เรื่องเด่น

ศึก การเลือกปฏิบัติ ในซินเจียง

การปราบปรามของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีแนวโน้มจะเกิดผลในทางตรงกันข้าม

นายมาร์ค จูเลียน

มื่อเร็ว ๆ นี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนปฏิเสธอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับรายงานของ “ค่ายปรับทัศนคติ” ในภูมิภาคทางตะวันตกของซินเจียง ซึ่งมีการกักกันชนกลุ่มน้อยมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์และคาซัค นายฮู เลียนเหอ เจ้าหน้าที่จีนประกาศต่อหน้าคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติว่า “ไม่มีการกักตัวโดยไร้กฎเกณฑ์” และ “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศูนย์ปรับทัศนคติ” ในซินเจียง นางหัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่ารายงานเกี่ยวกับค่ายกักกันของซินเจียง “อ้างอิงจาก ‘ข้อมูล’ ที่ไม่ได้รับการยืนยันและไร้ความรับผิดชอบซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม เอกสารที่เป็นข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก ทั้งเอกสารสาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น รูปภาพและภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงคำให้การจำนวนมากพิสูจน์ให้เห็นในทางตรงกันข้าม ผลงานอันยอดเยี่ยมที่อิงจากวิธีการทางวิชาการของนักวิชาการระดับนานาชาติ เช่น นายเอเดรียน เซนซ์ นายไรอัน ธัม นางสาวเจสสิกา แบตเก และนายชอว์น จาง รวมทั้งอีกหลายท่าน ช่วยเปิดเผยความเป็นจริงนี้ได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากการถกเถียงกันเกี่ยวกับการมีอยู่ของค่ายดังกล่าวยุติลงแล้ว การหารือถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ของนโยบายเหล่านี้ต่อผลประโยชน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนขณะนี้จึงเหมาะสมมากกว่า

เป้าหมายของจีนโดยสังเขปคือการต่อสู้กับลัทธิสุดโต่ง ลัทธิแบ่งแยกดินแดน และลัทธิก่อการร้าย หรือพลังแห่งความชั่วร้ายสามประการ ผ่านการเฝ้าระวังขนาดใหญ่และระบบ “การกำจัดแนวคิดสุดโต่ง” แต่แทนที่จะประสบความสำเร็จ กลยุทธ์นี้อาจส่งผลให้เกิดความแปลกแยกอย่างถาวรกับประชาชนชาวอุยกูร์รวมทั้งชนกลุ่มน้อยมุสลิม และอาจทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศและต่างประเทศแย่ลงกว่าเดิม

จีนประสบกับการก่อการร้ายอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2556 และ 2557 โดยมีผู้บาดเจ็บทั่วประเทศหลายร้อยราย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 นักรบชาวอุยกูร์หลายพันคนนอกประเทศจีนลุกขึ้นมาจับอาวุธในซีเรีย และเข้ารับการฝึกโดยมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจอย่างทางการจีนในซินเจียงในท้ายที่สุด การรณรงค์ต่อต้านการก่อการร้ายของจีนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีเหตุโจมตีเกิดขึ้นในจีนเลยนับแต่นั้น ซึ่งการลดลงนี้เกิดจากการใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่พบได้ทุกที่ทั่วซินเจียง การเฝ้าระวังเข้มงวดกว่าที่เคยเป็นมาในจีนหรือแม้กระทั่งที่อื่น ๆ ในโลก บุคลากรตำรวจและทหารคอยสอดส่องตรวจตราท้องถนนและชนบทของซินเจียงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเป็นปัจจัยใหม่ของที่นี่ ด้วยการใช้การเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ต การจดจำใบหน้าและเสียง กล้องวงจรปิดแบบครบวงจร การบันทึกดีเอ็นเอ และอีกมากมาย นอกจากนี้ การรณรงค์ “การเปลี่ยนแปลงด้วยการให้ความรู้” ได้นำไปสู่การกักกันพลเมืองชาวมุสลิมในจีนจำนวนมหาศาล หรืออย่างน้อยหลายแสนคน ชาวอุยกูร์ถูกกักตัวในค่ายที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อกำจัดแนวคิดสุดโต่งเกี่ยวกับองค์ประกอบของสังคมที่ “ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุดโต่งทางศาสนาและอุดมการณ์การก่อการร้ายที่รุนแรง”

แม้เบื้องหน้าจะดูมีประสิทธิภาพ แต่แนวทางที่ทารุณของจีนย่อมจะมีผลที่ตามมา

ประการแรก ลัทธิสุดโต่งและลัทธิแบ่งแยกดินแดนอาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเงียบ ๆ ภายใต้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน ดูเหมือนการก่อเหตุรุนแรงของผู้ก่อการร้ายจะไม่เป็นผล เนื่องจากความพยายามก่อเหตุเหล่านั้นจะถูกระงับโดยทันที อย่างไรก็ตาม ลัทธิสุดโต่งทางศาสนาจะทวีความรุนแรงขึ้นได้เฉพาะในจิตใจของคนที่รู้สึกว่าถูกข่มเหงและกดขี่ในการแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของตน
ประการต่อมา นโยบายของจีนที่มีต่อชาวอุยกูร์กำลังกระตุ้นให้ชาวอุยกูร์พลัดถิ่นและองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกดดันรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์การสหประชาชาติให้ต่อต้านจีนในเรื่องนี้แล้ว รัฐบาลจีนควรให้ข้อมูลและแสดงความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในซินเจียง แทนที่จะกล่าวหาสหรัฐอเมริกาและสื่อตะวันตกว่าจงใจปล่อยข่าวเท็จเพื่อทำร้ายจีน ความจริงแล้ว จากมุมมองของชาวโลก วาทกรรมของสื่อตะวันตกไม่ใช่ตัวการหลักที่ทำร้ายจีน (ข้อมูลส่วนใหญ่เปิดเผยโดยนักวิชาการนานาชาติ) แต่เป็นการที่จีนไม่เคยแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อประเด็นดังกล่าว จนกระทั่งถูกบังคับให้ต้องประกาศต่อหน้าคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 การระบุว่า “เขตปกครองตนเองซินเจียงเคารพและรับรองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธ์ุเสมอ รวมทั้งปกป้องเสรีภาพและสิทธิพลเมืองของทุกกลุ่มชาติพันธ์ุ” และ “เสรีภาพด้านความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาได้รับการรับรองอย่างเต็มที่” ไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งใดนอกจากเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในคำพูดของรัฐบาลจีนในเวทีนานาชาติ

ประการที่สาม การกระทำของจีนจะเป็นการกระตุ้นกองทัพทั่วโลกอีกด้วย มีองค์กรแบ่งแยกดินแดนของอุยกูร์นอกพรมแดนจีนที่ชื่อว่าพรรคอิสลามเตอร์กิสถาน ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และซีเรีย พรรคอิสลามเตอร์กิสถานและองค์กรอื่น ๆ เช่น รัฐอิสลามอิรักและซีเรีย มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์ในการสรรหานักรบจากความไม่พอใจที่ประชากรชาวอุยกูร์และคาซัคในเอเชียใต้และเอเชียกลางมีต่อจีน จีนมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากมายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียกลางและปากีสถาน ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการแก้แค้นให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุของตนและกลุ่มทางศาสนาในซินเจียง

เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในซินเจียงจากมุมมองด้านผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าจีนได้รับประโยชน์อย่างไรจากเหตุปราบปรามประชากรชาวมุสลิมครั้งใหญ่นี้ มีความเสี่ยงสูงมากที่นโยบายประเภทนี้อาจทำให้ความคับแค้นระหว่างชาติพันธุ์ ลัทธิแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่งภายในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น เป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์สากลของจีน และทำให้จีนตกเป็นเป้าหมายขององค์กรก่อการร้ายในต่างประเทศ กล่าวสั้น ๆ ได้ว่าอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม

นิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต ตีพิมพ์บทความนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button