ติดอันดับ

จับตามองท้องฟ้า: สหรัฐฯ และออสเตรเลียร่วมพัฒนาความเหนือชั้นด้านอวกาศ

ติดอันดับ | May 18, 2020:

จ.อ. ชานแนตต์ มัลลิแน็กซ์/กองทัพเรือสหรัฐฯ

ในโลกยุคใหม่ที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วนั้น ระบบนำทาง การพยากรณ์อากาศ อาวุธนำวิถีความแม่นยำสูงเกิดขึ้นได้เพราะการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางอวกาศช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ระบบเดียวกันเหล่านั้นยังให้ข่าวกรองที่สำคัญต่อภารกิจในแต่ละวันสำหรับเครื่องบินรบในสงครามอีกด้วย

แม้ว่าเทคโนโลยีการโคจรและเศษซากอวกาศที่สะสมจะทำให้พื้นที่ในอวกาศแออัด แต่ภัยคุกคามระหว่างประเทศต่อเทคโนโลยีดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนพรมแดนสุดท้ายแห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการช่วงชิงเพื่ออำนาจในการทำสงครามเช่นกัน

ที่สถานีสื่อสารของกองทัพเรือ แฮโรลด์ อี. โฮลต์ ใกล้เมืองเอ็กซ์มัธ ประเทศออสเตรเลีย สมาชิกที่ได้รับหน้าที่ให้เข้าร่วมกองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศออสเตรเลียกำลังร่วมมือกันพัฒนาครือข่ายเฝ้าระวังทางอวกาศสหรัฐฯ ด้วยระบบเรดาร์เฝ้าระวังทางอวกาศซี-แบนด์ และกล้องโทรทรรศน์เฝ้าระวังทางอวกาศ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่มุ่งเน้นการรักษาความสงบและความปลอดภัยบนพื้นโลกและอื่น ๆ

พล.อ.อ. เดวิด แอล. โกลด์เฟน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเฝ้าระวังพื้นที่อวกาศซึ่งสร้างข้อได้เปรียบให้อย่างสูงสุด ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562

“การประจำอยู่ที่นั่นอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเรา” พล.อ.อ. โกลด์เฟนกล่าว “เราต้องสามารถเหนือกว่าทั้งในเวลาและสถานที่ที่เราเลือก การลงทุนของเราในออสเตรเลียนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่ทุกคนมารวมตัวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในอวกาศและผู้ที่ทำงานในอวกาศ เพื่อที่เราจะสามารถปกป้องพื้นที่ดังกล่าวไว้ให้ทุกคนได้

“พล.อ.อ. เจย์ เรย์มอนด์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการทางอวกาศของสหรัฐฯ และผมมุ่งมั่นที่จะสร้างกองทัพใหม่บนรากฐานของความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เราต่างเป็นเจ้าของพื้นที่ทางอากาศและอวกาศที่ให้ข้อได้เปรียบสูงร่วมกัน”

ผู้ให้การสนับสนุนภารกิจร่วมโดยตรงเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับอวกาศคือ น.ท. เจนนิเฟอร์ เบเซิล เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านอวกาศของกลุ่มปฏิบัติการที่ 21 แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ขณะปฏิบัติการในออสเตรเลีย น.ท. เบเซิลให้ความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการด้านอวกาศของสหรัฐฯ แก่ผู้ร่วมปฏิบัติการของกองทัพอากาศออสเตรเลีย ทั้งยังร่วมกันตรวจสอบการปฏิบัติการและความคืบหน้าของเทคโนโลยีการเฝ้าระวังทางอวกาศจากภาคพื้นดินทั่วประเทศ

“ในออสเตรเลียตะวันตก โดยพื้นฐานแล้วเราอยู่ห่างไกลจากประเทศอื่น ๆ ในโลก” น.ท. เบเซิลกล่าว “ออสเตรเลียใช้ความสามารถนี้ในการตรวจสอบวงโคจรจากวงโคจรระดับต่ำไปจนถึงวงโคจรค้างฟ้าแนวเส้นศูนย์สูตร ในพื้นที่แห่งนี้ซึ่งไม่เหมือนที่ใดในโลก”

น.ท. เบเซิล ทำงานร่วมกับสมาชิกหน่วยตรวจตราระยะไกลหมายเลข 1 ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังที่ปฏิบัติการด้วยเรดาร์ซี-แบนด์จากระยะไกล โดยระบบเรดาร์นี้มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมซีกโลกใต้และซีกโลกตะวันออก ซึ่งช่วยในการติดตามและระบุสิ่งของรวมถึงขยะอวกาศ (ภาพ: ระบบเรดาร์เฝ้าระวังทางอวกาศซี-แบนด์ ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ เป็นเจ้าของนั้น ทำงานเป็นโหนดเซ็นเซอร์เฉพาะที่เอ็นซีเอส แฮโรลด์ อี. โฮลต์ ใกล้กับเมืองเอ็กซ์มัธ ประเทศออสเตรเลีย)

น.ท. เบเซิลทำงานร่วมกับ ร.อ.อ. เจมส์ พัก จากหน่วยตรวจตราระยะไกลหมายเลข 1 กองทัพอากาศออสเตรเลีย ซึ่งอธิบายว่าการเป็นพันธมิตรคือกุญแจสำคัญในการใช้งานยุทธปัจจัยของสหรัฐฯ ในออสเตรเลีย

ร.อ.อ. พัก กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินภารกิจของเรา เราตระหนักดีว่า สหรัฐฯ มีประสบการณ์และเทคโนโลยีมากกว่าสำหรับแผนการในครั้งนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ออสเตรเลียใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ในการตอบแทน สิ่งที่เราจัดหาให้ได้คือทรัพยากร บุคลากร ยุทโธปกรณ์อื่น ๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์”

ยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงคือกล้องโทรทรรศน์เฝ้าระวังทางอวกาศ ซึ่งพัฒนาโดยโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมที่ย้ายจากศูนย์ฝึกและทดสอบพิสัยขีปนาวุธไวท์แซนด์ส รัฐนิวเม็กซิโก ไปยังชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียเพื่อพัฒนาเครือข่ายที่มีการเฝ้าระวังพื้นที่ซีกโลกใต้ที่ไม่เหมือนใคร

มลภาวะทางแสงที่น้อยที่สุดจะช่วยให้กล้องโทรทรรศน์มีมุมมองที่กว้างขึ้นและมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น กล้องโทรทรรศน์นี้คาดว่าจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น กล้องจะสามารถตรวจจับ ติดตาม และแยกแยะวัตถุที่คลุมเครือในห้วงอวกาศได้

“กล้องโทรทรรศน์นี้รับรู้สถานการณ์ได้ยอดเยี่ยมที่สุด” น.ท. เบเซิลกล่าว “เมื่อกล้องโทรทรรศน์ทำงาน กล้องจะสแกนวงโคจรทางภูมิศาสตร์หลายครั้งในช่วงกลางคืน และสามารถสแกนขนาดพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลียได้ภายในไม่กี่วินาที”

กล้องโทรทรรศน์เพื่อการเฝ้าระวังทางอวกาศจะช่วยแจ้งเตือนผู้ให้บริการดาวเทียมทั่วโลกทราบถึงการปะทะกัน ด้วยการเฝ้าระวังที่ขยายขอบเขตออกไปเหนือวงโคจรของโลกระดับต่ำและระดับกลาง ซึ่งจะช่วยลดอันตรายในพื้นที่อวกาศที่แออัด

น.ท. สตีฟ เฮนรี รองผู้อำนวยการเฝ้าระวังทางอวกาศประจำศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศออสเตรเลียในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่าการคาดการณ์และความแม่นยำทางตำแหน่งที่ดีขึ้นจะช่วยเสริมความพร้อมในการสู้รบของประเทศพันธมิตร

“เครื่องบินรบร่วมและเครื่องบินรบผสมใช้พื้นที่ทางอวกาศทุกวันในทุกด้านของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร จีพีเอส และการตรวจสอบตำแหน่ง หรือการนำทางและการกำหนดเวลา” น.ท. เฮนรีกล่าว “บทบาทส่วนใหญ่ของเราคือการรับรองว่าเครื่องบินรบเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ เพราะเราต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ ซึ่งเราจำเป็นต้องคอยจับตาดูสิ่งที่เกิดขึ้นบนนั้น ติดตามวัตถุทั้งหมด และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในวงโคจรปลอดภัย”

เนื่องจากคู่ต่อสู้ระดับภูมิภาคมีขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศ เพื่อใช้คุกคามประสิทธิภาพทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร กองกำลังของสหรัฐฯ และออสเตรเลียจึงเฝ้าจับตาดูท้องฟ้าและทำงานเพื่อสร้างความเหนือชั้นทางอวกาศต่อไป

“ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าไม่มีใครชนะ ถ้าสงครามเริ่มหรือขยายตัวไปสู่อวกาศ” พล.อ.อ. โกลด์เฟนกล่าว “วิธีที่ทำให้คุณมั่นใจว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นคือ หนึ่ง สร้างกฎการปฏิบัติตัวร่วมกันสำหรับอวกาศในฐานะพื้นที่ทางการสู้รบ ซึ่งยังเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับการหารือกัน สอง เราจะต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่บีบบังคับ เราและพันธมิตรเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันในด้านองค์ประกอบทางทหารของพื้นที่อวกาศเพื่อให้ทุกคนใช้พื้นที่นั้นได้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button