ติดอันดับ

การเตรียมเสบียงล่วงหน้าทำให้การบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติบนเกาะรวดเร็วขึ้น

เมื่อพูดถึงการส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติ คลังเสบียงบรรเทาทุกข์ที่พร้อมใช้งานทันทีนับว่ามีความสำคัญต่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ

เสบียงที่เตรียมไว้ล่วงหน้าในโกดังทำให้การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในอินโดแปซิฟิกรวดเร็วขึ้น โดยภูมิภาคแห่งนี้มักเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่าพื้นที่แห่งอื่น ๆ ในโลก ความร่วมมือที่รวมถึงประเทศออสเตรเลีย องค์การสหประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา มีประโยชน์ในการกำหนดความช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์ สำหรับความพยายามในการฟื้นฟูหลังจากพายุไซโคลนกีตาเข้าโจมตีตองงาเมื่อ พ.ศ. 2561 และพายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บที่ไมโครนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2562

เสบียงที่เตรียมไว้ล่วงหน้ามีความสำคัญต่อเหตุการณ์หลังพายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บ ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พัดถล่มหลายเกาะของสหพันธรัฐไมโครนีเซีย ด้วยแรงลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสิ่งของที่เก็บไว้ในโกดังซึ่งเป็นขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานในองค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย ผ้าใบกันน้ำ เชือก และเครื่องกรองน้ำระบบรีเวิร์สออสโมซิส ในช่วงต้นเดือนมีนาคม บุคลากรด้านการบรรเทาทุกข์ขนส่งเสบียงดังกล่าวด้วยเรือไปยังเกาะที่ได้รับผลกระทบ ในเดือนเมษายน องค์การสหประชาชาติได้ส่งอาหารไปยังเกาะของไมโครนีเซีย 23 แห่งซึ่งกำลังเผชิญเหตุการณ์พืชผลเสียหาย โดยได้รับเงินทุนจากสำนักงานช่วยเหลือภัยพิบัติระหว่างประเทศขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ รวมทั้งจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย

ความพยายามในการบรรเทาทุกข์ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้ส่งอาหารเพิ่มเติมเกือบ 85 ตัน เพื่อช่วยเหลือประชากร 4,327 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเก้าแห่ง รวมทั้งสิ้น 168 ตัน

“องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานกำลังร่วมมือกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ในการจัดเตรียมเสบียงบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินเพิ่มเติมในโกดังขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน” รายงานแถลงการณ์จากภารกิจไมโครนีเซียขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ระบุ “เนื่องจากความร่วมมือนี้ทำให้องค์การดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินครั้งถัดไปและส่งความช่วยเหลือด้านการรักษาชีวิตแก่ครอบครัวที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็ว”

โดยแถลงการณ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระบุเพิ่มเติมว่า เงินทุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียกับสำนักงานช่วยเหลือภัยพิบัติระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ช่วยทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้น สำนักงานช่วยเหลือภัยพิบัติระหว่างประเทศขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติมูลค่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 513 ล้านบาท) แก่ไมโครนีเซียนับตั้งแต่เหตุดินถล่มจากพายุใต้ฝุ่นหวู่ติ๊บ

พายุไซโคลนกีตาทำลายบ้านเรือนไปกว่า 800 หลัง และยังสร้างความเสียหายกับบ้านเรือนอื่น ๆ ในตองงาซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กไป 4,000 หลังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 “ชุดยังชีพเพื่อผู้หญิง” ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของเพื่อการดำรงชีวิตสำหรับดูแลสุขภาพของผู้หญิง และ “ชุดคลอดบุตรอย่างปลอดภัย” สำหรับใช้ในการให้กำเนิดบุตร รวมอยู่ในชุดบรรเทาทุกข์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ได้มีการแจกจ่ายไปยังเกาะตองงาแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ชุดสิ่งของดังกล่าวเก็บไว้ในโกดังของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียในเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย (ในภาพ) สำหรับใช้ในเหตุฉุกเฉินแบบเดียวกัน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ได้แจกจ่ายชุดสิ่งของดังกล่าวพร้อมกับเต็นท์และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ผู้หญิงที่ต้องพลัดจากบ้านเรือนมีพื้นที่ปลอดภัย โดยกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียเป็นผู้สนับสนุนโครงการริเริ่มนี้

“การจัดเตรียมเสบียงล่วงหน้าในเชิงกลยุทธ์ ช่วยให้กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติตอบสนองต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมระดับภูมิภาคได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ “ไม่เพียงในด้านของใช้ที่พร้อมใช้งานทันทีเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามในการเตรียมความพร้อมที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการตอบสนองให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

สำนักงานช่วยเหลือภัยพิบัติระหว่างประเทศขององค์กรเพื่อพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ดูแลโกดังเก็บเสบียงที่เตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับอินโดแปซิฟิกที่เมืองสุบัง ประเทศมาเลเซีย โดยกักตุนอุปกรณ์ที่พักพิงฉุกเฉิน ผ้าห่ม อุปกรณ์ระบบบำบัดน้ำและชุดอนามัยไว้

“ของใช้ที่สำคัญเหล่านี้จะสามารถถ่ายโอนไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว” สำนักงานดังกล่าวระบุในแถลงการณ์ “นอกจากนี้ สำนักงานช่วยเหลือภัยพิบัติระหว่างประเทศขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ยังร่วมมือกับประชาคมเพื่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศ จัดหาทรัพยากรแก่บุคคลที่สูญสิ้นทรัพย์สินให้สามารถตั้งตัวได้อีกครั้ง และเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินขององค์กร”

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button