ติดอันดับ

ความสัมพันธ์ของอินเดียกับญี่ปุ่นเติบโตขึ้นด้วยความร่วมมือภาคกลาโหมและการเจรจาทางทะเล

มันดีป สิงห์

ความร่วมมือทางกลาโหมทวิภาคีและความมั่นคงของน่านน้ำระดับภูมิภาคถือเป็นประเด็นหลักในการเจรจาทางกลาโหมตามแผนระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นครั้งล่าสุด

ดร. รูปัคจโยตี โบราห์ นักวิจัยอาวุโสร่วมกับเจแปนฟอรัมเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาในโตเกียว เขียนลงในหนังสือพิมพ์ ฮินดู บิสสิเนส ไลน์ ของอินเดียเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นระหว่างการบริหารของนายนเรทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

“สภาพแวดล้อมระดับภูมิภาคในอินโดแปซิฟิกเอื้อให้เกิดการเติบโตด้านความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ” นายโบราห์ตั้งข้อสังเกต “การผงาดขึ้นของจีนเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ความใกล้ชิดของอินเดียกับสหรัฐฯ ที่เติบโตขึ้นก็มีบทบาทด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว” (ในภาพ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ขวา) ต้อนรับนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียที่การประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562)

นายอาเบะและนายโมทีชี้แจงที่งานประชุมสุดยอดระหว่างอินเดีย สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก พ.ศ. 2562 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่าความร่วมมือในภาคกลาโหมและความมั่นคงของน่านน้ำระดับภูมิภาคจะเป็นหัวข้อสำคัญในการเจรจาระดับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ 2+2 เบื้องต้นที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 และการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างทั้งสองประเทศที่มีกำหนดการจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายทาโร่ โคโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นและนายราชนัต สิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดียที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ในการเจรจาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีในภายหน้าระหว่างกองทัพของอินเดียกับญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างความตื่นตัวในพื้นที่ทางทะเล นั่นคือปฏิบัติการเฝ้าระวังทางน้ำของโลกเพื่อรักษาความมั่นคง การค้าขาย และนิเวศวิทยา “สันติภาพและเสถียรภาพของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกมีความสำคัญที่ช่วยรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลก” แถลงการณ์ร่วมของทั้งสองระบุ

นายโคโนะและนายสิงห์เน้นย้ำถึงการฝึกซ้อมทางทหารทวิภาคีว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในความร่วมมือทางกลาโหม

การฝึกซ้อมภาคพื้นดินเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายทวิภาคีภายใต้รหัส ธรรมาการ์เดียน จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2561 โดยรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่าจะมีการจัดต่อไปเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ทั้งสองยังเห็นพ้องว่าการฝึกซ้อมทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2561 ควรมีการจัดอย่างสม่ำเสมอ และทั้งสองยังกล่าวถึงการฝึกซ้อมทางอากาศทวิภาคีครั้งแรกภายใต้รหัส ชินยูไมตรี 18 ที่ประสบความสำเร็จด้วย รัฐมนตรีทั้งสองกล่าวว่าการฝึกซ้อมเหล่านี้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทั้งสองประเทศในการฝึกซ้อมทางทะเลไตรภาคีภายใต้รหัส มาลาบาร์ ที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย และการฝึกซ้อมทวิภาคีระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ในชื่อ โคป อินเดีย ซึ่งกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นครั้งแรกในฐานะผู้สังเกตการณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561

การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยทางกลาโหมในภาคเทคโนโลยีกลาโหมเป็นประเด็นที่ได้รับการเน้นย้ำ ทั้งสองประเทศต้องการให้สถาบันด้านการวิจัยทางกลาโหมร่วมมือกัน และทั้งสองได้ให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการประชุมคณะทำงานร่วมเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีกลาโหมครั้งที่ห้าก่อนสิ้นปี และจะส่งเสริมบริษัทด้านกลาโหมของญี่ปุ่นให้เข้าสู่ตลาดกลาโหมของอินเดีย

โดย ดร .โบราห์เขียนว่า “ในยุคที่ได้เห็นการรุกรานของจีนเพิ่มขึ้น ทั้งอินเดียและญี่ปุ่นต่างเพิ่มทางเลือกโดยการร่วมมือซึ่งกันและกัน”

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button