ติดอันดับ

มาตรการรับมือโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่น ๆ

ไข้เลือดออกแพร่ระบาดอย่างหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน พ.ศ. 2562 ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสุขภาพในภูมิภาค

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรสรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 670,000 ราย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากกว่า 1,800 รายจนถึงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ป่วยมากกว่าเป็นสองเท่าในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นถิ่นระบาดของโรค สำนักข่าวสมาคมรายงาน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงบุคลากรของกองทัพทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลกกำลังร่วมมือกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค โครงการและความร่วมมือด้านสุขภาพหลายฝ่ายกำลังดำเนินการนำแผนยุทธศาสตร์ แนวทาง และกิจกรรมการแก้ไขที่ดีขึ้นมาใช้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงการจัดการยุงพาหะนำโรคแบบผสมผสาน ทีมนักวิจัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และแนวทางชีวภาพอื่น ๆ ในการควบคุม

เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 รายและมีผู้ป่วยทั้งหมด 250,000 รายเนื่องจากไข้เลือดออกจนถึงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 สื่อต่าง ๆ รายงานว่า เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 มีการประกาศการระบาดของโรคไข้เลือดออกในระดับชาติ เพื่อระดมสาธารณูปการสำหรับการบรรเทาทุกข์

บังกลาเทศรายงานว่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 เพียงเดือนเดียว มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่า 50,000 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนทั้งหมดที่ประเทศเคยรายงานตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2561 เจ้าหน้าที่บังกลาเทศรายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 100,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 58 รายในช่วง 8 เดือนแรกของ พ.ศ. 2562 เว็บไซต์เอาต์เบรกนิวส์ทูเดย์รายงาน

“ตั้งแต่ที่เราเริ่มเก็บสถิติประวัติผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 นี่เป็นการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยพบในบังกลาเทศ” นายอาเยชา อักเตอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริการสุขภาพแห่งบังกลาเทศกล่าวกับซีเอ็นเอ็น

เวียดนามรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 124,000 ราย และเสียชีวิต 15 รายจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมากกว่าเป็นสามเท่าของช่วงเวลาเดียวกันใน พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกรายงาน ขณะเดียวกัน มาเลเซียรายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออก 85,000 รายและมีผู้เสียชีวิต 121 รายจนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา ตามการรายงานขององค์การอนามัยโลกในทำนองเดียวกัน สำนักระบาดวิทยาของประเทศไทยรายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่า 44,500 ราย และมีผู้เสียชีวิต 62 รายจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 5 ปี ตามรายงานของเว็บไซต์ไทยพีบีเอสเวิลด์

กัมพูชาฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มัลดีฟส์ เนปาล สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน ติมอร์-เลสเต รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก ตั้งแต่หมู่เกาะคุกไปจนถึงตูวาลูและวานูอาตู ก็มีการระบาดอย่างมากใน พ.ศ. 2562 เช่นกัน ตามรายงานของสำนักงานศัลยแพทย์ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

ไข้เลือดออกซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากการถูกยุงที่มีเชื้อดังกล่าวกัด มีสายพันธุ์ที่แตกต่างแต่เกี่ยวข้องกัน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีผลต่อทารก เด็ก และผู้ใหญ่ สำนักงานศัลยแพทย์ระบุว่าอาการอาจประกอบไปด้วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ตา กล้ามเนื้อและข้ออย่างรุนแรง อ่อนเพลียต่อเนื่อง มีผื่นและเลือดออก

รูปแบบที่รุนแรงของโรคนี้ ซึ่งได้แก่โรคไข้เลือดออกและภาวะช็อคจากโรคไข้เลือดออก คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกประมาณ 25,000 รายในแต่ละปี หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงาน องค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้โรคไข้เลือดออกจะไม่มีวิธีรักษาหรือไม่สามารถรักษาจนหายขาด แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 1 เนื่องจากมีการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ และการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของโรคไข้เลือดออกเมื่อไม่นานมานี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ยุงสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ของโลกได้กว้างมากขึ้น และเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเดินทางทางอากาศและการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนเช่นกัน

“ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญคือการรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ภาชนะบรรจุที่มนุษย์ทำขึ้นมามากมายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สำหรับยุงลาย และเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก” นายนูร์ ไฮชัม อับดุลเลาะห์ อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ว่าการทิ้งขยะมีส่วนทำให้เกิดปัญหา

รัฐบาลในภูมิภาคแห่งนี้รับมือกับการระบาดโดยใช้มาตรการตั้งแต่เพิ่มการเฝ้าระวัง ไปจนถึงการเพิ่มการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง (ภาพ: คนงานพ่นควันในพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากยุงในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562)

เริ่มมีการใช้ความพยายามร่วมมือแบบพหุนิยมและหลายวิธีการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อระงับการระบาดของโรคไข้เลือดออก เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ร่วมกับองค์การอนามัยโลก รวมทั้งพันธมิตรและนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ริเริ่มความพยายามในการระดมความร่วมมือด้านการให้ความรู้ การป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกจากการรณรงค์วันไข้เลือดออกแห่งอาเซียนประจำปีที่เริ่มขึ้นใน พ.ศ 2554 เพื่อจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปราบยุง นักวิจัยทั่วโลกดำเนินการพัฒนาวัคซีนมานานกว่า 80 ปี แต่วัคซีนไข้เลือดออกที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลยังคงเป็นไปได้ยาก

บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ของฝรั่งเศสได้พัฒนาวัคซีนบรรเทาอาการที่รู้จักกันในชื่อ เด็งวาเซีย ซึ่งได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ใน 19 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและส่วนที่เป็นถิ่นระบาดในยุโรป เช่น มาร์ตินีกและกวาเดอลูปในหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์สั่งห้ามใช้วัคซีนนี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 หลังจากมีเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 14 รายหลังจากที่มีผู้ได้รับวัคซีนนี้แล้ว 800,000 รายใน พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560

มีวัคซีนไข้เลือดออกอีกอย่างน้อย 7 ชนิดที่อยู่ในขั้นทดลองทางคลินิกมากมายทั่วโลก เช่น สถาบันวิจัยกองทัพบกวอลเตอร์รีดของสหรัฐฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์กองทัพบก กำลังทดสอบวัคซีนในหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกทั้งผู้ผลิตวัคซีนในอินเดียกำลังทดสอบวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่พัฒนาโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ

โครงการยุงโลกกำลังทดสอบแนวทางใหม่ในการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยการฉีดแบคทีเรียที่เรียกว่า โวลบาเกีย เข้าไปที่ยุง ซึ่งช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและโรคที่เกิดจากยุงอื่น ๆ มาสู่มนุษย์ได้อย่างมาก เช่น โรคไข้ซิกาและไข้เหลือง จากนั้นจะปล่อยยุงที่เป็นพาหะของโวลบาเกียเข้าสู่ป่าเพื่อขยายพันธุ์ ลูกของยุงเหล่านั้นมีโอกาสน้อยลงมากที่จะส่งต่อเชื้อไวรัสเข้าสู่มนุษย์

แนวทางดังกล่าวได้รับการทดสอบใน 9 ประเทศรวมถึงเวียดนาม ซึ่งลดอัตราการติดเชื้อลงร้อยละ 86 ในภูมิภาคที่มีการปล่อยยุงดังกล่าว เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรสรายงาน

“เราพบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงอย่างมาก” จากการทดลองนี้ นายเหวียน บิน เหวียน ผู้ประสานงานโครงการในเวียดนามกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรสเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562

มากกว่า 128 ประเทศรวมถึงจีนและสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคจากยุงที่แพร่กระจายมากที่สุดในโลก โดยมีการติดเชื้อไข้เลือดออกเฉลี่ยประมาณ 390 ล้านครั้งเกิดขึ้นในแต่ละปี และเกือบหนึ่งในสี่แสดงอาการทางการแพทย์ของโรคดังกล่าวบางรูปแบบ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาและเอเชีย ตามรายงานขององค์การวิจัยระหว่างประเทศว่าด้วยการประเมินความเสี่ยง การจัดการ และการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button