Uncategorized

ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกกล่าวว่า ความสัมพันธ์กับศรีลังกาสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ฟอรัม

ศรีลังกาซึ่งมีสถานที่ตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียได้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุนที่สำคัญยิ่งต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก พล.ร.อ. แฮร์รี่ บี แฮร์ริส จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ความสัมพันธ์ทางทหารที่แผ่ขยายกับศรีลังกาซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียใต้มีส่วนช่วยในด้านเครือข่ายความมั่นคงที่ทำให้มั่นใจว่า ทุกประเทศไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กจะสามารถเข้าถึงอาณาเขตร่วมกันต่าง ๆ ทั้งทางน้ำ อากาศ อวกาศและไซเบอร์โดยเท่าเทียมกัน

“เพื่อก้าวต่อไปบนเส้นทางซึ่งเจริญรุ่งโรจน์นี้ เราต้องแผ่ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เดียวกันในการสนับสนุนระบบการดำเนินการตามกฎระเบียบทั่วโลก” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าวในระหว่างงานกอลล์ ไดอะล็อก 2016 ที่ศรีลังกา ซึ่งเป็นการประชุมทางทะเลนานาชาติที่เป็นการริเริ่มโดยกองทัพเรือศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ. 2553

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า ศรีลังกาเป็น “ศูนย์กลางที่ดีที่สุด” ของมหาสมุทรอินเดีย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีดังกล่าว ศรีลังกาได้เสร็จสิ้นภารกิจการฝึกร่วมกับนาวิกโยธินสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้สำหรับนาวิกโยธินศรีลังกาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ (ภาพ: นาวิกโยธินศรีลังกาและสหรัฐฯ ยืดเส้นยืดสายหลังจากทำการฝึกทางกายภาพในระหว่างการฝึกความร่วมมือด้านความมั่นคงของยุทธบริเวณในเมืองตรินโคมาลี ประเทศศรีลังกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559)

“การฝึกร่วมกันเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการให้คำมั่นของเราต่อศรีลังกาและภูมิภาคนี้” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน

การฝึกที่ครอบคลุมดังกล่าวจะให้ประโยชน์กับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความมั่นคง พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว โดยศรีลังกามีส่วนได้ส่วนเสียโดยชอบธรรมในปัญหาต่าง ๆ ของภูมิภาคซึ่งรวมถึงการปล้นสะดมทางทะเล การก่อการร้ายและการค้ามนุษย์ เช่นเดียวกับประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐฯ

“ผมกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว จากการรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “นอกจากนั้น เรายังต้องเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และสร้างความมั่นใจถึงการเดินเรือที่ไม่มีภาระผูกพันและปลอดภัยในเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญของภูมิภาค”

ในระหว่างการแสดงความคิดเห็นในศรีลังกา พล.ร.อ. แฮร์ริสยังได้ย้ำถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างกันซึ่งเขาได้เคยพูดถึงนับแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2558 โดยเรียกภูมิภาคดังกล่าวว่าอินโดเอเชียแปซิฟิกอยู่เสมอ แทนที่จะเรียกว่าเอเชียแปซิฟิก

“อินโดเอเชียแปซิฟิกย้ำถึงความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องมากกว่าว่า มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกคือเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โอเชียเนีย และสหรัฐอเมริกาเข้าไว้ด้วยกัน” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงาน “มหาสมุทรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอุปสรรคทางกายภาพและจิตวิทยาซึ่งทำให้เราแยกจากกัน ในตอนนี้คือทางด่วนทางทะเลที่รวมเราเข้าไว้ด้วยกัน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button