ติดอันดับ

ผู้หญิงมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในกองทัพญี่ปุ่น

แพตตี เรนดา

ผู้หญิงกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ทั้งในฐานะนักบินเครื่องบินขับไล่ นักขับรถถัง และผู้บัญชาการกรมทหาร หลังจากที่มีการยกเลิกข้อจำกัดทางเพศ และความเปลี่ยนแปลงทางประชากรส่งผลให้การสรรหาบุคลาการมีความท้าทายเพิ่มขึ้น

นางมิสะ มัตสึชิมะ ผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของทอม ครูซ เรื่อง ท็อปกันได้สำเร็จการฝึกอบรมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 และกลายเป็นนักบินหญิงเครื่องบินขับไล่ในกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศคนแรกของญี่ปุ่น นางมัตสึชิมะหวังว่าตนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ในการทำตามความฝันที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสอย่างในตอนนี้ที่มีการคาดการณ์ว่าจำนวนสมาชิกหญิงของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน พ.ศ. 2573

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้ยกเลิกข้อจำกัดทางเพศสำหรับนักบินเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินลาดตระเวนเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้นางมัตสึชิมะ (ภาพ) และผู้หญิงคนอื่น ๆ สามารถเข้ารับราชการในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น

ในกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น มีผู้หญิงหนึ่งคนเป็นผู้นำผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวน 700 นายในฐานะผู้บัญชาการกรมทหารฝ่ายการส่งกำลังบำรุง นอกจากนี้ ตอนนี้กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นยังมีผู้หญิงในบทบาทของนักบินเฮลิคอปเตอร์และนักขับรถถัง เสนาธิการทหารของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลและบริหารปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีตำแหน่งที่สำคัญเปิดรับผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่นและคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อเข้ารับราชการในกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามในการสรรหาบุคลากรได้ประสบกับความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายทางประชากรที่เกิดจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นและอัตราการเกิดลดลง

“แหล่งทรัพยากรสำหรับการสรรหาบุคลาการกำลังลดน้อยลง” นายฮิเดชิ โทคุชิ อดีตรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวต่อ ฟอรัม“กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะไม่สามารถรักษาจำนวนบุคลาการที่จำเป็นในระดับที่เพียงพอ นอกเสียจากว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามารับบทบาทที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น”

เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกองทัพ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้จัดตั้งโครงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรหญิงใน พ.ศ. 2560 เพื่อ “เพิ่มสัดส่วนบุคลากรหญิงในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเป็นสองเท่า” ตามข้อมูลจากเอกสารของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น

“กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเป็นภาคส่วนย่อของสังคมญี่ปุ่น” นายโทคุชิกล่าว “ความเป็นไปในสังคมญี่ปุ่นโดยรวมจะสะท้อนมายังกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ”

ด้วยโครงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรหญิงนี้ กระทรวงกลาโหมมุ่งที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรหญิงให้ทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้วทางด้านอุตสาหกรรม สำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 “โดยการทบทวนอย่างละเอียดและยกเลิกข้อจำกัดด้านการมีส่วนร่วมของผู้หญิง”

นายเจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของญี่ปุ่นแห่งแรนด์ คอร์ปอเรชัน ระบุว่าความท้าทายด้านประชากรของญี่ปุ่นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจีนเป็นที่มาของโครงการเหล่านี้ ญี่ปุ่นต้อง “พึ่งพิงผู้หญิงมากขึ้น” นายฮอร์นังกล่าวต่อ ฟอรัมโดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ยุทโธปกรณ์ไร้คนขับทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน” จะเพิ่มความสำคัญขึ้นเช่นกัน ในการได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าจากผู้หญิงที่มีความมุ่งมั่นและมีคุณสมบัติครบถ้วน กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกข้อจำกัดทางเพศ นายฮอร์นังอธิบาย

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนของบุคลากรหญิงในกองกำลังป้องกันตนเองจากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 9 ภายใน พ.ศ. 2573 ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโด แม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางข้อที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เนื่องด้วยข้อจำกัดทางอุปกรณ์และกฎหมายแรงงาน หน่วยขุดอุโมงค์ยังคงไม่เปิดรับบุคลากรหญิง นอกจากนี้ ผู้หญิงยังถูกกีดกันจากการรับราชการในหน่วยที่ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม การผลักดันไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศมากยิ่งขึ้นในสถานที่ทำงานด้านกลาโหมของญี่ปุ่นยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเป็นที่ต้อนรับ นายโทคุชิกล่าวสรุป

“มีความเคารพในความหลากหลายมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีความยากลำบากเพิ่มขึ้นตามลำดับ” นายโทคุชิกล่าว “ในเวลานี้ มุมมอง ความคิด และโครงการที่มีความแตกต่างล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

นางแพตตี เรนดา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button