ติดอันดับ

ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ร่วมสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง

ขณะที่ฮ่องกงยังคงประท้วงเรื่องร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปจีน ในประเทศอื่นๆ ก็มีการจัดการชุมนุมสนับสนุนด้วย แม้แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ยังให้การสนับสนุนการประท้วง และด้วยเหตุนี้จึงมีพลเมืองจีนบางส่วนแอบเดินทางไปที่ฮ่องกงเพื่อร่วมแสดงการสนับสนุน

การประท้วงในฮ่องกงเรื่องกฎหมายที่เสนอว่าจะยอมให้ส่งผู้ร้ายชาวฮ่องกงไปจีนเพื่อดำเนินคดี เริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ 2562 โดยนางแคร์รี แลม ผู้นำฮ่องกง ได้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าข้อเรียกร้องจากผู้ประท้วง(ภาพ: ผู้ประท้วงร่วมกันชูมือพร้อมกางนิ้วทั้งห้าที่เป็นสัญลักษณ์ของข้อเรียกร้อง5 ข้อ ขณะเดินขบวนไปยังสถานกงสุลสหรัฐฯ ในฮ่องกงเพื่อเรียกร้องให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลดปล่อยฮ่องกงให้เป็นอิสระ)

สหราชอาณาจักรได้มอบอำนาจการปกครองฮ่องกงให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนใน พ.ศ. 2540 นับแต่นั้น ประชาชนกว่า 1 ล้านคนได้ย้ายจากจีนแผ่นดินใหญ่มาใช้ชีวิต ทำงาน และศึกษาเล่าเรียนในฮ่องกง แม้จะกลัวการโต้ตอบจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ชาวจีนบางส่วนเหล่านี้ก็เข้าร่วมการประท้วงสนับสนุนสังคมที่ให้เสรีภาพซึ่งไม่เคยได้รับขณะอยู่ที่จีน

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลหลายต่อหลายครั้ง ผู้สนับสนุนเหล่านี้กล่าวว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเอกราชของฮ่องกงภายใต้การควบคุมของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องระบบกฎหมายและเสรีภาพในการแสดงออกของฮ่องกง

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานว่า “ผู้สนับสนุนได้เข้าร่วมเดินขบวน ลงนามในจดหมายประท้วงออนไลน์เพื่อสนับสนุนฮ่องกง และปกป้องการเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ต่อสู้กับนักวิจารณ์ซึ่งมีรัฐบาลหนุนหลังและข้อมูลเท็จ” บางครั้งผู้สนับสนุนเหล่านี้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในหลาย ๆ ภูมิภาคของเอเชีย นั่นก็เพื่อปิดบังใบหน้าจากเจ้าหน้าที่จีนและเทคโนโลยีการตรวจตรา

การต่อต้านจีนมีความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหน้าที่จีนกำลังตรวจสอบสมาร์ทโฟนของนักท่องเที่ยวที่เขตชายแดนข้ามไปเซินเจิ้น เพื่อหาหลักฐานการมีส่วนร่วมในการประท้วง หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทม์รายงานว่า ชายวัย 25 ปีซึ่งเดินทางจากเซินเจิ้นมาฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมการประท้วง ถูกตำรวจควบคุมและกักตัวไว้เป็นเวลา 10 วันขณะพยายามเดินทางกลับจีนแผ่นดินใหญ่ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาชายคนดังกล่าวด้วยข้อหา “ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทและยุยงปลุกปั่น”

ชายหนุ่มคนนั้นเป็นหนึ่งในหลายคนที่ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาดังกล่าว ขณะเดินทางกลับจีน

เดอะพีเพิลเดลีย์หนังสือพิมพ์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวโทษการประท้วงและประณามว่าเป็น “การจลาจลและพฤติกรรมที่รุนแรง” อิงค์สโตนนิวส์รายงานว่าสื่ออื่นของจีนกำลังดำเนินการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ประท้วงในฮ่องกง นอกจากนี้ยังพบการกล่าวโทษการประท้วงในเว่ยป๋อ แพลตฟอร์มของจีนที่มีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์แต่ควบคุมโดยรัฐ ซึ่งมีกองเซ็นเซอร์ตรวจสอบ

อิงค์สโตนนิวส์รายงานว่า นางหลง อิงไถ นักเขียนและนักวิจารณ์สังคมชาวไต้หวัน บอกกับผู้อ่านชาวจีนในเฟซบุ๊กของเธอให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประท้วงที่ดำเนินอยู่ นางหลงโด่งดังในหมู่คนที่พูดภาษาจีนจากการกล่าวถึงจีนโดยวิจารณ์เสียดสีปัญหาทางการเมืองและสังคมในไต้หวัน นอกจากนี้ เธอยังมีผู้ติดตามจำนวนมากในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะผู้อ่านหลายคนคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับไต้หวันของเธอนำไปใช้กับสังคมของจีนได้

“ประชาชนจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เฉิงตู ฉางซา คุนหมิง หางโจว ซีอาน และเสิ่นหยาง จะปฏิเสธคุณค่าเหล่านั้นหรือ” นางหลงเขียนโดยระบุชื่อเมืองใหญ่ที่สุดของจีน

โพสต์เฟซบุ๊กของนางหลงถูกบล็อกในจีน แต่ยังสามารถเข้าถึงได้โดยใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน ประชาชนที่ถือว่าตนเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้โพสต์สนับสนุนงานเขียนของนางหลง

นิตยสารไทม์รายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนยังควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เช่น การแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก รีทวีตข้อความ สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในวีแชท และส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วง อีกทั้งยังกดดันให้นายเฉิน ชิวชี ทนายความชาวจีน เลิกสร้างวิดีโอเกี่ยวกับการประท้วงและกลับไปประเทศจีน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button