ติดอันดับ

ความมั่นคงทางทะเลและเศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นระเบียบวาระการเสวนาที่สำคัญที่สุดในกรุงนิวเดลี

มันดีป ซิงห์

ผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญจาก 13 ประเทศในอินโดแปซิฟิก ได้แบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อมารวมตัวกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 เพื่อการเสวนาเกี่ยวกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกครั้งที่สอง ณ กรุงนิวเดลี

อินเดียใช้โอกาสดังกล่าวในฐานะประเทศเจ้าบ้าน เพื่อสรุปวิสัยทัศน์ของอินเดียในด้านความร่วมมือระดับภูมิภาค ความโปร่งใส ความรับผิดชอบร่วมกัน และโอกาสการเติบโต

“มหาสมุทรเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ” พล.ร.อ. อาร์.เค. โดวัน ประธานมูลนิธิทางทะเลแห่งชาติของอินเดียกล่าวขณะปราศรัยเปิดงาน “และประเทศในภูมิภาคต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ”

ออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา จีน อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เซเชลส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว ตามรายงานข่าวของรัฐบาลอินเดีย หัวข้อต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในงานเสวนาที่ใช้เวลาสองวัน ประกอบไปด้วยความเชื่อมโยงทางทะเล ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล

“ด้วยการเสวนาประจำปีครั้งนี้” รายงานข่าวระบุ “กองทัพเรืออินเดียและมูลนิธิทางทะเลมีจุดมุ่งหมายที่จะมอบเวทีสำหรับการสนทนาซึ่งมีแก่นสารและเจาะลึก เกี่ยวกับการพัฒนาทางภูมิศาสตร์การเมืองที่มีผลกระทบต่ออาณาเขตทางทะเลของอินโดแปซิฟิก รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแก่ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชนในวงกว้าง”

การบรรยายประเด็นสำคัญของ พล.ร.อ. ซูนิล ลันบา ผู้บัญชาการทหารเรืออินเดีย (ภาพ) เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนา “ความเชื่อมโยงทางทะเลในภูมิภาค”

“อย่างไรก็ตาม การเน้นความพยายามทั้งหมดไปที่ความต้องการและข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ” พล.ร.อ. ลันบากล่าว “และข้อตกลงนั้นเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้น และไม่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศใด”

พล.ร.อ. โดวันบรรยายในการเสวนาช่วงหนึ่ง ที่ผู้เข้าร่วมพิจารณาความหมายของมหาสมุทรแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งอภิปรายถึงความจำเป็นสำหรับกฎต่าง ๆ ที่ยึดถือในระดับสากลซึ่งควบคุมแนวคิดนี้ พล.ร.อ. ลันบาดูหมิ่นความพยายามในสิ่งที่ตนเรียกว่า “มหาอำนาจลัทธิแก้” ที่ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อให้มีอำนาจเหนือช่องทางการขนส่งและช่องแคบที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของอินโดแปซิฟิก

“เราพยายามที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาอาณาเขตทางทะเลของภูมิภาคให้เสรีและเปิดกว้างสำหรับทุกคน ด้วยการผสานรวมความพยายามแบบอิสระและแบบรวมกลุ่ม” พล.ร.อ. ลันบากล่าว

ในช่วงที่กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เป็นการอภิปรายถึงการพัฒนามหาสมุทรอย่างยั่งยืนโดยการลดมลพิษและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ พล.ร.อ. โดวันอธิบาย ช่วงดังกล่าวตั้งเป้า “เพื่อตรวจสอบตัวเลือกสำหรับความร่วมมือทางทะเลกับประเทศเขตชายฝั่งในภูมิภาค เพื่อควบคุมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน”

องค์ประกอบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เทคโนโลยีบล็อกเชน การวิเคราะห์ข้อมูล และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง รวมกันเป็นปัจจัยที่พล.ร.อ. โดวันเรียกว่าเป็น “อุตสาหกรรมทางทะเล 4.0”

“มีความจำเป็นในการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานอุตสาหกรรมทางทะเลอยู่รอดในสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม 4.0” พล.ร.อ. โดวันกล่าว

ซาการ์เป็นภาษาฮินดูหมายถึงมหาสมุทร ช่วยสร้างชื่อวิสัยทัศน์ของอินเดียด้านความมั่นคงและการพัฒนาในภูมิภาค พล.ร.อ. ลันบากล่าว ซาการ์มาลาคือโครงการสี่เสาหลักของรัฐบาลอินเดียสำหรับท่าเรือของอินเดีย โดยการสร้างความทันสมัย ความเชื่อมโยง การปรับปรุงอุตสาหกรรมที่นำโดยท่าเรือ และการพัฒนาชุมชนชายฝั่ง

พล.ร.อ. ลันบาย้ำอีกว่า สิ่งที่จะหนุนบทบาทของอินเดียในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลของภูมิภาคดังกล่าวคือ กองทัพเรืออินเดีย

“มีการส่งกองกำลังเฉพาะกิจของกองทัพเรืออินเดียเข้าประจำการในส่วนสำคัญของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง” พล.ร.อ. ลันบากล่าว “ซึ่งพร้อมปฏิบัติภารกิจเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองกำลังของเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดทางทะเล รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในหลายพื้นที่ทั่วทั้งภูมิภาค”

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัมรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button