ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์อาจเพิ่มการอ้างสิทธิ์ในอธิปไตยด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว

เจ้าหน้าที่ฟอรัม

ฟิลิปปินส์อาจเพิ่มการอ้างสิทธิ์ในอธิปไตยในด่านชั้นนอกเชิงยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ โดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้จองโรงแรมที่นั่น

นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ว่ารัฐบาลกำลังสร้างรันเวย์ที่ทรุดโทรมขึ้นมาใหม่บนเกาะถิตูหรือที่เรียกว่าเกาะปาก-อซา

“อีกทั้งในอนาคต เราจะสร้างอาคารให้กับทหารของเราที่นั่น และอาจจะมีโรงแรมสำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการไปท่องเที่ยว” นายลอเรนซานากล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะฟิลิปปินส์สตาร์

เกาะถิตูเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลี ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกประมาณ 519 กิโลเมตร โดยห่างจากแนวปะการังซูบีเพียง 26 กิโลเมตร ที่จีนครอบครองและได้สร้างป้อมปราการอันประกอบด้วยอาคาร 400 หลัง เรดาร์ รันเวย์ โรงเก็บอากาศยาน และขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ ตามรายงานของรอยเตอร์ (ภาพ: นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ทำวันทยหัตถ์ขณะตรวจงานก่อสร้างรันเวย์บนเกาะถิตู
ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ามีคนอาศัยอยู่บนเกาะถิตูประมาณ 100 คนเท่านั้น ดังนั้นการให้นักท่องเที่ยวเข้าพักที่นั่นจะเป็นการเสริมสร้างการอ้างสิทธิ์ในอธิปไตยของฟิลิปปินส์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

“การท่องเที่ยวตามที่ผมเข้าใจคือรูปแบบที่สือถึงการเข้าครอบครองและเป็นถ้อยแถลงถึงอธิปไตย เพราะการท่องเที่ยวจะหมายความว่ามีกิจกรรมพลเรือนซึ่งเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายในดินแดนที่เรียกได้ว่ามีการแย่งชิงกันเหล่านี้” นายอลัน ชง รองศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมในสิงคโปร์กล่าว ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา “เป็นวิธีที่ทำให้แน่ใจว่าหมู่เกาะนี้จะมีการครอบครองอย่างถาวร”

บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน และเวียดนามมีข้อพิพาทกันในด้านอำนาจอธิปไตยทั้งบางส่วนและทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเห็นว่าการแสดงอำนาจเหนือแผ่นดินอย่างต่อเนื่องคือองค์กระกอบสำคัญในเรื่องอำนาจอธิปไตย นายฟาบริซิโอ บอสซาโต้ นักวิจัยแห่งสมาคมวิจัยยุทธศาสตร์ไต้หวันกล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกา

“ฟิลิปปินส์จะแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ในหลักกฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่าการควบคุมและการใช้งานจริงของเกาะนั้น เพื่อที่จะยืนยันว่าฟิลิปปินส์ไม่เพียงแต่อ้างสิทธิ์ในถิตูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหมู่เกาะทั้งเก้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ควบคุม”

พลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนเฝ้าระวังการก่อสร้างบนเกาะของรัฐบาลฟิลิปปินส์และมุ่งเป้าไปที่เกาะด้วยพฤติกรรมที่คุกคาม เรือจีนประมาณ 200 ลำซึ่งทางการฟิลิปปินส์ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีน ล้อมรอบเกาะดังกล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ก่อนที่จะมุ่งหน้ากลับสู่ทะเล

เจ้าหน้าที่กองทัพฟิลิปปินส์กล่าวว่าลูกเรือไม่ได้ปฏิบัติตัวเหมือนชาวประมง “นี่เป็นพลเรือนติดอาวุธทางทะเลที่ต้องสงสัย” น.อ. เจสัน ราโมน โฆษกกองบัญชาการตะวันตกของกองทัพฟิลิปปินส์กล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์“มีหลายครั้งที่พวกเขาแค่มาอยู่ตรงนั้นเฉย ๆ ไม่ได้ทำประมง”

เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้ฟิลิปปินส์ทำการประท้วงทางการทูตกับรัฐบาลจีน และดูเหมือนว่าความขัดแย้งนั้นจะยิ่งทำให้ฟิลิปปินส์แน่วแน่ในการยืนยันอำนาจอธิปไตยของตน

นอกจากการซ่อมแซมรันเวย์แล้ว รัฐบาลกำลังสร้างทางลาดชายหาดเพื่อขนย้ายวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์หนักไปยังเกาะ รอยเตอร์รายงาน นายเฮอร์มอนยีนส์ เอสเปอรอน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติกล่าวว่าแผนการดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีท่าเรือหลบภัยสำหรับเรือประมงขนาดใหญ่ เรือลาดตระเวนรักษาชายฝั่ง และเรือของกองทัพเรืออีกด้วย

“เราไม่ได้ทอดทิ้งเกาะใด ๆ” นายเอสเปอรอนกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ “ไม่มีเกาะใดถูกช่วงชิงไปจากเราตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และเรากำลังเสริมสร้างจุดยืนและการครอบครองของเราให้เข้มแข็ง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button