เรื่องเด่น

ความเร็วเสียง ก้าวหน้า

สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซียแย่งชิงกันแซงหน้าในการแข่งขันสร้างอาวุธความเร็วเหนือเสียง

นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

การใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียงก่อให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธที่รวดเร็วขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย โดยสองรายหลังอ้างว่าดำเนินการทดสอบอาวุธสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นเร่งโครงการให้เร็วขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง รวมทั้งมุ่งหวังจะนำขีปนาวุธมาใช้ภายใน พ.ศ. 2571 นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้นกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ตามการรายงานของเว็บไซต์ Military.com

“ผมกำลังผลักดันให้พวกเขาเดินหน้าโดยเร็วที่สุด” นายเอสเปอร์กล่าวถึงนักพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงของกองทัพสหรัฐฯ

อากาศยานความเร็วเหนือเสียงเดินทางด้วยความเร็วห้าเท่าของเสียงเป็นอย่างน้อย ทำให้ยานเหล่านั้นเร็วพอที่จะข้ามทวีปสหรัฐอเมริกาด้วยความเร็ว 5 มัคหรือเร็วกว่าในเวลาประมาณ 30 นาที ความเป็นไปได้ในการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นอาวุธทำให้ประเทศใดก็ตามที่ไม่มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันในการต่อสู้ตกอยู่ในความเสี่ยง ตามคำบอกเล่า อาวุธความเร็วเหนือเสียงนั้นยากที่จะค้นหา ติดตาม และทำลาย

“หากคุณคิดว่าการป้องกันขีปนาวุธเป็นเรื่องง่าย คงต้องคิดใหม่ คุณกำลังยิงกระสุนด้วยกระสุน และทำได้ดีที่สุดแค่นั้น” พล.อ.อ พอล เซลวา แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ รองประธานคณะเสนาธิการร่วมในขณะนั้นกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานของซีเอ็นบีซี “จะแย่ลงอีกเมื่อกระสุนมีความเร็ว 13 เท่าของเสียงและควบคุมทิศทางได้ นั่นแหละคืออาวุธความเร็วเหนือเสียง”

ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ขีปนาวุธทางน้ำ และยานร่อน ขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงเดินทางเร็วกว่าความเร็ว 5 มัคและเป็นแบบไม่ทิ้งตัว ซึ่งตรงข้ามกับขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบบเดิมที่ใช้แรงโน้มถ่วงเพื่อไปถึงเป้าหมาย ยานร่อนความเร็วเหนือเสียงขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกบนวิถีโค้ง โดยปล่อยหัวรบให้ร่วงมาที่ชั้นบรรยากาศที่ความเร็วเหนือเสียง ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบบเดิมจะออกจากเส้นทางบรรทุกสิ่งของและทิ้งตัวตามแรงโน้มถ่วง ด้วยเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง หัวรบจะยึดติดกับยานร่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง และด้วยรูปทรงเชิงอากาศพลศาสตร์ของยานร่อน ทำให้สามารถควบคุมแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการยกตัวของยานร่อนขณะพุ่งฝ่าความเร็วของเสียง ซึ่งทำให้มีความเร็วเพียงพอที่จะเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธในปัจจุบัน ตามรายงานของดีเฟนส์ไอคิว

ระหว่างการปราศรัยระดับรัฐเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โอ้อวดถึงขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของอาวุธความเร็วเหนือเสียงที่อ้างว่ารัสเซียดำเนินการทดสอบสำเร็จ นายปูตินอธิบายว่ายานร่อนความเร็วเหนือเสียงที่ชื่ออะแวนการ์ด เป็น “อาวุธในฝัน” และเรียกว่า “สามารถเอาชนะ” ขีปนาวุธและระบบป้องกันทางอากาศของนาโตได้

“ไม่มีระบบปราบปรามขีปนาวุธใดที่หวังจะขัดขวางได้ แม้ในอนาคตก็ตาม” นายปูตินกล่าว

คำกล่าวของนายปูตินไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งทราบถึงการพัฒนาระบบอาวุธทำลายความมั่นคงของรัสเซียมานานกว่าทศวรรษแล้ว รายงานของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ยังยืนยันความสำเร็จในการทดสอบอาวุธของรัสเซียซึ่งอาจติดหัวรบนิวเคลียร์ด้วย ซีเอ็นบีซีรายงาน

สหรัฐฯ ออกคำเตือนอย่างหนักแน่นถึงรัสเซียและประเทศใดก็ตามที่ปรารถนาอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเกี่ยวข้องกับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

ภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นยานความเร็วเหนือเสียงชื่ออะแวน
การ์ด เคลื่อนที่หลบระบบป้องกันขีปนาวุธระหว่างทางไปยังเป้าหมาย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“เราขอบอกให้ผู้ที่อาจเป็นศัตรูของเราทุกคนรู้ไว้ว่าหากวัตถุนั้นเป็นอาวุธนิวเคลียร์ เราจะตอบโต้ในแบบเดียวกันและทำลายคุณให้เท่ากับที่คุณทำลายเราโดยไม่มีการเจรจาต่อรอง” พล.อ.อ. เซลวากล่าว ตามรายงานของซีเอ็นบีซี “ดังนั้น จงอย่าทำ”

ผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ให้เห็นว่ารัสเซียและจีนดูเหมือนกำลังมุ่งเน้นความสนใจไปที่การติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่อาวุธความเร็วเหนือเสียง แต่สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นไปที่อาวุธโจมตีตามแบบฉบับเดิม

ระหว่างการปราศรัยของนายปูติน วิดีโอภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นการปล่อยขีปนาวุธจากรัสเซียและโจมตีสหรัฐฯ

“เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ที่ต้องดูภาพเคลื่อนไหววิดีโอดังกล่าว” นางเฮทเธอร์ นอเอิร์ต โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ตามการรายงานของ ดิอินดีเพนเดนต์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของอังกฤษ “เราไม่ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นพฤติกรรมของผู้มีบทบาทในระดับนานาชาติที่มีความรับผิดชอบ”

สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจสำคัญที่แข่งขันในเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ได้เผยแพร่การทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงแบบใหม่ที่ประสบความสำเร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561

สถาบันอวกาศและอากาศพลศาสตร์ของจีนดำเนินการทดสอบอากาศยาน “สตาร์รี สกาย-2” ครั้งแรก โดยระบุว่ายานดังกล่าวมีความเร็วสูงสุดที่ 6 มัค ซึ่งเป็น 6 เท่าของความเร็วเสียงหรือ 7,344 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น

ทั้งนี้ สถาบันอวกาศและอากาศพลศาสตร์ของจีนไม่ได้เปิดเผยแผนการเกี่ยวกับอากาศยานความเร็วเหนือเสียงลำดังกล่าว โดยบอกแต่เพียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังดำเนินการของจีน “โครงการทดสอบการบินของยานสตาร์รี สกาย-2 เป็นนวัตกรรมที่แข็งแกร่งและมีความซับซ้อนทางเทคนิค ซึ่งเผชิญกับความท้าทายทางเทคนิคระดับนานาชาติที่ทันสมัย” แถลงการณ์จากสถาบันอวกาศและอากาศพลศาสตร์ของจีนระบุ “เครื่องทดสอบการบินสามารถควบคุมได้และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ถูกต้อง การฟื้นคืนโครงการจรวดดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบนับเป็นการดำเนินการทดสอบการบินสตาร์-2 ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของ “เวฟไรเดอร์ลำแรกของจีน” เวฟไรเดอร์คืออากาศยานความเร็วเหนือเสียงประเภทหนึ่งที่ใช้แรงสั่นสะเทือนจากตัวยานเป็นตัวยกพื้นผิว ทำให้อัตราส่วนแรงยกต่อแรงต้านดีขึ้น

สหรัฐอเมริการับรู้ถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการที่จีนและรัสเซียเดินหน้าสร้างคลังอาวุธความเร็วเหนือเสียง

“จีนทดสอบความสามารถด้านความเร็วเหนือเสียงแล้ว รัสเซียทดสอบแล้ว เราก็เช่นกัน ความสามารถด้านความเร็วเหนือเสียงเป็นความท้าทายที่สำคัญ” พล.อ. จอห์น ไฮเทน แห่งกองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์สหรัฐฯ กล่าวกับซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 “เราจะต้องใช้เซ็นเซอร์ชุดที่ต่างออกไปเพื่อให้มองเห็นภัยคุกคามด้านความเร็วเหนือเสียง ซึ่งศัตรูของเรารู้ดี”

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าจีนอาจเดินหน้าต่อไปมากกว่าที่เปิดเผยให้ทราบ แต่ปิดบังข้อมูลการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงเอาไว้เสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่าระบบนำส่งอาวุธความเร็วเหนือเสียงของจีนอาจไปได้ไกลนับพันกิโลเมตรจากชายฝั่งของจีน “และทำให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของเราหรือกองกำลังที่เคลื่อนทัพไปข้างหน้าของเรา… ตกอยู่ในความเสี่ยง” นายไมค์ กริฟฟิน ปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านการวิจัยและวิศวกรรมศาสตร์กล่าวในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวุฒิสภาว่าด้วยอาวุธสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

ตามรายงานของบิสซิเนสอินไซเดอร์ นายกริฟฟินกล่าวในระหว่างการพิจารณาว่า “วันนี้ เราไม่มีระบบที่สามารถควบคุมความเสี่ยงในลักษณะที่สอดคล้องกัน และเราไม่มีการป้องกันระบบเหล่านั้น” โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากพวกเขาเลือกที่จะนำระบบเหล่านั้นไปใช้ วันนี้เราก็จะเสียเปรียบ”

เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวว่าแนวทางในภายหน้าจะประกอบด้วยการเรียนรู้พร้อมกับการพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้น โดยมีการติดตั้งอย่างเร่งด่วน

“ความเร็วเหนือเสียงเป็นโครงการที่ผมคาดหวังว่าเราจะได้ออกไปเรียนรู้มากมายขณะทำการทดสอบ ดังนั้น แทนที่จะเสียเวลาไปกับการทำให้แน่ใจว่าการทดสอบของคุณเป็นไปตามสิ่งที่มั่นใจว่าทำได้อยู่แล้ว คุณสามารถย่นระยะกำหนดการเพื่อขวนขวายและทำให้การทดสอบมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้บางสิ่ง” ดร. วิล โรเปอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกองทัพอากาศสหรัฐฯ ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ กล่าวกับนิตยสาร ดีเฟนส์นิวส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 “เพียงวิธีคิดที่แตกต่างก็จะทำให้โครงการความเร็วเหนือเสียงของเราร่นระยะเวลาได้หลายปี เราหวังว่าจะได้รับขีดความสามารถด้านปฏิบัติการเบื้องต้นภายในสามถึงสี่ปี และทั้งหมดนั้นเกิดจากการดำเนินการในรูปแบบโครงการทดสอบเชิงทดลอง แทนระยะเวลาการปฏิบัติตามที่ยาวนาน

นายโรเบิร์ต เวิร์ค อดีตรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ว่านายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอาวุธหนักเพื่อปรับกองทัพจีนให้ทันสมัย รวมทั้งการลงทุนกับเทคโนโลยีทางทหารรุ่นใหม่ ทั้งนี้ นายสีตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับโลกภายใน พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันที่ทำให้จีนมุ่งมั่นขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการปรับกองทัพให้ทันสมัย ไม่สามารถเอาชนะความต้องการที่จะรักษาบทบาทและข้อได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์อันเข้มแข็งของสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง

ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น นายเวิร์คกล่าวว่า “การแข่งขันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องชนะ”

นิตยสาร เดอะวอทช์ ตีพิมพ์โดยกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนเหนือ


เครื่องบิน บี-52 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เตรียมขนยานความเร็วเหนือเสียง เอ็กซ์-51 ไปยังระยะสำหรับปล่อยยานขึ้นทดสอบ รอยเตอร์

ขีปนาวุธมีความเร็วเหนือเสียงได้อย่างไร

มี 2 แนวทางที่จะไขปัญหาด้านความเร็วเหนือเสียง ได้แก่ สแครมเจ็ตและบูสท ไกลด์ เครื่องสแครมเจ็ตที่ใช้อากาศทำงานใช้ความเร็วสูงเป็นแหล่งพลังงาน

ขณะเร่งเครื่อง อากาศและเชื้อเพลิงที่มากขึ้นจะดันเข้าไปในเครื่องยนต์ ช่วยให้เครื่องไปถึงความเร็วเหนือเสียง

เครื่องรุ่น บูสท ไกลด์ ควบคุมยานแบบกลับสู่ชั้นบรรยากาศไปยังระดับความสูงที่มากที่สุด โดยข้ามผ่านชั้นบรรยากาศด้านบนของโลก

ขีปนาวุธทิ้งตัวตามแบบแผนเดิมเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงได้แล้ว ด้วยการสร้างให้บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์และหัวรบตามแบบขีปนาวุธดังกล่าวมีความสามารถที่จะไปถึงห้วงอวกาศในระหว่างที่บินได้ แต่บังคับทิศทางไม่ได้

ทั้งนี้ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นล่าสุดจะมีขนาดเล็กกว่า ได้รับการควบคุมและออกแบบให้บรรทุกวัตถุระเบิดแบบเดิม เพื่อการตอบสนองที่รวดเร็วและมีเงื่อนไขด้านเวลาในปฏิบัติการบนสนามรบ ที่มา: เดลี่เมล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button