เรื่องเด่น

นักปีนเขาทางทหาร

หุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความหนาวเย็นในการปฏิบัติการในพื้นที่สูง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

มื่อประตูเครื่องบินเปิดออกหลังจากที่เดินทางมาได้ประมาณสองชั่วโมงครึ่ง พลร่ม 128 นายก็พร้อมสำหรับการปฏิบัติการอันน่าทึ่งที่สุด

พลร่มเหล่านี้สวมใส่ชุดอุปกรณ์หนักกว่า 90 กิโลกรัม ซึ่งประกอบไปด้วยรองเท้าหิมะ อาวุธและเสบียง ได้กระโดดออกจากเครื่องบินที่ระดับความสูงประมาณ 400 เมตรลงไปในดินแดนแห่งหนึ่งของอาร์กติกที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเดดฮอร์ส รัฐอะแลสกา

“เมื่อพลร่มกระโดดออกไปก็จะเจอกับอุณหภูมิลบ 104 องศาองศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ -75 องศาเซลเซียส) เป็นเวลาสองวินาทีครึ่ง จนกว่าร่มจะเปิด” พล.ต. ไบรอัน โอเวนส์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกากล่าว “พอร่มเปิดแล้ว อุณหภูมิก็จะอยู่ที่ลบ 63 (ประมาณ -53 องศาเซลเซียส) จนถึงพื้นดิน และต้องอยู่กับอุณหภูมิลบ 63 นี้ตลอดการปฏิบัติการสี่ชั่วโมงบนพื้นดิน มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง”

จ.ส.อ. โจนาทาน เอ็ม. เอ็มเม็ตต์ จากกองทัพบกสหรัฐฯ นำกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจการบินเข้าร่วมการฝึกในสภาพอากาศหนาวเย็นที่ค่ายเวนไรต์ รัฐอะแลสกา ส.ท. ลิเลียนา เอส. เมเจอร์ส/ฝ่ายกิจการสาธารณะ กองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกา

ทหารจากกองพลน้อยชุดรบทหารราบที่ 4 (พลร่ม) กองพลทหารราบที่ 25 ที่ต่อสู้กับสภาพอากาศหนาวเย็นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 คือผู้ที่เข้าร่วมในปฏิบัติการสปาร์ตัน เพกาซัส ซึ่งเป็นการฝึกประจำปีในสภาพอากาศหนาวเย็นบนที่ราบขนาดใหญ่ที่เย็นจัด ซึ่งอยู่ห่างจากมหาสมุทรอาร์กติกเพียงไม่กี่กิโลเมตร

บทเรียนที่ได้จากการฝึกปฏิบัติการครั้งนี้ใน พ.ศ. 2560 คือการเก็บกู้ดาวเทียมที่ตกลงมา และการฝึกในศูนย์ฝึกการสงครามในพื้นที่ตอนเหนือในแบล็ก แรปิดส์ รัฐอะแลสกา อาจช่วยเพิ่มความสำเร็จของภารกิจและลดโศกนาฏกรรม

ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์ ข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่สุดก็อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น การสัมผัสอาวุธหรือการเสียดสีระหว่างผิวที่เปลือยเปล่ากับอุปกรณ์สกี

“เรื่องธรมดา ๆ อย่างการเอาผิวไปสัมผัสกับโลหะก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต” พล.ต. โอเวนส์กล่าวกับ ฟอรัม ในระหว่างการประชุมและการแสดงนิทรรศการด้านกำลังอำนาจทางบกในแปซิฟิกของสมาคมแห่งสถาบันการสงครามทางบก กองทัพบกสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย “เพราะเนื้อเยื่อจะถูกทำลายในทันทีเพราะความเย็นจัด ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังอย่าให้ส่วนต่าง ๆ ของโลหะมาสัมผัสกับผิว”

หุ้นส่วนในแปซิฟิก

ตั้งแต่ยอดเขาเดนาลี ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยที่สูงตระหง่านของเอเชีย ตลอดจนเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ บทเรียนด้านการปีนเขาทางทหารและสภาพอากาศหนาวเย็นมากมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้ในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก กองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกาได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิกเพื่อให้ทหารมีโอกาสเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ

และสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทาย หุ้นส่วนการฝึกด้านการปีนเขาหลัก ๆ ของกองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกาในภูมิภาคนี้ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น มองโกเลีย เนปาลและชิลี ซึ่งทุกประเทศมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขา

“เรามองหาความคล้ายคลึงกันทางภูมิศาสตร์ระหว่างเรากับหุ้นส่วนต่าง ๆ และความท้าทายที่ประเทศเหล่านี้เผชิญอยู่” พล.ต. โอเวนส์กล่าว “นั่นจะทำให้เราสามารถแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ช่วยให้เราพัฒนาขีดสามารถจากความแข็งแกร่งของกันและกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเรา”

การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติยังเป็นประโยชน์ต่อเนปาล ซึ่งเป็นที่ตั้งของยอดเขาเอเวอเรสต์ และมีภูมิประเทศบางส่วนที่ยากลำบากที่สุดติดอันดับโลก พล.อ. ราเชนทรา เชตตรี ผู้บัญชาการทหารบกเนปาลกล่าว

ในประเทศที่มีพื้นที่เป็นภูเขาถึงร้อยละ 80 การทำงานให้ประสบความสำเร็จในพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ นับตั้งแต่การปฏิบัติการทางทหารไปจนถึงการช่วยเหลือนักปีนเขาจากยอดเขาเอเวอเรสต์ คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทหารเนปาล พล.อ. เชตตรีกล่าว “เราต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในขณะที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สูง” พล.อ. เชตตรีกล่าว

ทหารบกสหรัฐฯ จากกองร้อยบี กองพันที่ 1 กรมบินที่ 52 เตรียมขนยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์ลงจากจากเฮลิคอปเตอร์ชีนุก ซีเอช-47เอฟ หลังจากที่ร่อนลงจอดบนธารน้ำแข็งคาฮิลต์นา ในระหว่างการฝึกในพื้นที่สูงในรัฐอะแลสกา จอห์น เพนเนลล์/กองทัพบกสหรัฐฯ

“หากแต่งกายไม่เหมาะสมก็จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ระดับออกซิเจนที่ต่ำก็จะทำให้มีอาการแพ้ความสูง หากไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ผิวเนื้อก็จะถูกทำลายเพราะความเย็นจัด”

กองทัพบกเนปาลแบ่งปันบทเรียนเหล่านี้กับหุ้นส่วนมากมาย กองทัพบกเนปาลได้เปิดโรงเรียนการฝึกการสงครามในที่พื้นที่สูงและพื้นที่ภูเขามาเป็นเวลานานกว่าสี่ทศวรรษแล้ว พล.อ. เชตตรีกล่าว ประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก อาทิ บังกลาเทศ จีน ปากีสถานและศรีลังกาได้ส่งทหารไปฝึกที่เนปาล เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป “โรงเรียนการสงครามในที่พื้นที่สูงของเราเปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติได้มาเรียนด้วย รวมถึงนักเรียนจากสหรัฐฯ” พล.อ. เชตตรีกล่าว “สหรัฐฯ เป็นผู้เข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวมาโดยตลอด”

ในขณะที่ทหารเนปาลมีประสบการณ์อย่างมากในการปฏิบัติการในพื้นที่สูง ผู้นำของกองทัพมองโกเลียระบุว่า มองโกเลียก็ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเช่นเดียวกันในการฝึกแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกองทัพเหล่าเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์หลายศตวรรษในการปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก

พ.ท. ชิเนบายาร์ ดอร์นยัม รองผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษมองโกเลียกล่าวผ่านล่ามในระหว่างการประชุมและการแสดงนิทรรศการด้านกำลังอำนาจทางบกในแปซิฟิกว่า ตนได้เข้าร่วมการฝึกหลักสูตรเบื้องต้นในการปฏิบัติการในพื้นที่สูงที่รัฐอะแลสกาเมื่อปี พ.ศ. 2558 และรู้สึกประทับใจกับเทคโนโลยีใหม่ที่กองทัพบกสหรัฐฯ จัดหาให้

ขณะที่สหรัฐฯ จัดหาเทคโนโลยีขั้นสูงมาให้ใช้ รองผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษมองโกเลียกล่าวว่า ทหารของตนมีวิธีการเฉพาะตัว “เรามีเอกลักษณ์เพราะเรายังคงรักษาวิถีชีวิตที่เร่ร่อนของเราอยู่” พ.ท. ดอร์นยัมกล่าว “เราดำรงทักษะที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตดังกล่าว เรารู้วิธีที่จะจุดไฟ ดัดแปลงและปรับตัวโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยี”

การประสบความสำเร็จในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์

แม้การอยู่รอดในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์จะเป็นเรื่องยาก แต่ทหารจะตั้งมาตรฐานการปฏิบัติไว้ต่ำขนาดนั้นไม่ได้ ทหารเหล่านี้ฝึกปฏิบัติการทางทหารในสภาพแวดล้อมที่หลายคนจะไม่มีวันได้สัมผัส พล.ต. โอเวนส์กล่าว “หลายคนคิดว่าเราสามารถส่งหน่วยทหารที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีไปไว้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวจัดได้เลย แล้วพวกเขาจะหาทางเอาตัวรอดได้เอง พวกเขาจะสามารถทำงานได้ที่นั่น” พล.ต. โอเวนส์กล่าว “ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้น”

การฝึกที่ครอบคลุม อุปกรณ์ที่ดีที่สุดและความเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ “การเอาตัวรอดกับการประสบความสำเร็จไม่เหมือนกัน” พล.ต. โอเวนส์กล่าว
ที่ศูนย์ฝึกการสงครามในพื้นที่ตอนเหนือ ทหารจะได้รับการฝึกทางด้านการปีนเขาทางทหารขั้นพื้นฐาน ตลอดจนทักษะขั้นสูงต่าง ๆ

ในสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งรวมถึงการดูแลความอบอุ่น “ความสามารถในการแต่งกายอย่างเหมาะสม การจัดชั้นเสื้อผ้าและการห่อหุ้มร่างกายอย่างเหมาะสม จะได้ไม่มีเหงื่อออกในสภาพอากาศหนาวเย็น”

“เราไม่ควรมีเหงื่อออกในสภาพอากาศหนาวเย็น” พล.ต. โอเวนส์ กล่าว “มันอันตรายมาก”

ในสภาพอากาศที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ การขับเหงื่อที่มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนได้อย่างรวดเร็ว และทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ

นักรบอาร์กติกจากศูนย์ฝึกการสงครามในพื้นที่ตอนเหนือ กองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกา ทำการฝึกใกล้กับทะเลสาบกัลเบรตในรัฐอะแลสกา จ.ส.ท. อดัม แม็กควิสตัน/กองทัพบกสหรัฐฯ

ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงอย่างเดียวที่อาจจะเชื่องช้าลงในอาร์กติก ยุทโธปกรณ์ก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น อาวุธและเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์จะทำงานได้ไม่เหมือนกับในพื้นที่ที่อากาศอุ่นกว่า ยุทโธปกรณ์สำหรับการทำสงครามในอาร์กติกจะได้รับการทดสอบที่ศูนย์ทดสอบในภูมิภาคหนาวเย็นของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ค่ายกรีลี รัฐอะแลสกา และได้รับการประเมินโดยทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกา “เราให้ความเห็นในเรื่องการทำงาน ข้อผิดพลาด การปรับปรุงบางอย่างที่สามารถทำได้” พล.ต. โอเวนส์กล่าว

ทหารจะตรวจสอบอาวุธ สกี รองเท้าเก็บความอบอุ่น แคนาเดียน มักลัก ซึ่งเป็นรองเท้าบูทนิ่มทรงสูงแบบดั้งเดิมที่สวมใส่ในอเมริกันอาร์กติก ตลอดจนอุปกรณ์สื่อสาร พล.ต. โอเวนส์กล่าวว่า “ในพื้นที่ตอนเหนือสุดนั้น มุมมองของดาวเทียมเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก”

การควบคุมดูแลให้อากาศยานออกบินไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อนำเฮลิคอปเตอร์อาปาเชไปใช้ในพื้นที่สูงนั้น “ใช้เวลาประมาณหกชั่วโมงในการอุ่นเครื่องกว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์จะพร้อมทำงานเต็มที่” พล.ต. โอเวนส์กล่าว “แบตเตอรี่มีอายุสั้นมากในสภาพอากาศหนาวเย็น น้ำมันและระบบไฮดรอลิกจะมีการทำงานที่เชื่องช้าลงมาก”

แม้ว่าทหารจะได้รับการฝึกและมีการติดตั้งอุปกรณ์อย่างเหมาะสม การใช้อาวุธในสภาพอากาศหนาวจัดก็อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย “การทำงานโดยสวมถุงมือที่ใช้ในอาร์กติกนั้นยากมาก” พล.ต. โอเวนส์กล่าว “มันทำให้งานช้าลง”

ทหารจะเรียนรู้วิธีการจัดชั้นเสื้อผ้าและการห่อหุ้มร่างกายอย่างเหมาะสม เนื้อเยื่อจะได้ไม่ถูกทำลายเพราะความเย็นจัดหรือมีอาการเพลียความร้อน ผู้นำที่ผ่านการฝึกมาแล้วจะต้องบ่งบอกได้ถึงอาการที่เป็นอันตรายเหล่านี้ “เราจะรู้ได้อย่างไรหากทหารคนใดคนหนึ่งของเราเริ่มมีอาการเนื้อเยื่อถูกทำลายเพราะความเย็นจัดหรืออาการเพลียความร้อน” พล.ต. โอเวนส์กล่าว “มีงานง่าย ๆ ที่ผู้นำต้องทำอย่างเช่นการเตือนให้ทหารดื่มน้ำ ที่อุณหภูมิลบ 40 ไม่มีใครอยากดื่มน้ำ”

ในพื้นที่อีกแห่งอันไกลโพ้น ความท้าทายในการปีนเขาทางทหารบนเทือกเขาหิมาลัยทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างออกไป บางครั้งเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด “บนภูเขาของเนปาล มีถนนหนทางอยู่จำกัดหรือแทบจะไม่มีเลย” พล.อ. เชตตรีกล่าว “เราขับรถเข้าไปไม่ได้”

การปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือนักปีนเขาจากยอดเขาเอเวอเรสต์ หรือการสู้รบกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลัทธิเหมาที่สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2549 ต้องดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากของปัจจัยแวดล้อม บ่อยครั้งกองทัพเนปาลต้องเดินเท้าและใช้จามรี แกะและลาภูเขาในการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์เพื่อให้ภารกิจลุล่วง พล.อ. เชตตรีกล่าว
ลานบินขึ้นลงสำหรับเครื่องบินมีอยู่ไม่กี่แห่งสำหรับอากาศยานปีกตรึง และเมื่อฤดูหนาวมาถึง “คุณจะไม่สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้เพราะมีทั้งหิมะและน้ำแข็งปกคลุมอยู่” พล.อ. เชตตรีกล่าว

องค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง

กองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกาได้จัดส่งกองกำลังออกไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโคโซโว อิรักและอัฟกานิสถาน โดยอาศัยกองพลน้อยชุดรบยานเกราะโจมตีเคลื่อนที่เร็วและกองพลน้อยชุดรบพลร่ม นักรบภูเขาที่สามารถปฏิบัติการได้ในสภาพอากาศหนาวเย็นคือสิ่งสำคัญยิ่งในภารกิจทั่วโลกดังกล่าว เนื่องจากพื้นผิวโลกทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วยพื้นที่หนาวเย็นอยู่ร้อยละ 31 และพื้นที่ร้อยละ 27 ของโลกมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขา พล.ต. โอเวนส์กล่าว

ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติ เช่น เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลเมื่อ พ.ศ. 2558 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 คน และบาดเจ็บราว ๆ 22,000 คน หรือภารกิจสู้รบในสภาพอากาศหนาวจัด นักรบที่ปฏิบัติการในพื้นที่สูงและในสภาพอากาศหนาวเย็นจะต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายพร้อมและแข็งแกร่งที่สุดในโลก

ในกรณีของกองทัพบกสหรัฐฯ แห่งอะแลสกา พล.ต. โอเวนส์กล่าวการใช้ชีวิต การทำงานและแม้กระทั่งการส่งลูก ๆ ไปโรงเรียนในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์นั้นช่วยได้มาก มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

“ทหารของเราไม่ได้แค่ฝึกในพื้นที่หนาวเย็นเท่านั้น แต่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น แม้กระทั่งการทำกิจกรรมประจำวัน คนเหล่านี้ไม่ได้แค่รู้วิธีที่จะเอาตัวรอดเท่านั้น แต่ยังรู้วิธีที่จะประสบความสำเร็จได้ การอาศัยอยู่ในอะแลสกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แฟร์แบงส์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลน้อยชุดรบยานเกราะโจมตีเคลื่อนที่เร็วของเรา อุณหภูมิในเดือนมกราคมนั้นลดต่ำถึงลบ 50 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ -45 องศาเซลเซียส) ในอุณหภูมิแบบนี้เราทำอะไรไม่ได้มากนัก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button