ติดอันดับ

ทางการบังกลาเทศจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 5,000 คนในการปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรง

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ตำรวจในบังกลาเทศประกาศถึงการจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีอาญามากกว่า 5,000 คนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ในระหว่างการปราบปรามทั่วประเทศเพื่อหยุดยั้งคลื่นแห่งการเติบโตของการโจมตีอย่างโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยและนักเคลื่อนไหว

นับแต่การปราบปรามเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 5,324 คนซึ่งรวมถึงผู้ต้องสงสัยหัวรุนแรงชาวมุสลิม 85 คน นายแคมรูล อาซาน โฆษกตำรวจกล่าว โดยผู้ที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่มีประวัติทางอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ และคาดว่าจะมีผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาชญากรรมถูกจับกุมเพิ่มขึ้น

มีผู้ถูกสังหารจากการโจมตีอย่างน้อย 18 คนนับแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งรวมถึงบล็อกเกอร์ที่เชื่อว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง เจ้าหน้าที่สงเคราะห์ที่เป็นชาวต่างชาติ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ในเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเมื่อไม่นานมานี้ ชาวฮินดู 2 คนถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต การโจมตีได้ก่อให้เกิดความตื่นกลัวแก่ประชาคมนานาชาติ และตั้งคำถามว่ารัฐบาลฆราวาสของบังกลาเทศสามารถปกป้องชนกลุ่มน้อย รวมทั้งนักเขียนและผู้มีความรู้ที่เป็นฆราวาสนิยมในประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ได้หรือไม่

การปราบปรามเริ่มต้นขึ้นสี่วันหลังจากภรรยาของผู้กำกับการตำรวจซึ่งเป็นผู้นำในการผลักดันการต่อต้านผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมและองค์กรค้ายาเสพติดถูกยิงและแทงจนถึงแก่ความตายในเมืองจิตตะกองที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ การสังหารก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวจากองค์กรการเมืองของบังกลาเทศ ซึ่งหลายแห่งมองว่าเธอคือหนึ่งในพวกตน

หลายวันหลังจากการสังหารนั้น นางชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรี สัญญาว่าจะกำจัดพวกหัวรุนแรงให้หมดสิ้น และทำลายความต้องการที่จะก่อตั้งการปกครองแบบอิสลามในประเทศ

ทางการได้จับกุมผู้ต้องสงสัยบางส่วนในการโจมตี 18 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติการในระดับต่ำ แต่ยังไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี ตำรวจกล่าวว่ากำลังรอจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้นก่อนที่จะนำผู้ตัวต้องสงสัยขึ้นศาล ในภาพด้านบน ตำรวจบังกลาเทศยืนรักษาความปลอดภัยนอกเรือนจำกลางธากาในกรุงธากาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559

การโจมตีเกือบทั้งหมดได้ถูกอ้างความรับผิดชอบโดยกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิมข้ามชาติ รวมถึงรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์และเครือข่ายอัลกออิดะห์ โดยรัฐอิสลามอิรักและเลแวนต์ยังอ้างความรับผิดชอบในการสังหารเจ้าหน้าที่สอนศาสนาฮินดูทางตอนเหนือของบังกลาเทศเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 จากการรายงานของกลุ่มข่าวกรองไซต์ซึ่งตรวจสอบกิจกรรมของขบวนการญิฮาดทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนางฮาซีนากล่าวว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติไม่ได้อยู่ในบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีประชากร 160 ล้านคน โดยกล่าวโทษการโจมตีต่อกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศว่าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานจากการกล่าวหา และฝ่ายค้านปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button