เรื่องเด่น

บทเรียนจาก มาราวี

พล.ท. ดานิโล จี. พาโมนัก ผู้เกษียณอายุแล้ว แบ่งปันสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมทางทหารที่ใหญ่ที่สุด ของฟิลิปปินส์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในระหว่างการต่อสู้ในช่วงการล้อมโจมตีเมืองมาราวี นักรบญิฮาดได้จับกุมพลเรือนกว่า 1,770 คนเป็นตัวประกันเพื่อควบคุมเมืองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์แห่งนี้บนเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่อันดับสองของประเทศ บางคนถูกสังหารทันที บางคนถูกใช้เป็นโล่มนุษย์ นักรบญิฮาดให้ตัวประกันที่เหลือทำงานผลิตวัตถุระเบิด ขุดอุโมงค์ และเฝ้าเสบียง

พล.ท. ดานิโล จี. พาโมนัก เกษียณเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 กองทัพฟิลิปปินส์

การบุกโจมตีวงล้อมนักรบชาวมุสลิมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้นในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 หลังจากความพยายามที่ล้มเหลวของกองกำลังรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการจับกุมตัวนายอิสนิลอน ฮาปิลอน ผู้นำของกลุ่มอะบูซัยยาฟ ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบหัวรุนแรงที่มีฐานที่มั่นอยู่ในฟิลิปปินส์ รัฐอิสลามอิรักและซีเรีย หรือ ไอซิส ได้เลือกนายฮาปิลอนเป็นผู้นำหรือผู้บัญชาการทหารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออย่างน้อยคือเป็นผู้นำของภูมิภาคที่ครอบคลุมฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งผู้ก่อการร้ายกลุ่มดังกล่าวให้ฉายาว่าเป็นรัฐอิสลามแห่งเอเชียตะวันออก

กลุ่มมาอูเต ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกบฏฟิลิปปินส์ที่มีฐานกำลังอยู่ในจังหวัดลาเนาเดลซูร์ ได้ประกาศความจงรักภักดีต่อไอซิสเมื่อสองปีก่อนหน้านี้และต่อนายฮาปิลอน เพื่อช่วยเหลือในการก่อตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลักฐานจากวิดีโอได้เปิดเผยในภายหลังว่า ผู้นำของกลุ่มมาอูเต ได้แก่ นายโอมาร์ มาอูเต และนายอับดุลเลาะห์ มาอูเต ผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มอะบูซัยยาฟ ร่วมกับกลุ่มกบฏฟิลิปปินส์และต่างชาติอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับไอซิส ได้วางแผนยึดเมืองมาราวีซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของจังหวัดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาวุธและเสบียงถูกเก็บซ่อนไว้ทั่วเมือง

กองกำลังกบฏร่วมได้เข้าโจมตีในวันที่นายฮาปิลอนหลบหนีการจับกุมในเดือนพฤษภาคมและชักธงไอซิสในเมืองมาราวี กองกำลังกบฏร่วมได้เผาอาคาร ทำลายโบสถ์ และขับไล่ประชาชนในเมืองมากกว่า 200,000 คนออกจากที่อยู่อาศัย ตามรายงานตัวเลขของรัฐบาล

พล.ท. ดานิโล จี. พาโมนัก สังกัดกองทัพฟิลิปปินส์ กองบัญชาการ ลูซอนใต้ ตระหนักว่าต้องช่วยเหลือตัวประกันชาวมาราวีจากกลุ่มหัวรุนแรงหากต้องการยึดเมืองคืน ก่อนหน้านี้ พล.ท. พาโมนัก ได้ช่วยตัวประกันในมินดาเนา ในระหว่างการล้อมโจมตีเมืองซัมโบอังกาซิตี เมื่อครั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการภาคพื้นดินของกองทัพฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก ภายใต้การนำของ พล.ท. พาโมนัก ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ได้เข้าช่วยเหลือตัวประกัน 195 คนจาก 197 คนจากแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร โดยใช้เวลาไม่ถึงสามสัปดาห์ในการยุติวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 100,000 คนต้องลี้ภัยและมีพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต “นั่นถือเป็นชัยชนะที่สมบูรณ์” พล.ท. พาโมนักกล่าว

อย่างไรก็ตาม การล้อมโจมตีเมืองมาราวีแตกต่างกัน เพราะถือ เป็นครั้งที่สองของ พล.ท. พาโมนัก ในฐานะผู้บัญชาการภาคพื้นดิน แม้ว่านายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ จะประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วมินดาเนาตั้งแต่วันที่มีการล้อมโจมตี แต่การต่อสู้ยังคงอยู่เป็นเดือน ๆ

“การปรากฏตัวและการเป็นพันธมิตรของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ กับผู้ก่อการร้ายในประเทศของเราเองทำให้การต่อสู้ของเรายากขึ้น” เมื่อเปรียบเทียบการต่อสู้ของเราในช่วงวิกฤตซัมโบอังกาใน พ.ศ. 2556 เทคนิคและยุทธวิธีของศัตรูในช่วงการล้อมโจมตีเมืองมาราวีได้รับการพัฒนามากขึ้น” พล.ท. พาโมนักกล่าวกับ ฟอรัม

เขาจะเป็นผู้นำการสู้รบในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ยุทธการแห่งกรุงมะนิลาในสงครามโลกครั้งที่ 2 (พล.ท. พาโมนัก ยังเคยเป็นผู้นำการสู้รบในเมืองที่ใหญ่รองลงมาที่ซัมโบอังกา)

ยุทธวิธีของศัตรู

กลุ่มติดอาวุธเลือกเมืองมาราวีด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ ความไร้กฎหมายคือบรรทัดฐานในเมืองนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ และมีการสังเกตมานานแล้วว่ามีประเพณีให้เอกสิทธิ์แก่ชาวมุสลิมและประเพณีการต่อต้านอิทธิพลภายนอก มาราวี เป็นเมืองอิสลามเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ประกาศตน ซึ่งในขณะที่ยึดเมืองมีชาวมุสลิมอยู่มากกว่าร้อยละ 99 ประชากรทั้งหมดของฟิลิปปินส์นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 11 และชาวมินดาเนานับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 23 เป็นเวลากว่า 40 ปีที่กลุ่มมุสลิมทั่วมินดาเนาแสวงหาเอกราชจากฟิลิปปินส์ โดยมักจะใช้วิธีการที่รุนแรง การวิเคราะห์ของกลุ่มวิกฤตการณ์นานาชาติซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระบุว่า เนื่องด้วยการหยุดชะงักการดำเนินการในข้อตกลงสันติภาพล่าสุดที่ลงนามใน พ.ศ. 2557 เพื่อสร้างภูมิภาคปกครองตนเองใหม่ในมินดาเนาที่รู้จักกันในนามบังซาโมโร กลุ่มกบฏจึงหวังที่จะฉวยโอกาสจากความคับข้องใจของชาวมุสลิมที่นั่น
นอกจากจะจับตัวประกันในมาราวีแล้ว กลุ่มนักรบญิฮาดยังใช้ยุทธวิธี เทคนิค และการปฏิบัติที่ซับซ้อนกว่าที่ทหารกองทัพฟิลิปปินส์เคยเผชิญหน้ามาก่อน กลุ่มกบฏหลายกลุ่มครอบครองปืนไรเฟิลซุ่มยิงที่มีอานุภาพและกล้องติดปืนเพื่อชะลอการบุกของกองทหาร กลุ่มกบฏฝังระเบิดแสวงเครื่องจำนวนมากในอาคารและตามเส้นทางที่เป็นไปได้ว่าทหารของรัฐบาลจะผ่าน กลุ่มกบฏใช้โดรนมัลติโรเตอร์ลาดตระเวนเพื่อกำจัดกองทหาร รวมถึงใช้แว่นนิรภัยป้องกันแรงกระแทกและกล้องตรวจการณ์ยามกลางคืน ทั้งยังใช้แม้กระทั่งอุปกรณ์ช่วยลอยตัวเพื่อว่ายน้ำข้ามทะเลสาบลาเนา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่อันดับสองของประเทศในฝั่งที่เมืองนั้นตั้งอยู่ด้วย

กลุ่มติดอาวุธแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความรู้เรื่องสงครามกลางเมือง พล.ท. พาโมนักกล่าว ในการเปลี่ยนทำเล กลุ่มติดอาวุธใช้การพังกำแพงอาคาร กลุ่มกบฏรู้จักการใช้ชั้นใต้ดินและอุโมงค์ใต้ดินที่เชื่อมโยงกัน เพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังเผาอาคารเพื่อให้กองกำลังทหารแตกกลุ่ม และขัดขวางการสังเกตการณ์ในระหว่างที่ตนเคลื่อนไหวและถอนกำลัง กลุ่มกบฏใช้สารเสพติดเพื่อให้ร่างกายทรหด พวกเขาใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรับการสนับสนุนจากประชาชน

นาวิกโยธินฟิลิปปินส์ยืนเตรียมพร้อมอยู่ในมาราวีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560 หลายวันหลังจากที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ประกาศว่าเมืองนี้ปราศจาก “อิทธิพลของผู้ก่อการร้าย” รอยเตอร์

กลุ่มติดอาวุธที่โดนล้างสมองจนสิ้นจะใช้ความโหดร้ายในการทำญิฮาดยิ่งกว่ากลุ่มกบฏก่อนหน้านี้ที่กองทัพฟิลิปปินส์เคยปะทะ “กลุ่มกบฏพวกนี้ป่าเถื่อนและโหดเหี้ยมมากกว่าอีกด้วย เพราะการกระทำของคนเหล่านี้ไร้ซึ่งมนุษยธรรมและความเมตตาปราณี คนเหล่านี้เผาและตัดศีรษะทหารที่ตายแล้วของเรา ข่มขืนหญิงตัวประกัน และสังหารตัวประกันที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งไม่ผ่านการพิสูจน์ความเชื่อทางศาสนาของตน” พล.ท. พาโมนักกล่าว

การตอบโต้ในเมือง

อย่างไรก็ตาม พล.ท. พาโมนัก จะหาวิธีในการชิงไหวชิงพริบและวางแผนให้เหนือกว่ากลุ่มติดอาวุธ “เราสร้างนวัตกรรมขึ้นมามากมาย นั่นคืออาวุธลับของผม เราไม่เคยมีอาวุธที่ซับซ้อน แต่เราก็เฉลียวฉลาดอยู่มาก”
เช่น ทหารของ พล.ท. พาโมนักใช้โดรนเพื่อระบุตำแหน่งตัวประกันกลุ่มสำคัญ ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ติดโทรศัพท์มือถือไว้กับโดรนพร้อมคำแนะนำในการใช้โทรศัพท์และมีดเพื่อตัดสาย โทรศัพท์มือถือมีการตั้งโปรแกรมไว้หนึ่งหมายเลข ตัวประกันโทรมาที่หมายเลขดังกล่าวในบ่ายวันนั้น ภายในตอนเที่ยงคืน ทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ช่วยเหลือตัวประกันได้ 18 คน

“นั่นเป็นการทำแต้มสำคัญของฝั่งเรา เรามองเห็นภาพรวมของสนามรบได้ชัดเจนขึ้น พื้นที่ที่กลุ่มกบฏซ่อนตัว ใครเป็นผู้นำ คนพวกนี้เป็นใคร ซ่อนตัวอยู่ที่ใด ทำสิ่งใดในระหว่างวัน” พล.ท. พาโมนักกล่าว จนกว่าจะถึงจุดนั้น กองทัพฟิลิปปินส์ปฏิบัติการด้วยข้อมูลที่จำกัด

การต่อสู้ในสภาพแวดล้อมในเมืองยังเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ สำหรับทหารกองทัพฟิลิปปินส์

“การต่อสู้ในเขตสิ่งปลูกสร้างมีความซับซ้อนและท้าทายมากกว่าการต่อสู้ทั่วไป” กองกำลังความมั่นคงของฟิลิปปินส์ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติการในป่าเป็นหลัก “การต่อสู้กับศัตรูในสภาพแวดล้อมเมืองและมีคนอาศัยอยู่ ต้องมีวิธีคิด แนวคิด แนวทาง และแบบแผนที่ต่างออกไป” พล.ท. พาโมนักกล่าว

เช่น ในมาราวี ไม่สามารถใช้ปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 105 มม. เนื่องจากเป็นอาวุธยิงแบบอ้อม “ปืนใหญ่วิถีโค้งไม่มีประโยชน์ เพราะเราต่อสู้ในจุดที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 เมตร เราสู้กันในระยะอาคารต่ออาคาร” พล.ท. พาโมนักกล่าว

สองปีหลังจากที่เมืองมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ ถูกครอบงำโดยนักรบญิฮาดแนวร่วมรัฐอิสลาม เมืองส่วนใหญ่ยังคงเป็นซากปรักหักพัง เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส/เก็ตตี้อิมเมจ

ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกของเส้นบะหมี่ราเม็งเพื่อดัดแปลงอาวุธเป็นอาวุธยิงตรง “เรามีหน่วยที่มีประสบการณ์ต่อสู้ในเมือง ส่วนผู้ที่ไม่เคยฝึกต่อสู้ในเมืองได้รับการฝึกฝนครั้งแรกเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในพื้นที่การต่อสู้หลัก แต่ไม่สามารถส่งกำลังจากหน่วยดังกล่าวไปโดยตรงเพราะบุคลากรขาดความรู้ตั้งแต่แรก นั่นคือวิธีการของเรา” พล.ท. พาโมนักกล่าว “เราต้องเร่งรัดนำเทคนิคและขั้นตอนใหม่ ๆ
มาใช้ในการต่อสู้ในเขตสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวทางและวิธีการต่อสู้เมื่อศัตรูอยู่ในสนามรบอยู่ก่อนแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา”

รถหุ้มเกราะก็ไม่มีประโยชน์เนื่องจากสภาพถนน กองทัพฟิลิปปินส์สร้างทางลาดสำหรับเคลื่อนรถหุ้มเกราะขึ้นสู่ชั้นสองของอาคารเพื่อยิงจากจุดได้เปรียบที่สูงกว่า

“ชัยชนะมักไม่ได้มาจากความซับซ้อนของอาวุธ” อาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่ผมมีในตอนนั้นคือนวัตกรรม ความเฉลียวฉลาด ความคิดริเริ่ม และความสามารถในการปรับตัวของทหารของผมเพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ เราต้องสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ เพื่อความหลักแหลมและปราดเปรียวมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้คาดเดาไม่ได้และสามารถปรับตัวเข้ากับความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไป” พล.ท. พาโมนักกล่าว

ทหารที่อุทิศตน

ความป่าเถื่อนของกลุ่มติดอาวุธในสังกัดไอซิส เผชิญกับความมุ่งมั่นและความใจกล้าของทหารกองทัพฟิลิปปินส์ “อีกหนึ่งกุญแจสู่ความสำเร็จคือ ‘ความใจกล้า’ ของเหล่าทหาร ผู้แน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดและต่อสู้เพื่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ จากทหารที่ได้รับบาดเจ็บ 2,000 นาย มีถึงร้อยละ 70 ที่กลับไปยังพื้นที่ต่อสู้หลักและร่วมรบอีกครั้ง” พล.ท. พาโมนักกล่าว

ความแน่วแน่ของทหารกองทัพฟิลิปปินส์นั้นมีความชัดเจน “ผมสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ทุกครั้งที่ผมไปโรงพยาบาล ผมจะถามว่า ‘คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง’ ผมคุยกับเหล่าทหารหลายครั้ง พวกเขาต้องการจะกลับไป ทหารบางนายกระทั่งหายไปโดยไม่บอกกล่าว และหนีออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปต่อสู้ในสนามรบ”

การปรากฏตัวของนายดูแตร์เตยังสร้างความแตกต่างด้วยเช่นกัน “เรามีประธานาธิบดีที่มาเยี่ยมภายในพื้นที่รบ การปกป้องเขาภายในพื้นที่รบหลักเป็นเรื่องเลวร้ายมาก ไม่เพียงแต่จะพูดคุยกับทหารเหล่านั้น แต่ประธานาธิบดีดูแตร์เตยังอยากยิงปืนด้วย” พล.ท. พาโมนักกล่าว ในประเทศส่วนใหญ่ “คุณจะไม่ได้เห็นประธานาธิบดีสวมหมวกเหล็กทหารอยู่ภายในพื้นที่ต่อสู้ นั่นสร้างขวัญกำลังใจให้เรา”

จุดเปลี่ยน

การช่วยเหลือตัวประกันกลุ่มแรกได้พิสูจน์แล้วถึงจุดเปลี่ยนในการสู้รบ” พล.ท. พาโมนักกล่าว “ผมรู้สึกได้ว่าชัยชนะอยู่ในกำมือ เมื่อผมเริ่มช่วยเหลือตัวประกัน เพราะในสองเดือนแรกเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายในพื้นที่การต่อสู้หลัก”
พล.ท. พาโมนัก กล่าวว่าประสบการณ์นี้เหมือนกับในซัมโบอังกา เมื่อตัวประกันได้รับการปล่อยตัว พล.ท. พาโมนัก รู้ว่าตนต้องได้รับชัยชนะ “ในระหว่างการล้อมโจมตีเมืองมาราวีก็เช่นเดียวกัน หลังจากผ่านไปสองเดือน ผมรู้ได้ในตอนนั้นว่าจะต้องได้ชัยชนะ”

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือตัวประกันไม่ง่ายนัก “เราทำระเบียงสันติเพื่อให้ตัวประกันออกจากพื้นที่รบ เราทำเช่นนั้นสามครั้ง แต่พบว่าตัวประกันส่วนใหญ่ที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นชาวมุสลิม” กลุ่มกบฏกักตัวตัวประกันชาวคริสต์และปล่อยตัวชาวมุสลิมในช่วงสงบศึกระยะสั้นเหล่านี้ นี่เป็นการตอกย้ำอำนาจทางศาสนาของตนเหนือประชากรพลเรือน พล.ท. พาโมนักอธิบายว่า พวกกบฏมักจะสังหารตัวประกันที่ไม่ผ่านบททดสอบทางศาสนาของตนทันที เช่น ให้ท่องคัมภีร์อิสลามหรือบทสวดมนต์

ทหารกองทัพฟิลิปปินส์เดินบนดาดฟ้าของมัสยิดใหญ่ในเมืองมาราวี จังหวัดลาเนาเดลซูร์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 รอยเตอร์

ปฏิบัติการทางทหารยืดเยื้อออกไปเนื่องจากผู้นำกองทัพฟิลิปปินส์มุ่งมั่นที่จะลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของทหารและพลเรือนที่ติดอยู่ในเขตการรบหลัก และความเสียหายต่อทรัพย์สิน “มีมัสยิด 35 แห่งในมาราวี แต่ไม่มีมัสยิดใดเลยที่ถูกพวกเราวางระเบิด” พล.ท. พาโมนักกล่าว

ก่อนสิ้นสุดความขัดแย้ง ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ช่วยพลเรือน 1,777 คนออกจากเขตการรบดังกล่าว พล.ท. พาโมนักกล่าว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560 หลังการต่อสู้นานเกือบห้าเดือน ประธานาธิบดีดูแตร์เตประกาศว่าเมืองมาราวีปราศจากอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายแล้ว วันก่อนหน้านั้น ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ได้สังหารผู้บัญชาการคนสำคัญนั่นคือ นายฮาปิลอนและนายโอมาร์ มาอูเต แม้ว่าผู้นำไอซิสและมาอูเตถูกกำจัดแล้ว แต่ยังคงมีการปะทะกันประปรายอยู่บางส่วนอีกเกือบสัปดาห์

มาราวีถูกยึดคืนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560 หลังจากการบุกโจมตีครั้งแรกเมื่อทหารกองทัพฟิลิปปินส์ได้ทำลายธงไอซิสสีดำ และนายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศสิ้นสุดการต่อสู้ ผู้นำกบฏทั้งหมดถูกสังหาร ยกเว้นคู่สามีภรรยาที่หลบหนีไปในช่วงแรกของความขัดแย้ง

“พวกเขาหลบหนีออกไปได้เพราะตอนแรกเรามีคนไม่เพียงพอ” พล.ท. พาโมนักกล่าว ในบรรดาผู้ที่หลบหนีไปได้มีนายอาบู ดาร์ ผู้นำกลุ่มสนับสนุนไอซิสอีกกลุ่มหนึ่งที่จะสืบทอดตำแหน่งของนายฮาปิลอน ในฐานะประมุขของไอซิสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต่อมาถูกสังหารในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นอกเหนือจากการอพยพตัวประกันส่วนใหญ่แล้ว กองทัพฟิลิปปินส์ยังประสบความสำเร็จในการควบคุมความขัดแย้งในมาราวีและป้องกันไม่ให้ลุกลามไปพื้นที่อื่น ๆ กองทัพฟิลิปปินส์ยังยับยั้งไม่ให้กลุ่มกบฏกลุ่มอื่นเข้าร่วมหรือเสริมทัพกลุ่มติดอาวุธ ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของกลยุทธ์ของกองทัพฟิลิปปินส์ โดยรวมแล้ว ทหารกองทัพฟิลิปปินส์สังหารผู้ก่อการร้ายไป 920 คน ซึ่งรวมถึงนักรบต่างชาติ 32 คนที่มาจากหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย และเยเมน นอกจากนี้ กองทัพยังยึดอาวุธปืนกำลังสูงกว่า 850 กระบอกและอาวุธอื่น ๆ อีก 100 รายการ

“มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ” พล.ท. พาโมนักกล่าว “แนวทางพหุภาคีและแนวทางระหว่างหน่วยงานของเราช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากความร่วมมือของทุกฝ่าย หน่วยงานของรัฐทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น องค์กรเอกชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งเครื่องมือของรัฐบาลทั้งหมดจึงช่วยให้เราได้รับชัยชนะในการสนับสนุนจากประชาชน ทุกคนมีบทบาทสำคัญ” พล.ท. พาโมนักกล่าว “จากการทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของเรา ทำให้เราสามารถจัดตั้งและทำให้การดำเนินงานของเราถูกต้องตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม ชาวมาราวีต้องสูญเสียไปมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมาราวีจะรู้สึกฝังใจไปอีกระยะหนึ่ง ทหารกองทัพฟิลิปปินส์และเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์จำนวน 165 นายและพลเรือนอีก 87 คนเสียชีวิตในการสู้รบ ผู้คนกว่า 400,000 คนต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนเองในมาราวีและพื้นโดยรอบ ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นคนพลัดถิ่นภายใน หลายส่วนของเมืองถูกถล่มจนราบ ส่วนที่เหลือก็อยู่อาศัยไม่ได้เพราะยังมีระเบิดสังหารตกค้างอยู่ในพื้นที่

ชาวมาราวีพลัดถิ่นเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดเราะมะฎอน ในเต็นท์สวดมนต์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าวว่า การมีน้ำที่ดื่มได้ โอกาสในการดำรงชีวิต และที่พักพิงถาวร คือปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับผู้อพยพ เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส/เก็ตตี้อิมเมจ

ความพยายามในการสร้างใหม่

ปัจจุบัน กว่าสองปีหลังจากการยึดมาราวีคืน การบูรณะ ฟื้นฟู และการสร้างใหม่กำลังดำเนินอยู่ ผู้พลัดถิ่นจำนวน 200,000 คนยังไม่ได้กลับบ้าน และยังคงมีปัญหาอยู่ สื่อมวลชนรายงานว่า ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากกังวลว่าตนอาจจะกลับบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มนักลงทุนจีนที่สนอกสนใจทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากในมินดาเนา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำการบูรณะตามที่มีการเสนอ
หลังจากการต่อสู้ ทหารกองทัพฟิลิปปินส์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ “กองทัพสามารถให้การรักษาความปลอดภัย บรรเทาผลกระทบจากสภาพที่รุนแรงของผู้พลัดถิ่นภายใน และควบคุมพื้นที่ต่อสู้หลัก ทำให้ชุมชนปลอดภัยในขณะที่มีการบูรณะและฟื้นฟู กองทัพจะเฝ้าระวังเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งเช่นนี้อีกในอนาคต” พล.ท. พาโมนักกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองกำลังพิเศษสามารถมีบทบาทในการบูรณะในฐานะผู้สร้างอาคารป้องกันชุมชน พล.ท. พาโมนักกล่าวเสริม “ในยามสงบ กองกำลังพิเศษสามารถคุ้มครองชุมชนและดำเนินการบูรณะและสร้างงานใหม่ที่มุ่งหวังเพื่อชนะใจและความคิดของประชาชน” กองกำลังดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากที่สุดในสถานการณ์หลังความขัดแย้งที่มีการริเริ่มงานพลเรือนกับทหารเพื่อลดผลกระทบของความขัดแย้ง”

พล.ท. พาโมนักกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ต้องระมัดระวังในเรื่องของไอซิสและกลุ่มติดอาวุธในสังกัด เพราะคนเหล่านั้นยังคงมีอุดมการณ์เดียวกัน “พวกเขาอยู่ในช่วงกบดาน จากภายนอกทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่เบื้องหลังพวกเขากำลังวางแผนและปลูกฝังความเชื่อต่อไป” พล.ท. พาโมนักกล่าว “จำเป็นต้องใช้แนวทางบูรณาการในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะบริหารทุกระดับและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด”

ฟิลิปปินส์ยังคงต้องการการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย พล.ท. พาโมนักกล่าว รัฐบาลฟิลิปปินส์ขยายเวลาใช้กฎอัยการศึกในมินดาเนาจนถึงสิ้น พ.ศ. 2562

ผลที่ตามมาหลังการต่อสู้

พล.ท. พาโมนัก เกษียณจากกองทัพในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 และจะจดจำการล้อมโจมตีทั้งสองครั้งที่ตนเป็นผู้นำไว้เสมอ ซัมบิโอกาและมาราวีเป็น “สองเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป” พล.ท. พาโมนักกล่าว
พล.ท. พาโมนักเข้าร่วมกองทัพเพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่สูงส่งที่สุด “ผมเข้าร่วมเพราะพ่อของผมอยู่ในกองทัพ ผมเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนเจ็ดคน พี่ชายคนโตของผมก็อยู่ในกองทัพด้วย การรับราชการทหารตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่สูงส่งมาก ผมนึกหาอาชีพอื่นไม่ออกมากนักที่คุณยินดีจะเสียสละชีวิตของตนเอง”

“สำหรับผมการเข้าร่วมกองทัพคือที่สุดในชีวิต และเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดที่ผมทำ ผมรับราชการทหารมา 37 ปี 8 เดือน ไม่มีวันใดเลยที่ผมจะเสียใจที่ได้เข้าร่วมกองทัพ เพราะกองทัพทำให้ผมเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว”

ในวันเดียวกับวันเกษียณอายุของ พล.ท. พาโมนัก เลขาธิการสงครามทางสังคมของฟิลิปปินส์ได้เลือก พล.ท. พาโมนัก เข้ามาทำหน้าที่ใหม่ ซึ่งเขาเชื่อว่าประสบการณ์ทางทหารของตนจะพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าอันประเมินไม่ได้ “คุณจำเป็นต้องรู้ว่าผู้คนรู้สึกอย่างไร เพราะเราต้องรู้ว่าผู้คนที่ขัดสนใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ผมมีประสบการณ์เดินทางไปยังสถานที่แร้นแค้น” พล.ท. พาโมนักกล่าว “จากเจ้าหน้าที่รบ ตอนนี้ผมกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงสภาพ สวัสดิภาพ และการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี” ผมรักงานนี้มากเพราะนี่เป็นงานใหม่ของผม ผมตั้งใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการขยายความช่วยเหลือของกรมให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button