ติดอันดับ

ปาเลาและประเทศพันธมิตร ทำงานร่วมกันเพื่อเก็บกู้ระเบิดตกค้างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะล่วงเลยมามากกว่า 70 ปีแล้ว แต่ปาเลา ซึ่งเป็นประเทศเกาะในแปซิฟิก ยังคงดำเนินการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ตกค้างจากความขัดแย้งในอดีต

ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะซึ่งปัจจุบันคือปาเลาจากเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สมรภูมิเปเลลิว ซึ่งสู้รบกันในปาเลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่า 10,000 คนและชาวอเมริกันเสียชีวิต 2,000 คน

โดยกระบวนการเก็บกู้วัตถุตกค้างจากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าเก็บกู้ระเบิดตอร์ปิโดญี่ปุ่น 2 ลูกจากพื้นมหาสมุทรใกล้ปาเลาได้สำเร็จ ความร่วมมือระหว่างประเทศส่งผลให้เกิดการทำงานเพื่อเก็บกู้วัตถุตกค้างที่ยังไม่ระเบิดทั้งในและโดยรอบเกาะ โครงการทำลายอาวุธแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมโกลเดนเวสต์ รัฐบาลปาเลา องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ และหน่วยงานปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดแห่งญี่ปุ่น ในการเก็บกู้ระเบิดตอร์ปิโด 2 ลูกดังกล่าว

ขณะที่อาวุธและระเบิดจากการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการเก็บกู้จากพื้นที่อื่น ๆ ในแปซิฟิกแล้ว แต่ลักษณะภูมิประเทศของปาเลาทำให้การเก็บกู้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ปาเลามีประชากรประมาณ 22,000 คนโดยกระจายไปตามหมู่เกาะ 500 แห่ง ระเบิดตอร์ปิโดเก่าเหล่านี้สร้างความอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชาวปาเลาและผู้ที่ทำการประมงในน่านน้ำของปาเลา รวมถึงนักท่องเที่ยวซึ่งหลาย ๆ คนมาที่นี่เพื่อสำรวจสมรภูมิรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือดำน้ำชมซากปรักหักพังจากสงคราม

การเก็บกู้ล่าสุดซึ่งเป็นระเบิดตอร์ปิโดประเภท 91 ของญี่ปุ่นจำนวน 2 ลูก มุ่งเน้นที่สถานที่ยอดนิยมสำหรับนักดำน้ำลึก ที่แห่งนี้เรียกกันว่า เฮลเมตเร็ก ซึ่งอ้างอิงถึงเรือในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พบเมื่อต้นทศวรรษ 2533

“การกักกันครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากการสู้รบระหว่างกองกำลังของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในพ.ศ. 2487 ยังคงเป็นภัยคุกคามประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะเปเลลิว” นายเจอร์รี กิลเบิร์ต เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับ ฟอรัม“ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนถึง พ.ศ. 2561 สหรัฐฯ ทุ่มทุนไปมากกว่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 106 ล้านบาท) เพื่อการทำลายอาวุธแบบดั้งเดิมในปาเลา”

นายกิลเบิร์ตเป็นผู้อำนวยการรักษาการของสำนักงานปฏิบัติการกำจัดและลดปริมาณอาวุธ สำนักงานกิจการการเมืองและการทหารของกระทรวงการต่างประเทศ

“องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์รายงานว่า “หน่วยงานปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดแห่งญี่ปุ่นจะดำเนินการเก็บกู้ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่อไป ส่วนทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดตกค้างและวัตถุที่ยังไม่ระเบิดของเราจะเดินหน้าทำลายวัตถุอันตรายเหล่านี้ด้วยวิธีที่ปลอดภัยที่สุด”

อาวุธตั้งแต่ระเบิดตอร์ปิโดขนาดใหญ่ไปจนถึงระเบิดมือ จะได้รับการเก็บกู้อย่างระมัดระวังโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษ จากนั้นจึงเผาทำลายในสภาพที่มีการควบคุม

“แม้การปนเปื้อนจากวัตถุที่ยังไม่ระเบิดส่วนมากในปาเลามีสาเหตุมาจากสมรภูมิเปเลลิว แต่ปฏิบัติการทางทหารและเหตุการณ์อื่น ๆ ขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนในปัญหาการปนเปื้อนจากวัตถุที่ยังไม่ระเบิดนี้เช่นกัน” นายกิลเบิร์ตระบุ

แม้วัตถุที่ยังไม่ระเบิดจำนวนมากจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ระเบิดตอร์ปิโดและระเบิดอื่น ๆ ที่อยู่ในน้ำ อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อการขนส่งทางทะเล (ภาพ: นักดำน้ำสำรวจซากปรักหักพังของเครื่องบินน้ำญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกชายฝั่งปาเลา)

ยังคงมีผู้รับเคราะห์จากวัตถุระเบิดตกค้างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และความขัดแย้งอื่น ๆ ทั่วโลก ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผู้รับเคราะห์จากวัตถุที่ยังไม่ระเบิด อาวุธระเบิด และวัตถุตกค้างอื่น ๆ จากสงคราม เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัวทั่วโลก อ้างอิงจากองค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ งานวิจัยเมื่อพ.ศ. 2560 ในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซตพบว่าอาวุธที่ตกค้างคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 6,500 คนในแต่ละปี

โจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัมในกรุงลอนดอน และเพิ่งเดินทางกลับจากการรายงานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button