ติดอันดับ

สันติภาพเป็นความสำคัญลำดับสูงสุดสำหรับรัฐบาลใหม่ของพม่า

รอยเตอร์

นางอองซาน ซูจี แห่งพม่ากล่าวเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ว่า กระบวนการสันติภาพของประเทศจะเป็นความสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลใหม่ของเธอที่จะเข้ามามีอำนาจต่อมาในปีนี้ จากชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พม่าได้ต่อสู้มาหลายทศวรรษเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืนกับกลุ่มกองโจรชาติพันธุ์ส่วนน้อยอันหลากหลายที่ได้ต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเองและการได้รับการยอมรับ

รัฐบาลได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 แต่ข้อตกลงไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ในร่างกฎหมายทั่วประเทศ โดยเจ็ดกลุ่มจากทั้งหมด 15 กลุ่มที่ได้รับเชิญปฏิเสธการลงนาม ซึ่งรวมถึงบางกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุด

นับแต่นั้นการต่อสู้ระหว่างทหาร ผู้ไม่ลงนามในสัญญา และกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนในการเจรจาได้ขยายไปสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศ

“กระบวนการสันติภาพคือสิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่จะดำเนินการ เราจะพยายามได้มาซึ่งข้อตกลงหยุดยิงของทุกฝ่าย” นางซูจีกล่าวในการปราศรัยเพื่อประกาศวันแห่งอิสรภาพที่สำนักงานใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอในกรุงย่างกุ้ง

“เราไม่สามารถทำสิ่งใดได้โดยปราศจากสันติภาพในประเทศของเรา”

นางซูจีปฏิเสธการเจรจาสันติภาพที่นำโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งประกาศต่อสาธารณะว่าเป็นการบรรลุความสำเร็จที่สำคัญของการปกครองกึ่งพลเรือนของตนซึ่งครองอำนาจในปี พ.ศ. 2554 โดยเป็นการสิ้นสุด 49 ปีของการปกครองโดยทหารโดยตรง

นางซูจีไม่ได้เข้าร่วมพิธีลงนามในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนถัดไปในกระบวนการสันติภาพคือ การเจรจาทางการเมืองกับแปดกลุ่มที่ลงนาม โดยได้กำหนดให้มีขึ้นในกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะเข้าดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่คาดว่าจะจัดให้มีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 แต่ทหารจะยังคงมีอำนาจทางการเมือง

หนึ่งในสี่ของที่นั่งในรัฐสภาได้รับการสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ต้องได้รับการเลือกตั้ง ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญสามกระทรวงคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน ยังได้รับการเลือกโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด

นอกจากนั้น นางซูจียังคงถูกห้ามไม่ให้เป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพ

คำปราศรัยของนางซูจีเป็นหนึ่งในแถลงการณ์แรก ๆ ของเธอนับตั้งแต่เธอชนะการเลือกตั้งและการครบรอบ 68 ปีแห่งอิสรภาพของพม่า

นายออง ซาน บิดาของนางซูจีซึ่งได้รับรางวัลโนเบล ได้รับความเคารพอย่างสูงในพม่าสำหรับการเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศจากอังกฤษและเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพ

นายออง ซาน ถูกลอบสังหารในปี พ.ศ. 2490 เมื่อนางซูจีมีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นหกเดือนก่อนที่ความฝันของเขาที่จะได้เห็นพม่าเป็นประเทศเอกราชได้กลายเป็นจริงในที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button