วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

ชาวฟิลิปปินส์พยายามที่จะอนุรักษ์ ศิลปะการฟ้อนรำ โบราณ

ความฝันของนางอมิลบังซาคือการทำให้การฟ้อนรำพื้นเมืองที่มีชื่อว่าปังอาเลย์นี้ยังคงได้รับการสืบทอดประเพณีต่อไป โดยหวังว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยประสานความแตกแยกในประเทศที่ยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ แทนที่จะกลายเป็นเพียงผลงานชิ้นหนึ่งที่ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

“เราต้องนึกถึงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อผสานรวมพวกเราทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน” นางอมิลบังซากล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่สตูดิโอภายในบ้านของเธอในกรุงมะนิลา

นางอมิลบังซา อายุ 71 ปี ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย สำหรับ “ความตั้งใจอันแน่วแน่ของเธอในการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกทางศิลปะที่กำลังจะสูญหายไปจากภาคใต้ของฟิลิปปินส์”

ผู้ที่ได้รับรางวัลอื่น ๆ ได้แก่ นายซานจีฟ จตุรเวดิ ผู้เปิดโปงเรื่องการทุจริตของรัฐบาลในอินเดีย นายอันชุ คุปตะ ผู้นำกลุ่มอาสาสมัครให้นำเสื้อผ้าไปมอบให้แก่ผู้ยากไร้และจัดทำผ้าอนามัยราคาถูกให้แก่สตรี นางกมลี จันทวงษ์ ผู้ได้ช่วยฟื้นฟูศิลปะการทอผ้าไหมโบราณของชาวลาวและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน และนายจ่อ ตู นักแสดงชื่อดังชาวพม่าซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มการให้บริการจัดงานศพฟรีให้แก่คนจน

ผู้ได้รับรางวัลแต่ละคนได้รับเหรียญทองเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวน 30,000ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.065 ล้านบาท)

นางอมิลบังซาเป็นบุตรสาวของครอบครัวนักการเมืองชาวคาทอลิกในเมืองมาริกินาซึ่งอยู่บริเวณชานเมืองของกรุงมะนิลา ได้แต่งงานกับเพื่อนนักเรียนชาวมุสลิมซึ่งมาจากตระกูลใหญ่ จากนั้นได้ย้ายไปยังจังหวัดซูลูทางภาคใต้อันเป็นสถานที่ซึ่งนางอมิลบังซาได้เห็นศิลปะการฟ้อนรำปังอาเลย์เป็นครั้งแรกที่งานแต่งงานแห่งหนึ่งบนเกาะโจโลเมื่อปี พ.ศ. 2512 และเกิดความหลงใหลในศิลปะดังกล่าวนับแต่นั้น

พี่สะใภ้ของนางอมิลบังซาแปลกใจว่าทำไมเธอจึงสนใจการฟ้อนรำพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับชาวชนบท แต่นางอมิลบังซาผู้ชื่นชอบในวัฒนธรรมและศิลปะก็ได้หลงรักมันอย่างจับใจ“ฉันคิดว่ามันช่างสวยงามและแตกต่างเหลือเกิน” เธอกล่าว

นางลิกายา เฟอร์นานโด อมิลบังซา (กลาง) สอนการฟ้อนรำพื้นเมืองปังอาเลย์จากจังหวัดซูลูในภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ที่เต็มไปด้วยความไม่สงบ ที่สตูดิโอภายในบ้านของเธอในกรุงมะนิลา [ภาพและเรื่องโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส]
นางลิกายา เฟอร์นานโด อมิลบังซา (กลาง) สอนการฟ้อนรำพื้นเมืองปังอาเลย์จากจังหวัดซูลูในภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ที่เต็มไปด้วยความไม่สงบ ที่สตูดิโอภายในบ้านของเธอในกรุงมะนิลา [ภาพและเรื่องโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส]
นางอมิลบังซารู้สึกชื่นชอบในสไตล์การฟ้อนรำซึ่งเชื่อกันว่าได้รับการแพร่กระจายจากอินเดียเข้ามายังภาคใต้ของฟิลิปปินส์ก่อนการมาถึงของศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์เมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา และกล่าวว่าการฟ้อนรำรูปแบบโบราณที่คล้ายคลึงกับปังอาเลย์นี้ยังคงพบเห็นได้ในกัมพูชา พม่า ไทย อินโดนีเซีย และส่วนอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปังอาเลย์ ซึ่งมาจากคำเดิมในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “การฟ้อนรำในโบสถ์” หมายถึง “การมอบของขวัญ” ในหมู่ชาวบ้านซูลูของฟิลิปปินส์ การฟ้อนรำนี้จะเป็นการขยับแขน มือ และ นิ้ว ร่ายรำไปมาอย่างสงบในท่าทางต่าง ๆ ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของคลื่นหรือสัตว์ ท่าฟ้อนรำท่าหนึ่งจะเป็นการเลียนแบบการบินของนกในขณะที่ร่อนลงไปจับปลาในทะเล

หลังจากที่การฟ้อนรำได้รับการสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งในจังหวัดซูลูและจังหวัดทาวี-ทาวี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงโดยไม่มีการบันทึกคำแนะนำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ท่าฟ้อนรำดั้งเดิมหลาย ๆ ท่าจึงเริ่มถูกลืมเลือนไป ชาวพื้นบ้านในชนบทต่างหมดความสนใจในเรื่องนี้เนื่องจากความบันเทิงในแบบสมัยใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา

ในปี พ.ศ. 2512 นางอมิลบังซาเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับปังอาเลย์ โดยการไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าในชนบทเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับท่าฟ้อนรำต่าง ๆ นางนาเนตต์ แมทิแลค ซึ่งเป็นนักฟ้อนรำและนักวิจัยเกี่ยวกับปังอาเลย์กล่าวว่า บ่อยครั้งที่นางอมิลบังซาเฝ้าดูเงาของตนเองบนผนังในขณะที่เธอร่ายรำอยู่ในห้องภายใต้แสงเทียน

เวลาหลายปีที่นางอมิลบังซาทำการวิจัยประจวบเหมาะกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ต่อต้านชาวมุสลิมที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ และการประกาศใช้กฎอัยการศึกในประเทศโดยอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในช่วงทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) ในขณะนั้นมีการสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกัน ซึ่งเป็นเวลาที่เธอต้องไปพบและพากลุ่มชาวบ้านเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมศิลปะการฟ้อนรำนี้

ต่อมานางอมิลบังซาได้เดินทางไปทั่วทวีปเอเชียเพื่อศึกษารูปแบบการฟ้อนรำที่คล้ายคลึงกับปังอาเลย์ และได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับท่าฟ้อนรำต่าง ๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
นางจอย วาดี วิศวกรโยธาชาวพื้นเมืองเผ่าเตาซุก ซึ่งได้มาเรียนการฟ้อนรำปังอาเลย์พร้อมกับบุตรสาวของเธอที่สตูดิโอภายในบ้านของนาง อมิลบังซากล่าวว่า เธอรู้สึกดีใจที่การฟ้อนรำนี้กำลังช่วยทำให้จังหวัดซูลูอันเป็นบ้านเกิดของเธอได้เป็นที่รู้จักในเรื่องอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอันนองเลือด

ซูลูเป็นหมู่เกาะที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ และเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มนักรบหัวรุนแรงอาบูไซยาฟที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์

และมีชื่อเสียงเป็นกล่าวขานกันในเรื่องการลอบวางระเบิด การลักพาตัว และการฆ่าตัดศีรษะ

“เวลาที่ผู้คนเห็นชาวมุสลิมหรือชาวเตาซุกสักคน สิ่งแรกที่พวกเขานึกถึงก็คือการก่อการร้ายและความขัดแย้ง” นางวาดีกล่าวในการให้สัมภาษณ์ “แต่โปรดอย่าคิดเช่นนั้น พวกเราเป็นคนดีและมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button