ติดอันดับ

รัฐมนตรีอาเซียนเน้นย้ำความร่วมมือเพื่อลดภัยคุกคามทางไซเบอร์

การบุกโจมตีทางไซเบอร์ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกผลักดันให้ 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ให้แข็งแกร่งขึ้น มีการเน้นย้ำถึงประเด็นนี้ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 4 ว่าด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ได้จัดทำร่างเอกสารกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเทศสิงคโปร์และไทย

“ผู้โจมตีทางไซเบอร์มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้นกว่าที่เคย” นายเอส. อิสวาราน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสิงคโปร์ กล่าวในคำปราศรัยเปิดการประชุมแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ “พวกเขาไม่ได้มีเพียงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ยังหาทางขัดขวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญของเราด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องรักษาความปลอดภัยพื้นที่ที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงพื้นที่ภายนอกที่มีการโจมตีเพิ่มขึ้นและมิติทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ไอโอที [อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง] และเทคโนโลยี 5 จี”

การศึกษาด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ พ.ศ. 2561 โดย ซิสโกซิสเต็ม เปิดเผยว่า บริษัทต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิกตรวจพบการโจมตีทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ทุก ๆ 10 วินาที องค์กรสองร้อยแห่งที่มีส่วนร่วมในการศึกษาฉบับนี้รายงานว่า ความสูญเสียที่เกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ต่อปีมีมูลค่ารวมมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง นิตยสารซีไอโอรับทราบว่า การโจมตีครั้งล่าสุดในภูมิภาคนี้ประกอบด้วย การโจมตีช่องโหว่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ในประเทศไทยและเวียดนามเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562, การโจมตีช่องโหว่เซิร์ฟเวอร์ที่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า 900,000 รายของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินของฟิลิปปินส์อย่าง เซบูอาน่า ลูลลิเยอร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562, การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อเอชไอวี 14,200 รายในประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 และการเปิดเผยเอกสารประจำตัว 45,000 ฉบับของลูกค้าบริษัท ทรู คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความจำเป็นในการผสานความพยายามทั่วทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งมีคณะกรรมการประสานงานข้ามภาคส่วนชุดใหม่ โดยเน้นย้ำว่ากลไกแบบใหม่ควรแก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจุบันและเร่งด่วน รวมทั้ง “ไม่ซ้ำซ้อนกับงานที่หน่วยงานในภาคอาเซียนทำอยู่ก่อนแล้ว”

นอกจากนี้ นายอิสวารานยังประกาศเปิดตัวศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างอาเซียนกับสิงคโปร์ที่รอคอยกันมานาน พร้อมด้วยงบประมาณจำนวน 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 665 ล้านบาท) ที่ผูกมัดไว้ในห้าปี นายอิสวารานกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างอาเซียนกับศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย โดยมีความพยายามในการสร้างขีดความสามารถทั่วภูมิภาค

ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างอาเซียนกับสิงคโปร์จะเติมเต็มการทำงานสามประการหลัก” นายอิสวารานกล่าว “ประการแรก คือการดำเนินการวิจัยและจัดการฝึกอบรมในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทางไซเบอร์ ความขัดแย้งทางไซเบอร์ การออกกฎหมาย บรรทัดฐานทางไซเบอร์ และประเด็นด้านนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์อื่น ๆ ประการที่สองคือการจัดการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับทีมสำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีและภัยคุกคามทางไซเบอร์แบบโอเพ่นซอร์ส รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และประการที่สามคือการดำเนินการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมด้านการพิทักษ์ทางไซเบอร์เสมือน” ทีมสำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นการจัดจ้างโดยรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อจัดการกับเหตุการณ์ความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์ คณะกรรมการระดับทำงานที่ประกาศในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน จะมีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานความร่วมมือระหว่างทีมสำหรับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในอาเซียน ควบคู่ไปกับ “การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งควรกำหนดแนวทางในการรับและสืบสวนรายงานด้านการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อรับรองถึง “การรับมือตามการกระทำ” ซึ่ง “ว่องไวและมีประสิทธิภาพ” นายโกบินด์ ซิงห์ ดีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเลเซียกล่าว

นายอิสวารานกล่าวปิดการประชุมดังกล่าวโดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับความพยายามร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

“ผลประโยชน์ของเราร้อยรัดกันอย่างลึกซึ้ง และการทำงานร่วมกันเป็นทีมคือสิ่งจำเป็นและมีคุณค่า ทั้งในระดับประเทศ ระหว่างประเทศ และภายในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์” นายอิสวารานกล่าว

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button