ติดอันดับ

นายมุนเอาใจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระหว่างการทัศนาจรประเทศในแถบนี้

การทัศนาจรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งล่าสุดของนายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เกิดขึ้นในช่วงที่นายมุนพยายามขยายการค้าพร้อมกับปฏิบัติตามแนวทางการทูตที่ซับซ้อน ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของตน

ในช่วงทัศนาจรเมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 นายมุนได้ไปเยือนพม่า ลาว และไทย นอกจากนี้ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใน พ.ศ. 2560 การทัศนาจรของนายมุนยังรวมถึงการเยือนอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม (ภาพ: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย (ซ้าย) เดินคุ้มกันนายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (กลาง) ระหว่างการตรวจกำลังพลกองทหารเกียรติยศ ระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562)

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือที่รู้จักกันในชื่อ ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมากกว่า 300 ล้านคน รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูกและแหล่งอาหารที่มีความสำคัญ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รัฐบาลเกาหลีใต้ “ให้การยอมรับมานานแล้วว่าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์” ดร. ประชันต์ ปรเมศวรัน เขียนในนิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต

“นายมุนพยายามกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ในแม่น้ำโขงให้ดำเนินต่อไป” ดร. ประชันต์กล่าวต่อ “ความพยายามยังดำเนินไปในแนวทางดังกล่าวตั้งแต่นายมุนเข้าดำรงตำแหน่ง โดยคาดว่าจะมีการจัดการประชุมลุ่มแม่น้ำโขงกับเกาหลีใต้ในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562”

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นายมุนพยายามขยายการทูตของรัฐบาลเกาหลีใต้นอกเหนือจากสี่ประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกาโดยไม่สร้างความบาดหมาง วิสัยทัศน์ของนายมุนระบุไว้ในนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งมุ่งยกระดับความสัมพันธ์ของเกาหลีใต้กับ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และอินเดียในระดับที่เทียบเคียงความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรหลักทั้งสี่ประเทศ หนังสือพิมพ์โคเรียเฮรัลด์รายงานว่า “วิสัยทัศน์ดังกล่าวยึดหลักการชี้นำ ‘3พี’ ได้แก่ การสร้างชุมชนของผู้คน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ”

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของเกาหลีใต้กับจีนเกิดความตึงเครียดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของเกาหลีใต้อีกด้วย โดยเกาหลีใต้ส่งออกสินค้าไปยังทั้งสองประเทศคิดเป็นร้อยละ 39 ในปี พ.ศ. 2561

“ท่ามกลางความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น เกาหลีใต้สามารถใช้นโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นเครื่องมือทางการทูตในการขยายพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวทางการทูต และบรรเทาผลกระทบจากการแข่งขันดังกล่าว” นายโช วอง-กี จากศูนย์ศึกษาอาเซียนและอินเดียกล่าวกับเฮรัลด์

ในระหว่างการทัศนาจรลุ่มแม่น้ำโขง นายมุนได้นำเสนอ “วิสัยทัศน์ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับแม่โขง” เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาค แผนงานดังกล่าวมี 3 ส่วนคือ

  • การแบ่งปันประสบการณ์ของเกาหลีใต้ในการพัฒนาชนบทและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
  • การผลักดันความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรน้ำ
  • การส่งเสริมสันติภาพโดยผลักดันด้านต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนด้วยกัน

เว็บไซต์ Korea.net รายงานว่าในช่วงแรกของการทัศนาจรครั้งนี้ นายมุนได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการ “ความเจริญรุ่งเรืองจากการแบ่งปันประสบการณ์” “ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน” และ “ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพร่วมกันในเอเชียตะวันออก” ให้ลุล่วง

มีการมองว่าการทัศนาจรครั้งนี้เป็นหลักฐานของความมุ่งมั่นของนายมุนที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แม้ในช่วงเวลาที่ประเทศเกาหลีใต้รู้สึกถึงแรงผลักและดึงจากมหาอำนาจของโลก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button