มองภูมิภาคแผนก

มาเลเซีย: ปฏิรูปแรงงาน

มาเลเซียกำลังเคลื่อนไหวเพื่อกำจัดนายหน้าซึ่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสรรหาแรงงานจากแรงงานต่างชาตินับล้านรายในราคาที่สูงลิ่ว ทำให้แรงงานต่างชาติเหล่านั้นต้องแบกรับหนี้สินและเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ

ตั้งแต่โรงงานต่าง ๆ ไปจนถึงสถานที่ก่อสร้างและพื้นที่เพาะปลูก ประเทศมาเลเซียต้องอาศัยแรงงานต่างชาติจำนวนมากซึ่งคนในท้องถิ่นมักหลีกเลี่ยง

แรงงานหลายรายเดินทางมาถึงด้วยการกู้เงินก้อนโตเพื่อจ่ายให้กับนายหน้าจัดหางาน หมายความว่า พวกเขาต้องทำงานใช้หนี้ไปอีกหลายปีราวกับไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย ซึ่งนี่เป็นรูปแบบทาสยุคใหม่ในนามแรงงานขัดหนี้

มาเลเซียจึงทำข้อตกลงสรรหาแรงงานโดยตรงกับเนปาลโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า เพื่อแก้ปัญหานี้ ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเนปาลระงับการส่งแรงงานชั่วคราว เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานเหล่านั้น

“ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการเอาเปรียบแรงงาน” นายเอ็ม. คูลาเซการัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียกล่าว

“พวกเขาต้องไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานขัดหนี้ในประเทศนี้ และติดอยู่ในวังวนอันเลวร้ายของการได้ค่าแรงมาเพื่อใช้หนี้”

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 แรงงานชาวเนปาลจะได้รับการว่าจ้างตามหลักเกณฑ์ระหว่างรัฐบาล นายจ้างชาวมาเลเซียจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสรรหาทั้งหมด รวมทั้งค่าเดินทาง วีซ่า และค่าธรรมเนียมการตรวจสุขภาพ

นายคูลาเซการันกล่าวว่ามาเลเซียกำลังเจรจาข้อตกลงแบบเดียวกันกับบังคลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

จากตัวเลขของทางการแสดงให้เห็นว่า บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และเนปาล มีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนเกือบ 2 ล้านรายทำงานมากเป็นอันดับต้น ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งยังมีอีกหลายล้านรายที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต

บริษัทผลิตถุงมือที่ใหญ่ที่สุดในโลกนาม ท็อปโกลฟ ระบุเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ว่าจะตัดความสัมพันธ์กับนายหน้าจัดหางานที่ไร้จริยธรรม หลังจากพบว่าแรงงานข้ามชาติบางส่วนของบริษัททำงานล่วงเวลามากเกินไปเพื่อใช้หนี้

หลายปีแล้วที่นักรณรงค์ขอให้มาเลเซียกำจัดคนกลางที่เรียกเก็บเงินจากแรงงานข้ามชาติสูงถึง 20,000 ริงกิตมาเลเซีย (4,790 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 147,000 บาท) ซึ่งเป็นหนี้ที่พวกเขามักต้องทำงานหนักเป็นเวลาหลายปีเพื่อชดใช้

แรงงานขัดหนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบของการเป็นทาสสมัยใหม่ที่แพร่หลายมากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button