สื่อและวิทยาการแผนก

นักวิทยาศาสตร์ตัดต่อพันธุกรรมไก่ ให้ต้านทาน ไข้หวัดนกได้

นักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษใช้เทคนิคการตัดต่อพันธุกรรมในเซลล์ของไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญสู่การเพาะพันธุ์ไก่ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมที่อาจหยุดยั้งการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์

ไวรัสไข้หวัดนกแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่นกป่าและสัตว์ปีก อีกทั้งบางครั้งก็สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ ภัยคุกคามจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ที่เกิดจากสายพันธุ์ไข้หวัดนก ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วและกลายพันธุ์เป็นรูปแบบที่แพร่เชื้อได้ทางอากาศและอันตรายถึงชีวิตที่แพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างง่ายดายนั้น ยังคงเป็นหนึ่งในความกังวลใหญ่หลวงที่สุดของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและด้านโรคติดต่อระดับโลก

ในงานวิจัยล่าสุด นักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนและสถาบันรอสลินแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สามารถยับยั้งไวรัสไข้หวัดนกจากการเข้าควบคุมเซลล์และการเพิ่มจำนวนได้สำเร็จ โดยตัดต่อดีเอ็นเอไก่ส่วนหนึ่งในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการออก

นายไมค์ แม็กกรู แห่งสถาบันรอสลินซึ่งเป็นหัวหน้าร่วมในโครงการวิจัยดังกล่าวระบุว่า ขั้นตอนต่อไปคือการลองเพาะพันธุ์ไก่ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมในแบบเดียวกันนี้ “เราต้องตรวจสอบว่า การเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอนี้ส่งผลกระทบอื่นต่อเซลล์ของนกหรือไม่ก่อนดำเนินการขั้นตอนต่อไป”

สำหรับงานวิจัยในอนาคต ทีมวิจัยหวังว่าจะได้ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่รู้จักกันในชื่อ คริสเปอร์ เพื่อลบส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของนกที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีนชื่อ เอเอ็นพี 32 ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดต้องพึ่งพาโปรตีนชนิดนี้เพื่อแพร่เชื้อในร่างกายของตัวให้อาศัย

การทดสอบเซลล์ที่ปรับแต่งไม่ให้มียีนดังกล่าวในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าเซลล์ต้านทานไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ โดยกีดขวางการทะลวงเข้า รวมถึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนและการแพร่กระจายของไวรัส

จำนวนผู้เสียชีวิตในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2552 ถึง 2553 ซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 และได้รับการพิจารณาว่าไม่รุนแรงมากนัก มีประมาณครึ่งล้านคนทั่วโลก ไข้หวัดใหญ่สเปนในประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2461 ได้คร่าชีวิตผู้คนประมาณ 50 ล้านคน

นางเวนดี บาร์เคลย์ ศาสตราจารย์และประธานด้านไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่ที่อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ซึ่งทำงานร่วมกับนายแม็กกรูกล่าวว่า แนวคิดเบื้องหลังการตัดต่อพันธุกรรมไก่ให้ต้านทานไข้หวัดนกได้คือความสามารถในการ “หยุดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในครั้งต่อไปที่ต้นตอ” รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button