ติดอันดับ

การเสวนาเชิงวัฒนธรรมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ล้มเหลวในการผนึกพลังสามัคคีประเทศแถบอาหรับ อิหร่าน อินเดีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

การประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียครั้งที่หนึ่งของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ กรุงปักกิ่ง ไม่สามารถผนึกพลังสามัคคีในเหล่าผู้นำรวมทั้งประชาชนทั่วเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ แม้รัฐบาลจีนจะให้การตรงกันข้าม

รายงานของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยภาครัฐของจีน ระบุว่าการริเริ่มของนายสี “ในด้านอารยธรรมได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้เข้าร่วมประชุม” นายไจ๋ คุน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า “นายสีได้รับเสียงปรบมืออย่างท่วมท้นเมื่อกล่าวถึงการละทิ้งความทะนงตัวและอคติ เพื่อปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเท่าเทียม”

อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวของนายสีไม่ได้ดึงดูดความสนใจผู้นำของประเทศที่สำคัญ ๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า การกล่าวอ้างที่ว่ามุมมองด้านการปกครองของนายสีได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางนั้นไม่เป็นความจริง หนังสือพิมพ์เอเชียไทมส์รายงานว่า มีผู้นำเพียง 4 ประเทศเข้าร่วมจากทั้งหมด 47 ประเทศที่ได้รับเชิญ รายงานดังกล่าวระบุว่าผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากประเทศกัมพูชา กรีซ สิงคโปร์ และศรีลังกา

นักวิเคราะห์ระบุถึงปัจจัยหลายอย่างที่อาจเป็นเหตุให้การประชุมไม่สามารถดึงดูดหรือผนึกพลังสามัคคีในเหล่าผู้นำจากอินเดีย ประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากการกล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมที่ดูไม่จริงใจของนายสี เมื่อนึกถึงวิธีที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในประเทศจีน ที่ซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 20 ล้านคน การสร้างค่ายที่เรียกกันว่าค่ายปรับทัศนคติในภูมิภาคซินเจียงนั้น ขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดกับคำปราศรัยหลักของนายสีที่กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เคารพวัฒนธรรมของผู้อื่น

นายสก็อตต์ บัสบี รองผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเรดิโอ ฟรี เอเชีย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่า “มีประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนอยู่ในค่ายปรับทัศนคติเหล่านี้” บุคคลเหล่านี้ถูกกักขังในค่าย บางคนถูกทรมาน บางคนถูกลงโทษหรือได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม และต่ำต้อย เราทราบอีกด้วยว่ามีบางคนเสียชีวิตในค่าย เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายปรับทัศนคตินั้นเป็นสิ่งที่สะเทือนขวัญ”

แนวความคิดของการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 พฤษภาคม คือ “การแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรมเอเชีย และสังคมที่มีอนาคตร่วมกัน” ตามข้อมูลจากวรรณกรรมส่งเสริมการประชุม

การสนับสนุนพฤติกรรมต่อต้านชาวมุสลิมของจีนโดยทั่วไปและการดูหมิ่นศาสนา ขัดแย้งกับคำแถลงการณ์ในการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียของนายสี เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่ามีการทำลายมัสยิด 31 แห่งและศาลเจ้าที่สำคัญอีก 2 แห่งในภูมิภาคซินเจียงของจีนระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2561

“โชคร้ายที่สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคซินเจียงนั้น สอดคล้องกับประวัติศาสตร์การกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่ยึดอำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงให้เห็นถึงความเป็นปรปักษ์สุดขั้วต่อทุกศาสนานับตั้งแต่ยึดอำนาจ และเรื่องดังกล่าวยังคงสร้างความกังวลแก่เราเป็นอย่างมาก” นายบัสบีกล่าว

นายสี (ภาพ) กล่าวเสนอที่การประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย ว่าเพื่อ “รวม ‘รากฐานทางวัฒนธรรม’ ของสังคมที่สร้างขึ้นมาร่วมกัน พร้อมอนาคตที่มีร่วมกันของเอเชียและมนุษยชาติปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความเคารพและเท่าเทียม เห็นคุณค่าความงามของทุกอารยธรรม ยึดมั่นต่อการเปิดกว้าง ความแตกต่าง การเรียนรู้ร่วมกัน และก้าวทันโลก” ตามการรายงานของสำนักข่าวซินหัว

นักวิเคราะห์ระบุว่าจีนได้ใช้การประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียเป็นเวทีในการดำเนินการ “การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล” เพื่อส่งเสริมนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงเกี่ยวกับแรงจูงใจของการประชุมดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีน ได้รับการเปิดเผยในระดับสากลมากยิ่งขึ้นว่าเป็นรูปแบบของ “การทูตอาณานิคมแบบใหม่” ที่มักจะลงเอยด้วยการเป็นหนี้และต้อนให้ติดกับดักทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งการปรากฏตัวของจีนในระยาวมักจะเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งฐานทัพในประเทศต้นทาง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button