ติดอันดับ

องค์การอนามัยโลกตกลงที่จะตรวจสอบการตอบสนองต่อโควิด-19 “อย่างเป็นกลางและอิสระ”

องค์การอนามัยโลกจะเปิดตัว “การประเมินที่เป็นกลาง อิสระ และครอบคลุม” เกี่ยวกับการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19

การลงมติเรียกร้องให้มีการทบทวนการจัดการวิกฤตทั่วโลกของหน่วยงานดังกล่าวได้รับการยื่นเรื่องโดยรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป และมีสมาชิกขององค์การอนามัยโลกตอบรับจำนวน 194 ประเทศในช่วงการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกครั้งที่ 73 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

การตรวจสอบน่าจะ “แสดงคำแนะนำเพื่อปรับปรุงการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก การเตรียมความพร้อม และขีดความสามารถในการตอบสนอง” มติดังกล่าวระบุ

“ผมจะเริ่มการประเมินดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด” นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวในช่วงปิดการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอ ด้วยเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ แทนที่จะจัดการประชุมที่เมืองเจ้าภาพในสถานการณ์ปกติอย่างกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ภาพ: นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกครั้งที่ 73 ในรูปแบบเสมือนจริง)

“เรายินดีรับฟังแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์การอนามัยโลก” นายกีบรีเยซุสกล่าว โดยเน้นว่ามติดังกล่าวเรียกร้องให้มีการทบทวนการตอบสนองระหว่างประเทศที่กว้างขึ้น และไม่จำกัดเฉพาะการดำเนินการขององค์การอนามัยโลก

ขณะที่นายกีบรีเยซุสกล่าวปิดท้าย แดชบอร์ดออนไลน์โควิด-19 ของหน่วยงานของเขาแสดงให้เห็นถึงยอดผู้เสียชีวิตจำนวนน่าวิตก กล่าวคือ มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 4.7 ล้านรายทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 315,000 ราย

นับตั้งแต่เกิดเหตุขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2562 และกลายเป็นภัยพิบัติด้านสาธารณสุข การแพร่ระบาดของโรคมาพร้อมความคลุมเครือจากคำถามเกี่ยวกับความผิดและการร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการตอบสนองที่ไม่เพียงพอ ซึ่งยังคงเห็นความขุ่นข้องหมองใจในระหว่างการประชุม

ในจดหมายความยาวสี่หน้าถึงนายกีบรีเยซุส ลงวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงการตรวจสอบของรัฐบาลของตนว่า “การตอบสนองที่ล้มเหลวต่อการระบาดของโควิด-19” ขององค์การอนามัยโลกเน้นให้เห็นถึงการที่องค์กรด้านสุขภาพนี้ “ถูกสาธารณะรัฐประชาชนจีนควบคุมอิสรภาพอย่างน่ากลัว”

องค์การอนามัยโลก “เพิกเฉยต่อรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสในอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 หรือแม้แต่ก่อนหน้านั้น” จดหมายดังกล่าวระบุ

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตลาดค้าส่งสัตว์ป่าในอู่ฮั่น “ต้องมีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นต้นตอของการระบาดหรือแหล่งแพร่เชื้อ” อย่างไรก็ตาม มติขององค์การอนามัยโลกไม่ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของโควิด-19 หรือการกระทำของประเทศสมาชิกที่เจาะจง สหรัฐอเมริกาไม่ได้คัดค้านการออกมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโควิด-19

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ระงับเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่ให้แก่องค์การอนามัยโลกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เพื่อรอการสอบสวนของฝ่ายบริหารของตน จดหมายของนายทรัมป์เตือนว่า เขาอาจจำใจระงับเงินสนับสนุนอย่างถาวร และพิจารณาการเป็นสมาชิกของสหรัฐฯ อีกครั้งในกรณีที่องค์กร “ไม่มุ่งมั่นจะดำเนินการปรับปรุงที่สำคัญภายใน 30 วันข้างหน้า”

ทั้งนี้ กำหนดการตรวจสอบขององค์การอนามัยโลกยังไม่ชัดเจนในทันที โดยจะขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกแต่ละประเทศว่าจะดำเนินตามคำแนะนำต่าง ๆ ที่ออกมา

หลังจากที่ปฏิเสธการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างอิสระของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการคุกคามการคว่ำบาตรทางการค้าต่อออสเตรเลีย โดยจีนได้มีท่าทีที่อ่อนลงเมื่อเปิดการประชุม

“จีนสนับสนุนแนวคิดการตรวจสอบที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการตอบสนองทั่วโลก” นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวในการแถลงข่าวทางวิดีโอ โดยนายสีให้หลักประกันมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมาในการตอบสนองต่อโควิด-19 และความพยายามในการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ นายสียังกล่าวปกป้องการตอบสนองต่อไวรัสของจีนอีกด้วย “เราได้ให้ข้อมูลแก่องค์การอนามัยโลกและประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที” นายสีกล่าว

ทั้งนี้ การโต้แย้งของนายสีไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ไขว้เขว

“เราเห็นว่าองค์การอนามัยโลกล้มเหลวในภารกิจหลักเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลและความโปร่งใส เมื่อประเทศสมาชิกไม่ได้ดำเนินการโดยสุจริตใจ” นายอเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ กล่าวในวิดีโอวันเปิดการประชุม โดยอ้างถึงข้อกล่าวหาที่จีนปิดบังรายละเอียดของการระบาดครั้งแรกซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง “เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้เป็นอันขาด”

นายอาซาร์ตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ ได้จัดสรรเงินมากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท) เพื่อการตอบสนองต่อการระบาดทั่วโลก และได้เริ่มการทดลองใช้วัคซีนในมนุษย์ครั้งแรกของโลก

“ความสำเร็จเหล่านี้และวิธีที่โปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูลของพวกเราจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโลก” นายอาซาร์กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button