ติดอันดับ

ออสเตรเลียร่วมมือกับสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนเลิกใช้สถานะประเทศซึ่ง “เศรษฐกิจกำลังพัฒนา”

นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวในการปราศรัยนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญในสหรัฐฯ ว่า กฎการค้าสากล “ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์อีกต่อไป” และต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับสถานะใหม่ของจีนในฐานะประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

นายมอร์ริสันกล่าวว่า ประชาคมโลกได้มีส่วนร่วมกับจีนเพื่อช่วยให้จีนเติบโตขึ้น แต่ขณะนี้ต้องเรียกร้องให้ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้มีความโปร่งใสด้านความสัมพันธ์ทางการค้ามากขึ้น และรับผิดชอบต่อการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

“สถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกจะต้องปรับทิศทางเกี่ยวกับจีนเพื่อรับทราบถึงสถานะใหม่นี้” นายมอร์ริสันกล่าวในการปราศรัยต่อสภากิจการโลกแห่งเมืองชิคาโก ซึ่งกล่าวถึงจีนว่าเป็น “ประเทศรายใหม่ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว”

“นั่นหมายความว่าจะมีความคาดหวังมากขึ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่ยืนอยู่ในสถานะนี้มาโดยตลอด” นายมอร์ริสันกล่าวในการปราศรัย ตามข้อความที่ถอดเสียงแก่รอยเตอร์

กฎการค้าสากลนั้น “ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์อีกต่อไป” และในบางกรณีได้รับการ “ออกแบบมาเพื่อเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในอีกยุคหนึ่ง ซึ่งเป็นยุคที่หมดสมัยไปแล้ว” นายมอร์ริสันกล่าวเพิ่มเติม

ตามรายงานขององค์การการค้าโลก การกล่าวถึงจีนว่าเป็นประเทศรายใหม่ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงจากสถานะที่รัฐบาลจีนได้ประกาศตนว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ซึ่งได้รับการยอมผ่อนปรนต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาผ่อนผันนานขึ้นในการดำเนินการตามพันธสัญญาที่ตกลงกันไว้

นอกจากนี้ยังทำให้ออสเตรเลียมีจุดยืนสอดคล้องกับการรณรงค์ที่นำโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อถอดถอนสถานะของจีนในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนา ประธานาธิบดีทรัมป์เขียนในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561 ว่าจีนเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” แต่ได้รับ “สิทธิพิเศษและข้อได้เปรียบมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา”

ก่อนหน้านี้ นายมอร์ริสันเรียกร้องให้จีนปฏิรูปเศรษฐกิจและยุติสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่ก็หยุดชะงักลง จนปัจจุบันยังไม่ได้รับสถานะสาธารณะตามสถานะขององค์การการค้าโลก

แม้ว่าการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีนเติบโตขึ้นนับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศลงนามในข้อตกลงการค้าเมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสถิติถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2561 แต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีกลับตึงเครียดมานับตั้งแต่นั้น

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 นายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวหาว่าจีนเข้ามาก้าวก่ายในกิจการภายในประเทศของออสเตรเลีย ความสัมพันธ์ดังกล่าวเลวร้ายลงจากการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อปีที่ผ่านมา ที่สั่งห้ามบริษัทโทรคมนาคมจีนอย่าง หัวเว่ยเทคโนโลยี ไม่ให้เปิดตัวเครือข่ายบรอดแบนด์ 5จี ในออสเตรเลียอย่างเด็ดขาด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button