เรื่องเด่น

ชาวปากีสถาน เดินทางกลับบ้าน

ความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหารช่วยในการขจัดผู้ก่อการร้ายให้ออกไปจากพื้นที่ปากีสถาน

นายชาฮีด ซาดิค และ นายเจค็อป ดอยล์

ในวันอันอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ขบวนรถ 26 คันได้นำคน 62 ครอบครัวมาถึงด่านตรวจกาจฮูรีที่เมืองมีร์อาลี ในเขตวาซิริสถานเหนือ ประเทศปากีสถาน คนเหล่านี้ก็ได้รับการต้อนรับจาก พล.ต. จามิล อัคทาร์ เรโอ และนายทหารคนอื่น ๆ ของกองทัพบกปากีสถาน ขณะที่ลมโชย อ่อน ๆ รอบ ๆ หมู่ต้นปาล์ม กลุ่มผู้เดินทางก็รวมตัวกันในพื้นที่โล่งเพื่อรอการปฏิบัติตามกระบวนการ ชายคนหนึ่งเริ่มตีกลองโบราณในขณะที่คนอื่น ๆ หลายคนเริ่มเต้นระบำพื้นเมืองบังกรา หลังจากที่พลัดถิ่นเป็นเวลาหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น บรรดาชายหญิงและ   เด็ก ๆ ก็ได้กลับสู่ดินแดนบ้านเกิดของตนและทำการเฉลิมฉลอง

การกลับสู่พื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามนี้เกิดขึ้นได้เพราะความพยายามร่วมกันระหว่างกองทัพบกปากีสถาน หน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติ หน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติที่รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรนอกภาครัฐบางแห่ง มันคือจุดเริ่มต้นของการนำผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกลับสู่ถิ่นฐานเดิมอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการประเมินเมื่อเร็ว ๆ นี้คาดว่าร้อยละ 38 ของผู้พลัดถิ่นแต่เดิมทั้งหมดได้กลับสู่ถิ่นฐานเดิมของตนแล้ว

“ด้วยความกล้าหาญและการแก้ปัญหาอย่างไม่ท้อถอย ชนพื้นเมืองที่น่าภาคภูมิใจของเราจากพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารและประชาชนจากจังหวัดไคเบอร์ ปัคตุนควา ก็ได้ยืนหยัดต่อสู้กับการกระทำอันโหดร้ายของผู้ก่อการร้าย ถูกผลักดันให้ออกไปจากพื้นที่และทำให้คนเหล่านี้ไร้ความสำคัญในสังคม” พล.อ. ราฮีล ชาริฟ เสนาธิการกองทัพบกปากีสถานอธิบายในระหว่างที่กล่าวถึงการนำผู้พลัดถิ่นกลับสู่ถิ่นฐานเดิมในการประชุมที่เมืองเปชาวาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 “เรากำลังอยู่ในห้วงที่ยากลำบากที่สุดของการปฏิบัติการ นั่นก็คือการฟื้นฟูทางกายภาพในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม นำผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกลับไปตั้งรกรากใหม่ และสุดท้ายคือการจัดตั้งระบบการจัดการที่มุ่งเน้นความจำเป็นและความปรารถนาของประชาชน

การปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านผู้ก่อการร้ายเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2557 ในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารซึ่งตั้งอยู่ในเขตวาซิริสถานเหนือและใต้ และการปฏิบัติการก่อนหน้านั้นในจังหวัดบาลูจิสถานที่ส่งผลให้พลเมืองปากีสถานถึง 2 ล้านคนจากราว ๆ 300,000 ครอบครัวต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น หลายคนในจำนวนนี้ถูกนำไปพักอาศัยอยู่ในค่ายต่าง ๆ ขณะที่คนอื่น ๆ อีกมากมายไปอาศัยอยู่กับญาติและเพื่อนฝูงที่มักจะอยู่ในเมือง

หน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารระบุว่า ประมาณร้อยละ 75 ของประชากรพลัดถิ่นทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก และราว ๆ ร้อยละ 21 ของครอบครัวทั้งหมดที่กลับสู่ถิ่นฐานเดิมจนถึงปัจจุบันจะมีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว

 

การประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์

ค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานพลเรือนปากีสถาน และตั้งอยู่ในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารและในไคเบอร์ ปัคตุนควา ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียงที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติของจังหวัด สิ่งของบรรเทาทุกข์และเงินจะมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ โครงการอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ กองทัพบกปากีสถาน การบริจาคของพลเรือนและประเทศผู้บริจาค เช่น แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมัน ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ผูู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับชุมชนที่ให้ที่พักพิงมากกว่าจะอยู่ในค่ายซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองของรัฐบาลต่อการพลัดถิ่นของประชนเหล่านี้ การพลัดถิ่นที่ยาวนานกว่าเดิมก็ส่งผลกระทบเช่นเดียวกัน เดิมทีนั้นคาดว่าบรรดาครอบครัวที่อพยพออกไปจากพื้นที่เพราะการปฏิบัติการทางทหารในปี พ.ศ. 2557 จะกลับบ้านภายในสามถึงสี่เดือน แต่แล้วก็ยืดยาวไปจนเกือบสองปี

กองทัพบกปากีสถานมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผูู้พลัดถิ่น นับตั้งแต่การแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ในช่วงที่อพยพไปจนถึงการตรวจสอบปลอดภัยของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขององค์กรนอกภาครัฐและช่วยให้ประชาชนกลับสู่ถิ่นฐานเดิมของตน เมื่อครอบครัวต่าง ๆ โยกย้ายออกจากพื้นที่วาซิริสถานเหนือในระหว่างที่เริ่มดำเนินการปฏิบัติการซาร์บ อี อัซบ์ ซึ่งเป็นภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 นั้น กองทัพบกได้ไปสมทบกับผู้พลัดถิ่นเหล่านี้และแจกจ่ายเสบียงและสิ่งของบรรเทาทุกข์ในชุมชนผู้พลัดถิ่นต่าง ๆ ในเมืองบันนู, เดรา อิสมาอิล ข่าน และแทงค์ ตามที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของกองทัพปากีสถานระบุ

นอกจากนี้ กองทัพบกยังได้รวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จุดบริจาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รักษาพยาบาลผู้พลัดถิ่นหลายพันคนในโรงพยาบาลคาลิฟา กัล นาวัซในเมืองบันนู และจัดให้มีการดูแลรักษาปศุสัตว์ของครอบครัวผู้พลัดถิ่นโดยสัตวแพทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้กองทัพบกได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมของผู้พลัดถิ่นในแต่ละรอบ โดยช่วยนำขบวนรถผ่านด่านตรวจต่าง ๆ ไปจนถึงดินแดนบ้านเกิดของผู้พลัดถิ่น

 

บทบาทขององค์การสหประชาชาติ

ในการตอบสนองความต้องการของผู้พลัดถิ่นปากีสถานนั้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติได้ใช้วิธีปฏิบัติงานโดยแบ่งกลุ่มตามภารกิจซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในปากีสถานหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2548 วิธีนี้จะเป็นการระดมทรัพยากรต่าง ๆ จากองค์การสหประชาชาติและองค์กรที่ไม่ใช่สหประชาชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ

ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ วาซิริสถานใต้ เมืองบาราในเขตไคเบอร์ และวาซิริสถานเหนือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติได้สนับสนุนการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมของผู้พลัดถิ่น 750,000 คนในปี พ.ศ. 2558 และต้นปี พ.ศ. 2559 และเป็นผู้นำในการบริหารจัดการค่ายและที่พักอาศัยต่าง ๆ ตลอดจนการมอบสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารแก่ประชาชนหลายแสนคน

 

ความท้าทายขององค์กรนอกภาครัฐ

การนำองค์กรนอกภาครัฐมาทำงานร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานตามภารกิจต่าง ๆ ในยามจำเป็นทำให้องค์กรเหล่านี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคตามที่สื่อปากีสถานรายงานในวงกว้าง ความจำเป็นในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยและความชอบธรรมทางกฎหมายคือเหตุผลในการสั่งห้ามองค์กรนอกภาครัฐเข้ามาทำงานในปากีสถานจนกว่าองค์กรเหล่านี้จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นและกองทัพ

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติรายงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ว่าความล่าช้าในการอนุมัติดังกล่าวทำให้หลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนร่วมด้านมนุษยธรรมสำหรับปากีสถานขององค์การสหประชาชาติเกิดความยุ่งยาก โดยกล่าวอ้างว่าระยะเวลาในการรอคอยโดยเฉลี่ยคือ 26 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับเดียวกันระบุว่าได้มีการดำเนินโครงการไปแล้ว 23 โครงการในพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนอกภาครัฐที่ได้รับอนุญาตแล้ว

ในบรรดาองค์กรนอกภาครัฐที่ได้รับอนุญาตินั้น มีมูลนิธิฮายัตที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาชนบทและโครงการสนับสนุนพื้นที่ชนบทแห่งชาติรวมอยู่ด้วย ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ นั้น องค์กรนอกภาครัฐจะให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ในเรื่องความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดโดยใช้การอธิบาย แผ่นพับและใบปลิว

ชาวปากีสถานที่พลัดถิ่นภายในประเทศรอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์จากองค์การสหประชาชาติ ที่ศูนย์แจกจ่ายในเมืองเปชาวาร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
ชาวปากีสถานที่พลัดถิ่นภายในประเทศรอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์จากองค์การสหประชาชาติ ที่ศูนย์แจกจ่ายในเมืองเปชาวาร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รัฐบาลและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ใช้โทรทัศน์และวิทยุตลอดจนการไปเยือนค่ายเพื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องการกลับถิ่นฐานในแต่ละรอบ และเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสำคัญแก่ประชาชนที่คาดหวังว่าจะกลับบ้าน สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติได้รายงานถึงความสำเร็จในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2558 ที่โครงการหนึ่งได้แจกจ่ายเงินสดแก่ผู้ที่กลับถิ่นฐานเดิมเพื่อเป็นทุนในการตั้งรกรากใหม่อีกครั้ง และได้ยกตัวอย่างกรณีของนางข่าน อูโร ซึ่งมีลูก 11 คน ที่สามารถสร้างบ้านของตนขึ้นมาใหม่ได้ในจังหวัดไคเบอร์ ทางโครงการได้ซื้อเสบียงและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อจัดส่งไปให้นางอูโรพร้อมกับบัตรเอทีเอ็มที่ฝากเงินไว้ในบัญชีแล้ว 250 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 8,700 บาท)

“เราเดินทางไปยังเมืองเปชาวาร์เพื่อถอนเงิน” นางอูโรกล่าวโดยยอมรับว่าไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้บ้านตน “และเพื่อใช้บัตรเอทีเอ็มในร้านที่ได้รับอนุญาตที่ชื่อ อีซีไพซา ฉันได้รับเงินทั้งหมดสามงวด”

ครอบครัวที่บ้านเรือนถูกทำลายมีสิทธิที่จะได้รับเงินทุนเพิ่มเติมและที่พักพิงชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื้อรังต่าง ๆ ที่สร้างความกังวลให้กับครอบครัวที่พลัดถิ่น เช่น การขาดหนทางเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่สะดวกและราคาไม่แพง และข้อสงสัยในเรื่องวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของผู้ที่กลับสู่ถิ่นฐานเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้พลัดถิ่นก็ยังคงมีความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งที่จะกลับบ้าน

“สถานการณ์ต่าง ๆ มีทีท่าว่าจะดีขึ้น อะไร ๆ ก็กำลังจะดีขึ้น” นายชาฮีด เอห์ซัน ผู้จัดการโครงการของสมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือนักโทษในปากีสถานกล่าว “มีประชาชนเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีความปลอดภัยแล้ว” ผลสำรวจความตั้งใจในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ต้องการที่จะกลับบ้านในทันที และมีจำนวนน้อยที่ต้องการจะกลับภายในหนึ่งเดือนเนื่องจากยังมีภาระผูกพันในพื้นที่ที่ตนพักพิง”

 

การสนับสนุนของกองทัพ

จนถึงตอนนี้ กองทัพปากีสถานและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ. ชารีฟก็ได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากประชาชนในเรื่องการกวาดล้างพื้นที่ที่มีผู้ก่อการร้ายและการช่วยให้ผู้พลัดถิ่นเดินทางกลับถิ่นฐานเดิม ส่วนประเด็นที่ว่าพื้นที่ต่าง ๆ ที่กวาดล้างแล้วในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารและเขตไคเบอร์จะปราศจากการก่อการร้ายได้นานแค่ไหนนั้น นั่นยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ

“ไม่ว่าผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐที่หลบหนีเข้าไปในอัฟกานิสถานในระหว่างการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหารจะกลับมาหรือไม่ก็ตาม” นางรีเบกกา ซิมเมอร์แมน นักวิเคราะห์นโยบายจากสถาบันวิจัยแรนด์ คอร์เปอเรชัน กล่าว “ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าปากีสถานดำเนินการเจรจากับผู้เล่นตาลีบันได้มากน้อยเพียงใด”

นางซิมเมอร์แมนกล่าวเพิ่มเติมว่าสถานการณ์ทางฝั่งอัฟกานิสถานที่อยู่ติดกับวาซิริสถานอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือ ความแข็งแกร่งและความสำเร็จของรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน นางซิมเมอร์แมนยอมรับว่าการเจรจาที่ล้มเหลวระหว่างรัฐบาลปากีสถานและผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐนั่นเองที่นำไปสู่การปฏิบัติการทางทหารในปี พ.ศ. 2557 และชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอาจจำเป็นต้องใช้ “ความพยายามข้ามพรมแดน” เช่นการเจรจาสี่ฝ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ที่มีสี่ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ อัฟกานิสถาน จีน ปากีสถานและสหรัฐอเมริกา

“หากชาติมหาอำนาจในภูมิภาคไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้” นางซิมเมอร์แมนกล่าว “มันก็อาจส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์ผู้ลี้ภัย”

ขณะนี้พื้นที่ต่าง ๆ ทางตอนเหนือของปากีสถานค่อนข้างสงบสุข และครอบครัวที่พลัดถิ่นยังคงเดินทางกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดของตน รัฐบาลปากีสถานและพันธมิตรปฎิญาณว่าจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าการตั้งรกรากใหม่อีกครั้งจะมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button