ติดอันดับ

รายงาน: จีนควรยกเครื่องแนวทางการให้กู้ยืมในแปซิฟิก

รายงานฉบับใหม่โต้แย้งว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนควรปรับเปลี่ยนแนวทางการให้กู้ยืมเงินกับประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกที่มีเศรษฐกิจเปราะบาง หากต้องการหลีกเลี่ยงการผูกมัดพันธมิตรทางการเงินด้วยภาระหนี้สิน

“มหาสมุทรแห่งหนี้สินนะหรือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและการทูตแบบสร้างหนี้ในแปซิฟิกอย่างไรล่ะ” ข้อความนี้เขียนโดยนายโรแลนด์ ราจาห์ นายอเล็กซานเดอร์ ดายันต์ และนายโจนาธาน ไพรค์ นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยโลวีของออสเตรเลีย โดยระบุว่า หนี้ที่มีการจัดการอย่างดีสามารถมีบทบาทที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอย่างปลอดภัยได้

รายงานจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า “อย่างไรก็ตาม ขนาด ลักษณะ และความไม่โปร่งใสของกิจกรรมการให้กู้ยืมเงินของจีน” ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “ก่อให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับปัญหาความยั่งยืนของหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ด้อยพัฒนา”

ด้วยขนาดที่เล็ก ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศได้ง่าย และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ทำให้หมู่เกาะในแปซิฟิกมีความเสี่ยงจะเดือดร้อนจากหนี้สิน รายงานระบุว่า “หลายประเทศในแปซิฟิกยังเป็นประเทศที่ติดหนี้จีนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับลูกหนี้ทั่วโลก”

แม้ผู้เขียนระบุว่า จีนยังไม่มีส่วนร่วมใน “การทูตแบบกับดักหนี้” ในหมู่เกาะแปซิฟิก แต่การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากจีนปฏิเสธที่จะปรับโครงสร้างแนวทางการให้กู้ยืมเงินของตน การปฏิบัติของจีนอาจถือว่าเป็นการให้กู้ยืมอย่างเอารัดเอาเปรียบ หากโครงการมีคุณภาพต่ำ เงื่อนไขการให้กู้ยืมมีราคาแพงเกินไป หรือหากมีส่วนร่วมในการให้กู้ยืมแก่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาหนี้

รายงานระบุว่า ในประเด็นของคุณภาพ บริษัทต่าง ๆ ของจีนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยมี “บางคนกล่าวหาถึงขนาดที่ว่า โครงการเหล่านี้หลายโครงการเป็นโครงการที่ได้ไม่คุ้มเสียและเปล่าประโยชน์” รายงานจากสถาบันโลวีระบุว่าการวิเคราะห์ความช่วยเหลือของจีนในหมู่เกาะคุก ซามัว ตองงา และวานูอาตู ในพ.ศ. 2557 มีการจัดทำเป็นหนังสือรายงานที่ผสมปนเปกัน รายงานระบุว่า “หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากปล่อยบริษัทของรัฐจีนไว้เพียงลำพัง บริษัทเหล่านั้นจะดำเนินการอย่างลวก ๆ และเพิ่มราคาให้สูงขึ้น” “หากมีการจัดการอย่างเหมาะสม บริษัทเหล่านั้นจะสามารถส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพดีได้” (ภาพ: ผู้หญิงที่กำลังถือไม้ฟืนมัดหนึ่งเดินผ่านอาคารที่สร้างโดยบริษัทรัฐวิสาหกิจ ไชน่าเรลเวย์ กรุ๊ป จำกัด ในพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี)

รายงานระบุว่า ในส่วนของเงื่อนไขการกู้ยืมเงินที่ให้กับหมู่เกาะพันธมิตร จีนควรเสนอการผ่อนปรนเพิ่มเติม สินเชื่อมาตรฐานเพื่อการพัฒนาจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ระยะเวลาผ่อนผัน 5 ถึง7 ปีและครบกำหนด 15 ถึง 20 ปี เงินกู้ก้อนที่ใหญ่ที่สุดทั้งหมดซึ่งให้แก่ซามัว ตองงา และวานูอาตู ดำเนินการตามเงื่อนไขมาตรฐานดังกล่าว

แม้เงื่อนไขเหล่านี้เป็นผลดีมากกว่าการจัดหาเงินทุนตามตลาด แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้เสนออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ถึง 2 ระยะเวลาผ่อนผัน 5 ถึง 10 ปีและระยะเวลากู้ 25 ถึง 40 ปี รายงานจากเว็บไซต์บิสซิเนสอินไซเดอร์ระบุว่า ญี่ปุ่นให้เงินทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาพอร์ตวิลาใหม่ในวานูอาตู ด้วยเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.55 และระยะเวลากู้ยืม 40 ปี

“ดังนั้นเงินกู้ของจีนจึงให้การผ่อนปรนน้อยกว่าเงินกู้จากผู้ให้กู้อย่างเป็นทางการรายอื่น ๆ ที่มีอยู่” รายงานจากสถาบันโลวีระบุ

นอกจากนี้ จีนควรลดความตั้งใจในการให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดไว้แล้วว่ามีความเสี่ยงต่อความเดือดร้อนจากหนี้ นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า จีนควรปฏิบัติตามแบบจำลองความยั่งยืนที่สร้างขึ้นโดยธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อให้เงินกู้ยืมแก่หมู่เกาะเหล่านี้

รายงานระบุว่า “ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจตามปกติสำหรับการให้กู้ยืมเงินของจีนในระดับทวิภาคีในแปซิฟิก จะเกิดปัญหาความยั่งยืนของหนี้ที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button