ติดอันดับ

อินเดียจะจัดหาเรือลาดตระเวนให้กับกองกำลังรักษาชายแดนเวียดนาม

การจัดการความร่วมมือใหม่ระหว่างอินเดียและเวียดนามมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เวียดนามเดินเรือในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของทะเลจีนใต้ตามแนวชายฝั่งของตนได้ดีขึ้น

บริษัทลาร์เซนแอนด์เทอโบรชิปบิลด์ดิ้งของอินเดียมุ่งมั่นที่จะสร้างเรือลาดตระเวนความเร็วสูงนับสิบลำให้กับกองกำลังรักษาชายแดนเวียดนาม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์โดยโครงการดังกล่าวใช้สินเชื่อเพื่อการส่งออกสินค้าของอินเดียเป็นทุน

พล.ท. ฮวง แดง เนียว รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายแดนเวียดนามประกาศกับผู้ที่มาชุมนุมกันในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ว่าทั้งสองประเทศหวังที่จะร่วมมือกันด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม รวมทั้งการต่อเรือ

พล.ท. เนียวกล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการแรกในด้านความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างอินเดียและเวียดนาม ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ลาร์เซนแอนด์เทอโบรซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเจนไนในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย ได้ผลิตเรืออะลูมิเนียมผสม 46 ลำสำหรับกองกำลังรักษาชายฝั่งอินเดียแล้ว เรือลาดตระเวนความเร็วสูงซึ่งมีความยาวประมาณ 35 เมตรและเดินทางด้วยความเร็วสูงถึง 35 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมงมีขีดความสามารถด้านการป้องกัน นำทาง และการตรวจสอบที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เวียดนามนิวส์รายงาน เรือดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายฝั่งปฏิบัติภารกิจค้นหาและกู้ภัย รวมถึงตรวจจับการลักลอบขนสินค้าและภัยคุกคามอื่น ๆ ที่มีต่อความมั่นคงทางทะเลของเวียดนาม (ภาพ: ภาพวาดจิตรกรของหนึ่งในเรือลาดตระเวนความเร็วสูงลำใหม่)

นอกจากนี้ เรือดังกล่าวอาจช่วยเวียดนามสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของตนในทะเลจีนใต้ ในช่วงเวลาตลอดหลายปีผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ซึ่งมีการค้าข้ามประเทศประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 1 พันล้านล้านบาท) โดยเป็นปรปักษ์กับประเทศต่าง ๆ ที่มีการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กับสหรัฐอเมริกาอันเนื่องมาจากความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับจีน รอยเตอร์รายงาน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เรือสำรวจของจีนแล่นเข้าใกล้ชายฝั่งของเวียดนาม ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศอีกครั้ง รอยเตอร์รายงาน เรือไหหยาง ตือฉี 8 แล่นเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 200 ไมล์ทะเลเป็นครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และใช้เวลาหลายสัปดาห์ทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ในลักษณะที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเรือจากสองประเทศ

“เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้กลับมาดำเนินการแทรกแซงด้วยการบีบบังคับในกิจกรรมด้านน้ำมันและก๊าซที่มีมาอย่างยาวนานของเวียดนามในทะเลจีนใต้อีกครั้ง” ตามระบุในแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 “จีนจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนบ้านหรือความเคารพจากประชาคมนานาชาติด้วยการที่ยังคงใช้ยุทธวิธีกลั่นแกล้ง”

จีนบุกรุกเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามในเดือนสิงหาคมโดยมีเรือคุ้มกันอย่างน้อยสี่ลำ และเข้าใกล้ในระยะ 102 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฟู้โกว๊ก และห่างจากเมืองฟานเที้ยต 185 กิโลเมตร รอยเตอร์รายงาน จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่กว้างใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงไหล่ทวีปบางส่วนของเวียดนาม

ความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันของเวียดนามและอินเดียย้อนกลับไปเมื่อกว่าห้าปีก่อน ตามรายงานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ของนิตยสารข่าวออนไลน์ เดอะดิโพลแมต นายประณับ มุกเคอร์จี ประธานาธิบดีอินเดียในขณะนั้นเดินทางเยือนกรุงฮานอยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 และนายเหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามในขณะนั้นไปเยือนเดลีในเดือนถัดมา

หลังจากการไปเยือนดังกล่าว ทั้งสองประเทศก็ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อประกาศว่า “ความร่วมมือในการป้องกันประเทศเป็นเสาหลักสำคัญในความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ” และจะทำงานร่วมกันในประเด็นด้านกลาโหม พลังงาน ทะเลจีนใต้ อวกาศ รวมทั้งการค้าและการลงทุน

ใน พ.ศ. 2559 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งอินเดียได้มอบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเวียดนามในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์กลาโหมจนถึง พ.ศ. 2573 เดอะดิโพลแมตรายงานว่า อินเดียตกลงที่จะขยายการฝึกทหารและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีทางเรือของเวียดนาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button