที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในทะเล บางครั้งแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานในสภาพที่โหดร้ายในทะเลนานนับหลายปี

“ประเทศในอาเซียนต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อจัดการกับการประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์” นายฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 กับองค์การพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ชื่อ สต็อป อิลลิกัล ฟิชชิง “ประเทศไทยสนับสนุนให้พันธมิตรในอาเซียนแบ่งปันความมุ่งมั่นของเราในการเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมทั้งเป็นมิตรต่อสังคม”

ปัญหาที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องการค้าทางเพศของสตรีและเด็ก ซึ่งบางส่วนที่ค้าโดยแก๊งที่ถูกจับกุมในอินโดนีเซียเป็นผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกเหนือจากเหยื่อที่มักจะไปทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างในประเทศในตะวันออกกลางและยุโรป รอยเตอร์รายงาน

นายโจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัมในกรุงลอนดอน และเพิ่งเดินทางกลับจากการรายงานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button