ติดอันดับ

ความเข้มแข็งของโครงการพันธมิตรช่วยคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ทอม แอบกี

นักวิเคราะห์ยืนกรานว่า การแก้ปัญหาการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้อย่างสันติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสหรัฐอเมริกาและความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ข้อพิพาทระหว่างมาเลเซียกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าอาจยกระดับขึ้นเป็นการเผชิญหน้ากัน โดยมีเรือจากห้าประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ความพยายามอย่างพร้อมเพรียงกันของพันธมิตรและการทูตระดับภูมิภาคเป็นฝ่ายมีชัยและทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างสันติ

“การแก้ปัญหาการเผชิญหน้าอย่างสันติแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้มีความสำคัญในด้านการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” นายทิโมธี ฮีธ นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมระหว่างประเทศจากแรนด์ คอร์ปอเรชัน กล่าว “เครื่องบินทิ้งระเบิด เรือป้องกันชายฝั่ง เรือพิฆาต เรือดำน้ำ และยานรบอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่พิพาทเป็นการส่งสารเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการป้องปรามของสหรัฐฯ ที่มีพลัง”

เรือขุดเจาะน้ำมันเวสต์คาเปลลา ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลมาเลเซียให้ปฏิบัติการบริเวณนอกชายฝั่งรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์รายงานว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เรือขุดเจาะน้ำมันลำนี้ถูกล้อมด้วยเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีน ซึ่งอ้างสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเรือประมงสองลำจากเวียดนามเฝ้าสังเกตอยู่จากบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเวียดนามก็อ้างสิทธิ์บางส่วนในดินแดนดังกล่าวเช่นกัน

เรือสัญชาติจีนดักซุ่มอยู่รอบเรือเวสต์คาเปลลาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563 กองเรือจีนติดอาวุธรวมถึงเรือสำรวจไห่หยางตี้จื้อ 8 ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีบทบาทในการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับเวียดนามเมื่อ พ.ศ. 2562 ได้แล่นมาถึงจุดเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรือเวสต์คาเปลลาก็เสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจและออกจากพื้นที่โดยไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

พันธมิตรอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคมีส่วนช่วยต่อต้านการรุกล้ำของจีน ในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563 ออสเตรเลียได้ส่งเรือรบขนาดกลาง เอชเอ็มเอเอส พาร์รามัตตา (ในภาพ) เข้าร่วมการฝึกทางทะเลกับเรือของสหรัฐฯ สามลำ ได้แก่ เรือโจมตียกพลขึ้นบกยูเอสเอส อเมริกา, เรือลาดตระเวนติดตั้งจรวดนำวิถียูเอสเอส บังเกอร์ฮิลล์ และเรือพิฆาตยูเอสเอส แบร์รี

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หารือกับ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ 10 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในวันที่ 23 เมษายน เพื่อย้ำว่าสหรัฐฯ ต่อต้าน “การกลั่นแกล้ง” ของจีน

“สารสำคัญคือประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าในทะเลจีนใต้มีพันธมิตรที่เป็นไปได้ในการพยายามที่จะต่อต้านการข่มขู่ของจีน” นายฮีธย้ำ “ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคและต่อต้านยุทธวิธีบีบบังคับของจีนนั้น เปิดโอกาสให้ประเทศขนาดเล็กในทะเลจีนใต้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหลังหรืออย่างเปิดเผยหากเป็นไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค”

นายฮีธอธิบายว่า การมีกองทัพเรือต่างประเทศในทะเลจีนใต้จะสามารถจำกัดการรุกรานของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศขนาดเล็กเมื่อพิจารณาจาก “ข้อได้เปรียบด้านกองเรือและอากาศยานที่แข็งแกร่ง” ของจีน

“ตราบใดที่กองทัพเรือและเรือต่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการยั่วยุที่ไม่จำเป็น” นายฮีธกล่าวเพิ่มเติม “การปรากฏตัวของเรือเหล่านั้นก็อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศขนาดเล็กที่ต้องการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็หวังว่าจีนจะยอมรับว่าตนจะได้รับผลประโยชน์อย่างที่สุดเมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบีบบังคับและข่มขู่เช่นกัน”

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button