ติดอันดับ

ญี่ปุ่นดำเนินแผนการผลิต เอฟ-35 แม้จะมีการระบาดครั้งใหญ่

ติดอันดับ | May 11, 2020:

โจเซฟ แฮมมอนด์

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นยังคงดำเนินการผลิตเครื่องบินขับไล่จู่โจมร่วม เอฟ-35 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการหยุดชะงักของแรงงานที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาได้คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นเกือบ 300 คนและมีผู้ติดเชื้อประมาณ 12,000 คน ความสามารถของญี่ปุ่นในการรับมือกับไวรัสในขณะที่ยังคงรักษากำหนดการในการประกอบอากาศยานแสดงให้เห็นว่า เอฟ-35 มีความสำคัญต่อสถาปัตยกรรมความมั่นคงแห่งชาติมากเพียงใด นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมกล่าว

มิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์รับผิดชอบต่อการประกอบอากาศยานขั้นสุดท้าย ซึ่งออกแบบโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ปอเรชัน แม้ว่าโรงงานของญี่ปุ่นจะปิดดำเนินการบางส่วนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เมื่อตรวจพบว่าพนักงานคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่มิตซูบิชิก็ไม่เคยหยุดการผลิต นายจอน เกรวัตต์ นักวิเคราะห์กลาโหมอินโดแปซิฟิกของกลุ่มสารสนเทศเจนส์กล่าว

การประกอบขั้นสุดท้ายของ เอฟ-35 ไลท์นิ่ง 2 ของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ทำเฉพาะในญี่ปุ่นและอิตาลีเท่านั้น โรงงานในอิตาลีก็เริ่มการผลิตอีกครั้ง ในญี่ปุ่น บริษัทได้ทำความสะอาดพื้นที่สำหรับพนักงาน ก่อนที่จะกลับมาทำงานต่อ มาตรการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อตารางเวลาในการส่งมอบอากาศยาน นางเอลเลน ลอร์ด ผู้ซื้ออาวุธชั้นนำของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

การเริ่มกลับมาทำงานอย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่า เอฟ-35 ไลท์นิ่ง 2 ยังคงมีความสำคัญต่อการวางแผนด้านกลาโหมของญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่บางประเทศลดความมุ่งมั่นด้านกลาโหมเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดครั้งใหญ่

“เอฟ-35 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปรารถนาด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นในระยะสองทศวรรษข้างหน้า… ขณะที่อุตสาหกรรมกลาโหมท้องถิ่นมุ่งเน้นในโครงการเอฟ-เอ็กซ์ ซึ่งจะผลักดันให้ญี่ปุ่นพัฒนาอากาศยานรุ่นใหม่” นายเกรวัตต์กล่าว เอฟ-เอ็กซ์เป็นอากาศยานล่องหนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแข่งขันกับเอฟ-22 ที่สหรัฐฯ ผลิตขึ้นในด้านขนาดและประสิทธิภาพ คาดว่าเอฟ-เอ็กซ์จะเข้ามาแทนที่เอฟ-2 เมื่อเอฟ-2 ปลดประจำการใน พ.ศ. 2578

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใน พ.ศ. 2562 ระหว่างการเดินทางไปญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นจะซื้อเครื่องบินเอฟ-35 จำนวน 105 ลำ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้อนุมัติชุดการสนับสนุนและบริการมูลค่า 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.18 หมื่นล้านบาท) สำหรับการจัดซื้อเอฟ-35 ตามแผนของเกาหลีใต้ ตามรายงานของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมสหรัฐฯ

ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับบริษัทกลาโหมสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว “มิตซูบิชิและล็อกฮีด มาร์ติน มีประวัติการทำงานร่วมกันในเครื่องบินขับไล่อย่าง เอฟ-2 มาอย่างยาวนาน” นายเกรวัตต์กล่าว

เอฟ-2 “ไวเปอร์ซีโร่” ของมิตซูบิชิเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่พัฒนามาจาก เอฟ-16 “ไฟท์ติ้ง ฟัลคอล” ของเจเนอรัลไดนามิก ซึ่งยังคงใช้งานอยู่ในญี่ปุ่น การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการพัฒนาเอฟ-เอ็กซ์ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในปลาย พ.ศ. 2563

“เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่งของล็อกฮีด มาร์ติน ในญี่ปุ่นและบริษัทอื่น ๆ ของสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะมีบทบาทสูงในโครงการเอฟ-เอ็กซ์” นักวิเคราะห์ของเจนส์กล่าวสรุป “ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งกับระบบกลาโหมสหรัฐฯ”

โจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก



			
		

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button