เรื่องเด่น

การแสวงหา ทางปัญญา

สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้อำนาจการซื้อ การโจรกรรม และการสอดแนมเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย

เจ้าหน้าที่ฟอรัม

าธารณรัฐประชาชนจีนกำลังดำเนินนโยบายการรุกรานทางเศรษฐกิจซึ่งคุกคามความมั่นคงของทรัพย์สินทางปัญญาและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโลก จากการปฏิบัติการนอกขอบเขตบรรทัดฐานสากลเพื่อโจรกรรมความลับทางเทคโนโลยีและองค์กร รายงานของทำเนียบขาวระบุ

จากการวิเคราะห์ในหัวข้อ “การคุกคามทางเศรษฐกิจของจีนเป็นภัยคุกคามต่อเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และโลกอย่างไร” สำนักงานว่าด้วยการค้าและนโยบายการผลิตของทำเนียบขาวระบุว่า จีนต้องการครองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงที่เกิดใหม่ซึ่งจะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมกลาโหม

“จีนได้ประสบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเส้นทางไปสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในขณะเดียวกันก็นำความทันสมัยมาสู่ฐานอุตสาหกรรมของตนและเคลื่อนตัวขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าทั่วโลก” รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ระบุ “อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญของการเติบโตนี้มาจากการกระทำ นโยบาย และแนวปฏิบัติที่ก้าวร้าวและไม่เป็นไปตามกฎกติกาและบรรทัดฐานสากล (อาจเรียกโดยรวมว่าเป็นการรุกรานทางเศรษฐกิจ)”

ภาพล่าง: มีการส่งมอบความลับทางทหารเกี่ยวกับเรือดำน้ำ เช่น เรือดำน้ำ บลูฟิน-21 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำนี้ให้แก่รัฐบาลจีนโดยหญิงชาวฟลอริดาที่เกิดในประเทศจีน กองทัพเรือสหรัฐฯ

ตามรายงานเรื่อง “การจารกรรมทางเศรษฐกิจต่างประเทศในโลกไซเบอร์” พ.ศ. 2561 ของศูนย์ต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนคือการบรรลุผลในด้านอำนาจระดับชาติที่ครอบคลุม รูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีนวัตกรรมเป็นตัวผลักดัน และการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายเหล่านี้ จีนจึงมีนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ริเริ่ม จำแนก ซึมซับ และทำซ้ำนวัตกรรม” เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาจากทั่วโลก รายงานของทำเนียบขาวระบุ

รายงานระบุว่าวิธีการของจีน ได้แก่ การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาที่รัฐสนับสนุน การจารกรรมทางไซเบอร์ การหลีกเลี่ยงกฎหมายควบคุมการส่งออก การปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์ “ดูเหมือนว่าจีนจะดำเนินนโยบายการจารกรรมเชิงพาณิชย์กับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับ… การแทรกซึมของมนุษย์เพื่อเจาะระบบข้อมูลของบริษัทในสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบ เพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ลดมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา และเข้าซื้อกิจการในราคาที่ลดลงอย่างมาก” ตามรายงานของคณะกรรมการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ และจีน

ความพยายามของจีนมุ่งเป้าไปที่นวัตกรรมจากบริษัทเอกชนและรัฐบาล คณะกรรมาธิการอิสระว่าด้วยการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาอเมริกันสรุปว่า จีนเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมูลค่าระหว่าง 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

(ประมาณ 7.1 ล้านล้านบาท) ถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 19 ล้านล้านบาท) ต่อปี นอกจากนี้ จีนยังมุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกอีกด้วย บริษัท ซีเคียวเวิร์ค ซึ่งให้บริการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในสหรัฐฯ ระบุในรายงานเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ว่ากลุ่มธุรกิจของจีนที่ชื่อว่า บรอนซ์ บัตเลอร์ พยายามขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทเทคโนโลยีในญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์โดยหน่วยต่อต้านภัยคุกคามของซีเคียวเวิร์คพบว่า บรอนซ์ บัตเลอร์ใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ที่ไม่ทราบชื่อและช่องว่างด้านความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์สร้างการลดทอนด้วยเว็บไซต์เชิงยุทธศาสตร์ และยังใช้เทคนิคที่เรียกว่า สเปียร์ฟิชชิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยการปลอมตัวเป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้

ภาพขวาล่าง: หน่วยบริการข้อมูลข่าวกรองของจีนใช้แอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์หลายอย่างเพื่อเปิดโปงความลับขององค์กร เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บางครั้ง ความพยายามของจีนในการขโมยความลับทางเทคโนโลยีก็มีการประยุกต์ใช้ทางทหาร นักธุรกิจชาวจีนถูกตัดสินจำคุกสี่ปีในเรือนจำสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ข้อหาสมคบคิดเจาะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้รับเหมาทางกลาโหมรายใหญ่ นายซู บิน อายุ 51 ปี ถูกตัดสินว่ามีส่วนร่วมในแผนการของเจ้าหน้าที่ทหารจีน ในการจัดหาข้อมูลทางทหารที่ละเอียดอ่อน รวมถึงแผนการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขนส่งทางทหารซี-17 และเครื่องบินขับไล่เอฟ-22 และเอฟ-35 เขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 46 เดือนและได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 320,000 บาท)

นายจอห์น คาร์ลิน ผู้ช่วยอัยการสูงสุดด้านความมั่นคงแห่งชาติระบุในแถลงการณ์ว่า “คำตัดสินของนายซู บิน เป็นการลงโทษที่ยุติธรรมสำหรับการกระทำที่เขายอมรับว่าสมคบคิดกับแฮกเกอร์จากกองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชน เพื่อเข้าถึงและขโมยข้อมูลทางทหารที่ละเอียดอ่อนของสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย”

เพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทรายงานเครดิต อีควิแฟกซ์ กล่าวกับ สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอและสำนักข่าวกรองกลางว่า บริษัทดังกล่าวเป็นเหยื่อของการจารกรรมองค์กรโดยจีน หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทใน พ.ศ. 2558 เกรงว่าอดีตพนักงานจะลบข้อมูลกรรมสิทธิ์หลายพันหน้าออกก่อนที่จะออกจากบริษัทและย้ายกลับไปยังประเทศจีน

เอกสารดังกล่าวประกอบด้วยรหัสสำหรับผลิตภัณฑ์ที่วางแผนไว้ แฟ้มบุคลากร และคู่มือต่าง ๆ สิ่งที่เพิ่มความสงสัยคือความจริงที่ว่า รัฐบาลจีนในขณะนั้นได้ขอให้บริษัทแปดแห่งช่วยสร้างระบบรายงานเครดิตแห่งชาติ หนังสือพิมพ์รายงานว่า สุดท้ายคดีดังกล่าวของเอฟบีไอ

ก็มาถึงทางตันแม้ว่าหน่วยงานดังกล่าวจะเชื่อว่ามีการขโมยความลับทางการค้าไปก็ตาม

จีนลงทุนทรัพยากรมหาศาลในการรวบรวมข่าวกรอง รายงานของทำเนียบขาวระบุว่ากระทรวงความมั่นคงของจีนส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง 40,000 คนไปยังต่างประเทศ และมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 50,000 คนประจำการในจีนแผ่นดินใหญ่ การลงทุนนี้ช่วยให้จีนดูแลการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาข้ามพรมแดนร้อยละ 50 ถึง 80 ทั่วโลกและมากกว่าร้อยละ 90 ของการจารกรรมทางเศรษฐกิจที่เปิดใช้งานบนโลกไซเบอร์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของมูลนิธิกลาโหมแห่งประชาธิปไตย

ภัยคุกคามทางไซเบอร์

จีนได้ใช้ความพยายามอย่างกว้างขวางในการได้มาซึ่งเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยการเปิดเผยความลับทางการค้าที่ละเอียดอ่อนและข้อมูลกรรมสิทธิ์ผ่านการจารกรรมทางไซเบอร์ ตามรายงานของศูนย์ต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ การโจรกรรมความลับทางการค้าเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียในสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าระหว่าง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท) ถึง 5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) ต่อปี ตามรายงานของทำเนียบขาว

เวอไรซอนทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐเพื่อทำการศึกษาเรื่องการรุกรานทางไซเบอร์ใน พ.ศ. 2555 การศึกษาดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ด้านความมั่นคงกว่า 47,000 เหตุการณ์ ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ยืนยันแล้ว 621 เหตุการณ์ มีบันทึกอย่างน้อย 44 ล้านรายการที่มีการลดทอน จากการเปิดเผยที่เชื่อมโยงกับการจารกรรมทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 96 เชื่อว่ามาจาก “ผู้กระทำการคุกคามในประเทศจีน”

การหลีกเลี่ยงกฎหมายการส่งออก

บางครั้ง สายลับจีนก็นำเอานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นวัตถุไปยังประเทศบ้านเกิดเพื่อศึกษาและทำซ้ำ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ผู้พิพากษากลางสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกหญิงชาวจีนเกือบสองปี ในข้อหาส่งชิ้นส่วนยานพาหนะดำน้ำไปยังมหาวิทยาลัยของจีนอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงบางส่วนที่เธอเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทาง หนังสือพิมพ์ ออร์แลนโดเซ็นทิเนล รายงาน

นางอามิน ยู ซึ่งมีอายุ 55 ปีในขณะที่ถูกตัดสินจำคุก เป็นอดีตพนักงานมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริด้า ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไม่เปิดเผยว่าเธอทำงานในนามของรัฐบาลจีนและโกหกเกี่ยวกับสิ่งที่เธอกำลังส่งไปยังประเทศจีน เธอให้การรับสารภาพข้อหาทำการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นตัวแทนต่างประเทศ และสมคบคิดในการฟอกเงินระหว่างประเทศ นายรอย บี. ดาลตัน จูเนียร์ ผู้พิพากษาเขตสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกนางยู 21 เดือนตามด้วยการคุมประพฤติ 2 ปี

นายแดเนียล ไอริค ผู้ช่วยอัยการสหรัฐฯ ระบุว่า นางยูเป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทบังหน้า บัญชีนอกประเทศ และเอกสารเท็จ เซ็นทิเนล รายงาน นางยูมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย คิดเป็นเงิน

2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 83 ล้านบาท)

ในการต่อรองการรับสารภาพ นางยูยอมรับว่าทำงานให้กับมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน นางยูจัดหาระบบและชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะดำน้ำทางทะเลจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา และส่งออกไปยังจีนเพื่อการพัฒนายานพาหนะดำน้ำทางทะเล ยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับ ยานพาหนะที่ใช้งานทางไกล และยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติ ตามรายงานของทำเนียบขาว

คดีของนางยูแสดงให้เห็นถึงปัญหาสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่พยายามบังคับใช้กฎหมายควบคุมการส่งออก นั่นคือการเติบโตของเทคโนโลยีที่ใช้งานได้สองด้านซึ่งมีการประยุกต์ใช้ทางทหารและพลเรือน “เช่น เทคโนโลยีเครื่องยนต์ทางอากาศมีการประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน” รายงานของทำเนียบขาวระบุ “เมื่อคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทางทหารเชิงยุทธศาสตร์อย่างจีนหามาได้ สินค้าเชิงพาณิชย์ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารได้”

จีนแทรกซึมสื่อสังคมออนไลน์

เช่นเดียวกับการดำเนินการโดยหน่วยข่าวกรองของประเทศอื่น ๆ\จีนแทรกซึมเข้าไปในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ เพื่อสรรหาทรัพยากรบุคคล นายวิลเลียม อีวานินา ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติกล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ว่ารัฐบาลจีนกำลังใช้ลิงกต์อิน ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการสรรหาพลเมืองสหรัฐฯ ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวกรองของรัฐบาลและความลับทางการค้า

นายอีวานินากล่าวว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของจีนติดต่อกับสมาชิกลิงกต์อินหลายพันราย ก่อนหน้านี้ ทางการอังกฤษและเยอรมันเตือนว่าจีนใช้เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสรรหาสายลับที่มีศักยภาพ นายอีวานินาเรียกร้องให้ลิงกต์อินซึ่งเป็นของบริษัทไมโครซอฟต์ดำเนินการเช่นเดียวกับการโต้ตอบของทวิตเตอร์ กูเกิล และเฟซบุ๊ก ซึ่งล้างบัญชีปลอมทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานข่าวกรองอิหร่านและรัสเซีย

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมเห็นว่าทวิตเตอร์กำลังยกเลิกบัญชีปลอมหลายล้านบัญชี และคำขอของเราอาจจะเป็นการขอให้ลิงกต์อินเดินหน้าและทำเช่นเดียวกัน” นายอีวานินา ผู้นำศูนย์ต่อต้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว

แม้ว่าอิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซียจะใช้ลิงกต์อินและแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อระบุเป้าหมายด้านข่าวกรองด้วย แต่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด นายโจชัว สกูล หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเอฟบีไอกล่าวว่า ประมาณร้อยละ 70 ของการจารกรรมโดยรวมของจีนมุ่งไปที่ภาคเอกชนของสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นรัฐบาล รอยเตอร์รายงาน “จีนกำลังดำเนินการจารกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่เหนือชั้นในประวัติศาสตร์ของเรา” นายสกูลกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญได้รับการเตือนเกี่ยวกับนโยบายที่รุกรานของจีนมานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าแฮกเกอร์จีนมุ่งเน้นอย่างเจาะจงไปที่บริษัทสหรัฐฯ หลังจากมีกิจกรรมสั้น ๆ ปรากฏว่าการจารกรรมทางไซเบอร์ที่เกิดกับบริษัทสหรัฐฯ กลับมา “ทำธุรกิจตามปกติ ซึ่งหมายถึงการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาแบบเหมาเข่งในฝั่งภาคเอกชน” นางซาแมนธา ราวิช ที่ปรึกษามูลนิธิกลาโหมแห่งประชาธิปไตยในกรุงวอชิงตันดี .ซี. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยกล่าว

การชะลอตัวในการเจาะระบบบริษัทอเมริกันโดยชาวจีนเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลง พ.ศ. 2558 ที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนตกลงว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน “จะไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาที่เปิดใช้งานทางไซเบอร์ รวมถึงความลับทางการค้าหรือข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นความลับ” เพื่อประโยชน์ทางการค้า แม้ว่าบริษัทข่าวกรองทางไซเบอร์จะรายงานถึงการชะลอตัวของการจารกรรมทางไซเบอร์โดยจีนใน พ.ศ. 2559 แต่ก็มีรายงานหลายฉบับใน พ.ศ. 2560 ออกมาว่าเหตุดังกล่าวกลับมาอยู่ในสถานการณ์รุนแรงอีกครั้ง

นอกจากนี้ จีนยังมุ่งเป้าไปยังประเทศในยุโรปตะวันตกโดยกระทำการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อปลาย พ.ศ. 2560 สำนักงานรัฐบาลกลางเยอรมันเพื่อการปกป้องรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่าหน่วยข่าวกรองจีนได้ใช้ลิงกต์อินมุ่งเป้ามาที่ชาวเยอรมันอย่างน้อย 10,000 ราย โดยเป็นไปได้ว่าจะสรรหาพวกเขามาเป็นผู้ให้ข้อมูล หนังสือพิมพ์ ซืดดอยท์เชอ ไซทุง ของเยอรมนียังรายงานว่าเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ว่าเจ้าหน้าที่จีนใช้โปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อติดต่อสมาชิกรัฐสภาเยอรมนี และเสนอเงินเพื่อแลกกับความเชี่ยวชาญและความรู้ภายใน เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะเชิญสมาชิกรัฐสภาเยอรมนีไปจีนเพื่อกดดันพวกเขาให้บอกข้อมูล

เมื่อปลาย พ.ศ. 2560 หน่วยข่าวกรองภายในประเทศเยอรมนีเผยแพร่รายละเอียดของโปรไฟล์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของจีนปลอมมาบังหน้า เพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่และนักการเมืองของเยอรมนี

หน่วยข่าวกรองดังกล่าวเตือนเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับความเสี่ยงของการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่มีค่าบนเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ “หน่วยข่าวกรองของจีนมีการดำเนินการบนเครือข่ายอย่างลิงกต์อิน และพยายามดึงข้อมูลและค้นหาแหล่งข่าวกรองในลักษณะนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว” หน่วยข่าวกรองภายในประเทศของเยอรมนีระบุในแถลงการณ์

ผู้ประกอบการในสถาบันการศึกษา

รายงานของทำเนียบขาวระบุว่า สายลับจีนสรรหานักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิในสาขาวิชาของตนอย่างแข็งขัน โดยปกติแล้ว ความพยายามดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่พนักงานที่มีความสามารถของบริษัท ที่หน่วยงานจีนต้องการซื้อตัวมาเป็นพันธมิตรหรือลงทุน แผน เทาซันด์ ทาเลนท์ส ของจีน ซึ่งเป็นโครงการสรรหาบุคลากรที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มุ่งเป้าไปที่นักวิชาการที่มีความสามารถด้านการวิจัยระดับสูงที่อาจถือครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีที่สำคัญ หรือสิทธิบัตรในสาขาเทคโนโลยี นักวิชาการมักจะได้รับการเสนอตำแหน่งที่มีรายได้ดีและมีเกียรติที่สถาบันวิจัย ห้องปฏิบัติการ หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของจีน

นอกจากนี้ จีนยังมีนักวิชาการของจีนในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และห้องปฏิบัติการของสหรัฐฯ ด้วย รายงานของทำเนียบขาวระบุว่าชาวจีนมากกว่า 300,000 คนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ หรือหางานทำที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ศูนย์นวัตกรรม โครงการบ่มเพาะ และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 25 ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของจีนมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์ รายงานระบุว่ารัฐบาลจีนจัดทำ “หลักสูตรที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของจีนเรียนรู้เทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบการทหารที่สำคัญในภายหลัง”

นายคริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยเตือนเกี่ยวกับผู้ที่อาจเป็นสายลับที่ศูนย์การเรียนรู้ของประเทศ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษา เอฟบีไอกำลังเฝ้าระวังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน นายเรย์กล่าวว่าบางสถาบันดูเหมือนจะไม่ตระหนักถึงบุคคลที่อาจสอดแนมวิทยาเขตของพวกเขา “ผมคิดว่าระดับความไร้เดียงสาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภาคการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้สร้างปัญหาของตัวเองขึ้นมา” นายเรย์กล่าว

ความกังวลในวงวิชาการไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 นายดันแคน ลูอิส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การข่าวกรองด้านความมั่นคงของออสเตรเลียกล่าวกับนักการเมืองในแคนเบอร์ราว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้อง “มีสติรับรู้อย่างมาก” เกี่ยวกับอิทธิพลต่างชาติที่มีต่อมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย

นอกจากนี้ นายลูอิสยังกล่าวด้วยว่าอำนาจต่างประเทศกำลัง “หาทางอย่างลับ ๆ เพื่อควบคุม” ความคิดเห็นของประชาชน องค์กร สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย เพื่อให้วัตถุประสงค์ทางการเมืองของประเทศตนก้าวหน้าขึ้น รอยเตอร์รายงาน

รายงานประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียอธิบายว่า ความเสี่ยงของการแทรกซึมของจีนเข้าสู่มหาวิทยาลัยรัฐหนักหนายิ่งกว่าการใช้อิทธิพลเสียอีก ความลับทางทหารอยู่ในจุดเสี่ยง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทหารกว่า 2,500 คนให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อยู่ในกลุ่มไฟว์อายส์ ไฟว์อายส์เป็นพันธมิตรแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง

ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

“นักวิทยาศาสตร์จากกองทัพปลดปล่อยประชาชนหลายสิบคนปิดบังความเกี่ยวพันทางทหารของตนเพื่อเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มไฟว์อายส์และสหภาพยุโรป รวมถึงอย่างน้อย 17 คนเดินทางไปยังออสเตรเลีย ซึ่งพวกเขาทำงานในสาขาต่าง ๆ เช่น ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียง และเทคโนโลยีนำร่อง” รายงานระบุ “ประเทศเหล่านั้นไม่ได้นับจีนเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง แต่ถือว่าจีนเป็นหนึ่งในศัตรูด้านข่าวกรองหลักของพวกเขา”

รายงานระบุว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนอธิบายถึงกระบวนการของการเก็บเกี่ยวความลับทางทหารในวงการวิชาการว่าเป็น “การเก็บดอกไม้ในต่างประเทศ มาทำน้ำผึ้งในจีน”

ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีไว้ขาย

หนึ่งในวิธีที่จีนใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยคือการให้กู้เงิน บุคคลที่ทำงานในนามของรัฐบาลจีนใช้สื่อกลางต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงการจัดหาเงินทุนระยะเริ่มต้นและแบบร่วมลงทุน โดยใช้กลยุทธ์มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงทั่วโลก

ใน พ.ศ. 2559 การเข้าซื้อกิจการคิดเป็นร้อยละ 96 ของการลงทุนของจีนในสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของคณะกรรมการทบทวนเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ และจีน ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2560 แนวโน้มดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยการเข้าซื้อกิจการคิดเป็นร้อยละ 97.6 ของการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ

ปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่กว่าคือความเต็มใจของจีนที่จะมีส่วนร่วมในข้อตกลงการระดมทุนแบบร่วมทุน ที่จัดหาเงินทุนให้กับบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นกิจการ นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2552 ซินโนเวชัน ซึ่งเป็นบริษัทระดมเงินร่วมลงทุนของจีนได้สะสมเงินทุนเป็นจำนวน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท) และลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเกือบ 300 แห่ง รวมถึง 25 แห่งที่กำลังดำเนินโครงการซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในหัวข้อ “กลยุทธ์การถ่ายโอนเทคโนโลยีของจีนว่าด้วย วิธีการลงทุนของจีนในเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้คู่แข่งเชิงกลยุทธ์เข้าถึงสุดยอดนวัตกรรมของสหรัฐฯ” ซินโนเวชันก่อตั้งขึ้นโดยนายไคฟู ลี อดีตประธานกูเกิลประเทศจีน

วิธีหนึ่งที่จีนจะได้เทคโนโลยีนี้มาคือการจับตามองศาลล้มละลายของสหรัฐฯ บริษัทต่าง ๆ ของจีนจะมุ่งเป้าไปยังบริษัทเล็ก ๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำค่า เช่น สารกึ่งตัวนำ ตามรายงานของ เนชันแนลพับลิก เรดิโอ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ จีนยังรู้ว่าการมีส่วนเข้าร่วมทุนกับบริษัทในสหรัฐฯ จะช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากคณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา

รายงานของทำเนียบขาวเตือนถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนแบบร่วมทุนของจีน “เทคโนโลยีที่จีนลงทุนอยู่ เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่เราคาดหวังว่าจะเป็นรากฐานของนวัตกรรมแห่งอนาคตในสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ ยานพาหนะอัตโนมัติ ความเป็นจริงแต่งเติมหรือความเป็นจริงเสมือน หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีบล็อกเชน” รายงานของทำเนียบขาวระบุ “นอกจากนี้ สิ่งดังกล่าวยังเป็นบางส่วนของเทคโนโลยีเดียวกันที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความสนใจ เพื่อสร้างความเหนือชั้นทางเทคโนโลยีให้กับกองทัพสหรัฐฯ ในปัจจุบัน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button