เรื่องเด่น

การสู้รบทาง อากาศยานยุคที่ห้า

อากาศยานรุ่นใหม่ล่าสุดที่เป็น ข้อได้เปรียบสำหรับกองกำลังร่วม

พล.อ.ท. เจฟฟ์ แฮร์ริเจียน และ น.อ. แมกซ์ เอ็ม. มารอสโก/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

“อ ากาศยานยุคที่ห้า” กำลังได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแผ่ขยายกำลังอำนาจของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 อากาศยาน เอฟ-22 แรปเตอร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงปีท้าย ๆ ของสงครามเย็นเพื่อรับมือกับขีดความสามารถทางการสู้รบทางอากาศที่ก้าวหน้าขึ้นของโซเวียต ปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการรบของกองทัพอากาศมานานกว่าสิบปี และมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาถาวรในซีเรียเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 และการปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ตามมา

ผู้บัญชาการต่าง ๆ พบว่า อากาศยานแรปเตอร์นั้นนอกจากจะมีความเร็ว ความคล่องแคล่วและขีดความสามารถในการล่องหนแล้ว ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์โดยใช้ระบบตรวจจับสัญญาณซึ่งเป็นวิธีการที่แทบจะไม่มีใครคาดคิดถึงในช่วงระยะแรก ๆ ของโครงการเมื่อกว่าสามทศวรรษที่แล้ว ความสามารถของ เอฟ-22 ในการโจมตี การปฏิบัติการคุ้มกัน การเก็บรวบรวมและจัดการข้อมูล การส่งต่อภารกิจตามเวลาจริง และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง “ยิ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของเรา” พล.อ.อ. เฮอร์เบิร์ต “ฮอว์ก” คาร์ไลส์ ผู้บัญชาการแห่งกองบัญชาการรบทางอากาศกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เอฟ-22 ช่วยให้ทรัพยากรทุกส่วนที่ปฏิบัติการร่วมกันกับอากาศยานรุ่นนี้ทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงและเพิ่มพูนขีดความสามารถในการโจมตีโดยรวมอย่างที่อากาศยานรบรุ่นเก่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการปฏิบัติการรบทางอากาศและการปฏิบัติการร่วมทั้งหมดในอนาคต อากาศยานยุคที่ห้า “คือสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของกองทัพในความขัดแย้งในอนาคต” พล.อ.อ. คาร์ไลส์กล่าวเพิ่มเติม

อากาศยาน เอฟ-22 แรปเตอร์ ถอนตัวจากการเชื่อมต่อกับอากาศยาน เคซี-135 สแตรโตแทงเกอร์ หลังจากที่เติมน้ำมันเพื่อเข้าร่วมการฝึกต่อไป
พ.อ.ต. เบิร์ต เทรย์เนอร์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

เทคโนโลยีใน เอฟ-22 และ เอฟ-35 ทำให้อากาศยานดังกล่าวมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ความขัดแย้งที่ไม่มีใครเทียบเท่าได้ในสงครามยุคใหม่ และเครื่องมือที่มีอำนาจสังหารที่ทำให้อากาศยานทั้งสองรุ่นนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทรัพยากรยุคที่ห้าที่กองกำลังร่วมใช้ในการปฏิบัติการทำให้สหรัฐฯ “มีข้อได้เปรียบแบบอสมมาตรซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ชาติของเราได้ชัยชนะในสงคราม” พล.อ.อ. คาร์ไลส์กล่าวเพิ่มเติม

ความหมายของอากาศยานยุคที่ห้า

อากาศยานยุคที่ห้าสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมการสู้รบอย่างหนักหน่วงรุนแรง โดยมีภัยคุกคามทางอากาศและทางภาคพื้นดินที่มีขีดความสามารถสูงสุดในขณะนั้นเป็นตัวกำหนด และในพื้นที่ที่มีการคาดการณ์อย่างสมเหตุสมผลว่าจะมีการปฏิบัติการในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันอากาศยานยุคที่ห้าที่ใช้ในการปฏิบัติการประกอบด้วย เอฟ-22 แรปเตอร์ ของกองทัพอากาศ เอฟ-35บี ไลท์นิ่ง 2 ของหน่วยนาวิกโยธิน และ เอฟ-35เอ ของกองทัพอากาศ

อากาศยานยุคที่ห้ามีลักษณะเฉพาะหลายประการที่แตกต่างจากอากาศยานยุคก่อน ๆ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ของการออกแบบที่ทำให้ตรวจพบได้ยาก (เช่น ระบบเรดาร์ เครื่องตรวจจับอินฟาเรด และเครื่องมือเฝ้าระวังสถานการณ์ที่แสดงภาพให้เห็นได้ เป็นต้น) รวมถึงขีดความสามารถในการป้องกันตนเองและการรบกวนระบบเรดาร์เพื่อถ่วงเวลาหรือขัดขวางระบบที่ข้าศึกใช้ในการตรวจจับ ติดตามและต่อสู้กับอากาศยาน อากาศยานเหล่านี้ยังติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์ซึ่งเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมอากาศยานและการสื่อสาร ที่สามารถประสานข้อมูลและจัดลำดับความสำคัญของเครื่องตรวจจับสัญญาณแบบหลายช่วงคลื่นของอากาศยานและข้อมูลจากภายนอกได้ด้วยตนเอง เพื่อให้นักบินมองเห็นภาพการปฏิบัติการที่แม่นยำตามเวลาจริง และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์หลังภารกิจ ระบบตรวจสอบภายในอากาศยานจะช่วยในการติดตามสถานภาพของอากาศยานอย่างเคร่งครัด การรายงานความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นอย่างแม่นยำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความน่าเชื่อถือของระบบโดยรวม

การสื่อสารที่มีความยืดหยุ่น การนำร่อง ตลอดจนเครื่องมือและเทคนิคในการพิสูจน์ทราบต่าง ๆ คือลักษณะเฉพาะที่สำคัญยิ่งของอากาศยานยุคที่ห้า ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านความพยายามของข้าศึกที่จะรบกวน ขัดขวางหรือสร้างความสับสนต่อขีดความสามารถที่สำคัญยิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ อากาศยานยุคที่ห้ายังมีการติดตั้งเครือข่ายที่แข็งแกร่งที่เชื่อมต่อกับอากาศยานแต่ละลำเพื่อให้กองกำลังพันธมิตรมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของยุทธบริเวณได้อย่างละเอียดแม่นยำ อากาศยานดังกล่าวและโครงสร้างระบบย่อยต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างผสมผสานและสอดคล้อง และมีความประณีตซับซ้อนกว่าอากาศยานยุคเก่าอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มอำนาจการสังหารและความอยู่รอดให้อยู่ในระดับสูงสุด และทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่ดีกว่าด้วยการลดการปฏิบัติของนักบิน ประสิทธิภาพที่ได้จากเครื่องมือดังกล่าวทำให้ผู้ปฏิบัติการของอากาศยานขั้นสูงเหล่านี้กลายเป็นผู้บัญญาชาการภารกิจโดยไม่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการจัดการและการดูแลระบบย่อย

แม้จะมีขีดความสามารถ แต่อากาศยานยุคที่ห้าก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฝูงรบของกองทัพอากาศในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของโครงสร้างหลักของอากาศยานกองทัพอากาศสหรัฐฯ คือ 27 ปีและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การพัฒนากองกำลังเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดให้มีความทันสมัยด้วยการนำอากาศยานยุคที่ห้ามาใช้อย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการสู้รบอันต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองสามประการดังต่อไปนี้

ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการยุคใหม่ มีขอบเขตการทำงานที่อากาศยานยุคที่สี่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือแม้แต่หวังว่าจะอยู่รอด

อากาศยานที่สร้างภัยคุกคาม ขีปนาวุธที่ยิงจากอากาศสู่อากาศ การโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบป้องกันทางอิเล็กทรอนิกส์มีความก้าวหน้ามากกว่าขีดความสามารถของเครื่องบินขับไล่ยุคที่สี่ของสหรัฐฯ

อากาศยานยุคที่ห้าทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายกว่าในยามสงคราม ทำให้สหรัฐฯ มีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเหนือกว่าภัยคุกคามที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น และเป็นปัจจัยทวีกำลังรบโดยการเพิ่มการเฝ้าระวังสถานการณ์และการเพิ่มประสิทธิภาพในการสู้รบให้กับอากาศยานที่ตกทอดมาจากยุคก่อน

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการยุคที่ห้า

ขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพ เช่น อากาศยานยุคที่ห้า เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น และต้องใช้อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการ เตรียมความพร้อมที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ปฏิบัติการได้อย่างดีที่สุดและส่งเสริมการปฏิบัติการร่วมให้ดำเนินไปอย่างเต็มความสามารถ เพื่อบรรลุความสำเร็จในการใช้งานอากาศยานยุคที่ห้า บุคลากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานยุคนี้และการใช้ขีดความสามารถเหล่านี้ ตลอดจนลูกเรือ บุคลากรด้านการบำรุงรักษาและการสนับสนุนจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมที่สุดเพื่อความมั่นใจว่าจะทำปฏิบัติการรบที่มีประสิทธิภาพ

ทหารอากาศจะต้องเข้าใจธรรมชาติของอากาศยานของตนและวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่อาจต้องเผชิญ บุคลากรเหล่านี้จะต้องทำการฝึกในสถานการณ์ที่ต้องทุ่มเทการทำงานมากที่สุดร่วมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาและอากาศยานของข้าศึก และหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ พันธมิตรและประเทศที่ให้ความร่วมมือจะต้องพัฒนากลยุทธ์ที่ประกอบไปด้วยแผนการที่สามารถปฏิบัติได้และสอดคล้องกับงบประมาณ เพื่อให้สามารถฝึกได้อย่างเพียงพอที่จะต่อสู้กับขีดความสามารถขั้นสูงของฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามจากอากาศสู่อากาศ จากพื้นสู่อากาศ และภัยคุกคามทางอวกาศและไซเบอร์) แผนการและการเตรียมความพร้อมเหล่านี้จะต้องมีการผสมผสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างสถานการณ์ฝึกในสภาพแวดล้อมจริง การฝึกในสภาพแวดล้อมจำลอง และการฝึกในระบบเสมือนจริงภายใต้สภาพแวดล้อมจำลอง การฝึกเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อต้องปฏิบัติงานร่วมกับอากาศยานยุคที่ห้า เพราะต้องใช้การฝึกกับอุปกรณ์จำลองการบินมากกว่าเมื่อเทียบกับอากาศยานรุ่นเก่า จากแนวโน้มทางด้านงบ

ประมาณของกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน กองทัพสหรัฐฯ จะยิ่งต้องพึ่งพาการฝึกแบบผสมผสานดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อฝึกซ้อมในสถานการณ์จำลองการรบที่สมจริงที่มีความชัดเจนและแม่นยำขึ้น ด้วยระดับการฝึกที่มากกว่าการฝึกกับอากาศยานยุคก่อน อุปกรณ์จำลองการบินยุคที่ห้าจะต้องให้การฝึกที่สมจริงที่สอดคล้องกับการทำงานของอากาศยานตามเวลาที่เหมาะสม มีความชัดเจนและแม่นยำเพียงพอเพื่อความสมจริงและมีการเชื่อมโยงที่เหมาะสมกับทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อการฝึกที่สมจริง

นอกจากผู้ปฏิบัติการแล้ว บุคลากรด้านการบำรุงรักษาจะต้องได้รับการฝึกมากขึ้นเพื่อให้พร้อมที่จะก้าวทันเทคโนโลยีของอากาศยานยุคที่ห้าและคุณสมบัติเฉพาะที่สำคัญในด้านการส่งคลื่นเรดาร์ต่ำ

เพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการอยู่รอดเมื่อต้องรับมือกับระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาของฝ่ายตรงข้าม คุณสมบัติเฉพาะต่าง ๆ ของอากาศยานยุคที่ห้าจะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างจริงจังมากพอ ๆ กับการตรวจสอบโครงสร้างหลักของอากาศยานและตารางการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ผู้บัญชาการต่าง ๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจัดหาทรัพยากรการฝึกที่เพียงพอสำหรับองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากขีดความสามารถเฉพาะที่อากาศยานเหล่านี้นำมาสู่สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติการ บุคลากรทุกคนจะต้องผ่านการฝึกเพื่อให้เข้าใจความสำคัญของข้อกำหนดด้านความปลอดภัยเฉพาะสำหรับเครื่องบินยุคที่ห้า นับตั้งแต่การเสริมสร้างความปลอดภัยทางกายภาพและมาตรฐานทางไซเบอร์ ไปจนถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้องขีดความสามารถที่เป็นความลับกับการฝึกที่สมจริง บุคลากรจะต้องตระหนักถึงความสำคัญและปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการปฏิบัติการในแต่ละวัน ตลอดจนการฝึกและการปฏิบัติการรบของพันธมิตร แนวร่วมและหุ้นส่วน ในท้ายสุด ผู้บัญชาการและบุคลากรสนับสนุนจะต้องเข้าใจระบบการดำรงความต่อเนื่องโดยรวมของอากาศยานยุคที่ห้าทั้งในที่ตั้งปกติและในระหว่างออกปฏิบัติการ ผู้บัญชาการควรพิจารณาและติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของภัยคุกคามอย่างแข็งขัน และผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงการปฏิบัติการของอากาศยานยุคที่ห้า

กำลังอำนาจทางอากาศและข้อมูลของอากาศยานยุคที่ห้า

อากาศยานยุคที่ห้านำมาซึ่งขีดความสามารถที่น่าทึ่งในการสู้รบ แต่ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ต้องพึ่งพาข้อมูลมากที่สุดในคลังยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ กลไกเหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ลูกเรือและอากาศยานรุ่นที่ห้าต้องพึ่งพาแฟ้มข้อมูลภารกิจเพื่อใช้งานระบบภายในอากาศยานเพื่อจะสามารถจำแนกระบบของฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายที่เป็นกลางและฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักบินของอากาศยานยุคที่ห้าสามารถเพิ่มระดับการอำพรางหรือการจัดการกับคุณสมบัติเฉพาะในเรื่องการตรวจจับได้ยาก เพื่อให้อากาศยานสามารถอยู่รอดได้และดำรงการเฝ้าระวังสถานการณ์ในเหตุการณ์การสู้รบแม้ในขณะที่กำลังปฏิบัติการในบริเวณใกล้เคียงกับภัยคุกคามขั้นสูง ทั้งกองทัพอากาศสหรัฐฯ เหล่าทัพอื่น ๆ พันธมิตรและชุมชนข่าวกรองมีบทบาทสำคัญในการจัดทำและปรับปรุงแฟ้มข้อมูลเหล่านี้ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ข้อมูลภารกิจนี้ไม่เพียงแต่จะจำเป็นต่อการปฏิบัติการภายในอากาศยานเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีขีดความสามารถที่ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของอากาศยานยุคที่ห้าสื่อสารกับอากาศยานลำอื่น ๆ ในเรื่องผลการตรวจจับสัญญาณที่ได้รับการประสานข้อมูลแล้วไปสู่ระบบภายนอกที่เชื่อมต่อกัน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมการปฏิบัติการเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในอนาคต การใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถเฉพาะในการเก็บรวบรวมข้อมูลของอากาศยานยุคที่ห้าในเวลาใกล้เคียงกับเวลาจริงจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากชึ้นเรื่อย ๆ ในการปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามที่ซับซ้อนมากขึ้น

เพื่อให้บรรลุบูรณาการของระบบการรบที่แท้จริง ข้อมูลที่มีการประสานจากระบบตรวจจับนี้จะต้องเชื่อมโยงกับกองกำลังอากาศยานรุ่นเก่าที่มีขนาดใหญ่กว่ามากของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และเลือกสถานีเชื่อมโยงการบังคับบัญชาและการควบคุมผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลและโครงสร้างการสื่อสารแบบกลุ่มเมฆ เมื่อมีการเชื่อมโยงข้อมูลนี้กับกองกำลังทั้งหมด ก็จะสามารถกำหนดภาพรวมเกี่ยวกับเป้าหมายและการปฏิบัติการที่ผู้บัญชาการและผู้มี

สถานการณ์ปี พ.ศ. 2569 การครอบครองข้อได้เปรียบ

หนึ่งในวิกฤตการณ์เหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2569 กองทัพอากาศสหรัฐฯ นำกองกำลังผสมระหว่างอากาศยานยุคก่อนและอากาศยานยุคที่ห้าออกปฏิบัติการในพื้นที่ ในการตอบสนองต่อความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่สำคัญนอกประเทศ อากาศยานที่ประจำการอยู่ในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ ได้ถูกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับทรัพยากรอื่น ๆ ทันใดนั้น การโจมตีทางไซเบอร์ที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้สนับสนุนก็พยายามมุ่งเป้าไปที่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความลับที่สนับสนุนการปฏิบัติการของอากาศยานยุคที่ห้า รวมทั้งระบบข้อมูลการส่งกำลังบำรุงอัตโนมัติของอากาศยาน เอฟ-35 แต่ก็ถูกขัดขวางได้สำเร็จด้วยขีดความสามารถทางด้านการป้องกันทางไซเบอร์และการสำรองระบบ

ขณะที่อากาศยานยุคที่ห้าที่ประจำการอยู่ในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ เตรียมพร้อมสำหรับภารกิจการสู้รบในอนาคต ฝูงบินอากาศยานยุคที่ห้าหลายฝูงได้ออกปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็วและกระจายกำลังไปตามสนามบินของทหารและพลเรือนหลายแห่ง โดยกำหนดให้ในแต่ละพื้นที่มีกองกำลังไม่เกินหนึ่งฝูงบิน ด้วยวิธีนี้ ผู้วางแผนของฝ่ายตรงข้ามจะไม่สามารถใช้ขีปนาวุธหรือขีปนาวุธร่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อ “ชิงโจมตี” อากาศยานที่ส่งออกไปที่ส่วนหน้า และภารกิขของอากาศยานยุคที่ห้าก็จะดำเนินต่อไปโดยได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แม้ว่าสนามบินนอกประเทศบางแห่งจะมีระบบนำร่องหรือหอบควบคุมการจราจรทางอากาศ แต่ภายในปี พ.ศ. 2569 นักบินของอากาศยาน เอฟ-35 และ เอฟ-22 จะมีความเชี่ยวชาญการปฏิบัติการโดยอิสระในทุกสภาพอากาศ (เช่น การลงจอดในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยโดยใช้ระบบตรวจจับของอากาศยานเพื่อค้นหาทางวิ่งเครื่องบิน) ซึ่งจะช่วยลดจำนวนบุคลากรและยุทโธปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติการ และสามารถลงจอดที่สนามบินต่าง ๆ ได้หลายแห่งมากยิ่งขึ้น

อากาศยาน เอฟ-22 แรปเตอร์ มีระบบตรวจจับสัญญาณที่ซับซ้อนที่ช่วยให้นักบินสามารถติดตาม พิสูจน์ทราบเป้าหมาย ยิงและทำลายภัยคุกคามทางอากาศก่อนที่จะถูกตรวจพบ
จ.อ.อ. เบน บล็อกเกอร์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

เมื่อปฏิบัติการสู้รบเริ่มต้นขึ้น อากาศยานยุคที่ห้าของกองทัพสหรัฐฯ (ทั้งที่ประจำการอยู่ในภาคพื้นทวีปสหรัฐฯ และพื้นที่ส่วนหน้า) ตลอดจนอากาศยาน เอฟ-35 จากประเทศพันธมิตรผนึกกำลังและปฏิบัตการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในห้วงแรกของการปฏิบัติการ ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาและการวางแผนด้านการรักษาความมั่นคง การบำรุงรักษา การส่งกำลังบำรุงและการบังคับบัญชาและการควบคุมที่กระทำไว้ก่อนหน้า ไม่มีเรื่องที่ผิดคาดเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงหลายระดับในการปฏิบัติการ เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯ ได้สร้างความสัมพันธ์ที่โปร่งใสกับแนวร่วมและพันธมิตรที่สำคัญมาเป็นเวลาหลายปี

ในช่วงเริ่มต้นการปฏิบัติการ การสู้รบจะมุ่งเน้นที่การชิงความได้เปรียบทางอากาศเมื่ออากาศยานของทั้งสองฝ่ายเข้าสู่การปะทะเหนือดินแดนที่มีความขัดแย้งกันอยู่ กองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรต้องเผชิญกับเรดาร์หนักและการรบกวนการสื่อสาร แต่อากาศยานยุคที่ห้าใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการตรวจจับแบบหลายช่วงคลื่นของตนในการตรวจจับและโจมตีอากาศยานของข้าศึก พร้อมกับให้การสนับสนุนทางด้านภาพรวมการปฏิบัติการผ่านทางระบบเชื่อมโยงข้อมูลและระบบสื่อสาร แม้อากาศยานรุ่นก่อนจะปฏิบัติห่างจากภัยคุกคามที่มีอันตรายมากที่สุด แต่อากาศยานเหล่านี้ก็ดำรงการป้องกันที่สำคัญที่สุดในเชิงลึกเป็นลำดับชั้นสำหรับการปฏิบัติการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ในวันแรก ๆ ของความขัดแย้ง อากาศยาน เอฟ-35 บินกลับไปยังฐานทัพเป็นครั้งคราว แต่พบว่าฐานทัพหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของข้าศึก เอฟ-35 จึงย้ายไปลงจอดที่สนามบินพลเรือนที่อยู่ใกล้เคียงตามแผนเผชิญเหตุ และใช้กระบวนการผลัดเปลี่ยนนักบินเพื่อนำอากาศยานไปยังพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านี้ทำการสู้รบได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าสนามบินจะถูกโจมตีอย่างหนัก ตัวอย่างหนึ่งก็คือ อากาศยาน เอฟ-35 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จำเป็นต้องลงจอดที่ฐานทัพอากาศ เอฟ-35 ของออสเตรเลียเพื่อทำการฟื้นฟูหลังจากที่มีการทำงานที่ผิดปกติในระหว่างบิน ทำให้ไม่สามารถบินกลับไปยังฐานที่ตั้งเดิมก่อนออกปฏิบัติการ ช่างซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศออสเตรเลียสามารถซ่อมแซม ติดอาวุธใหม่และเติมเชื้อเพลิงให้กับ เอฟ-35 ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนการบำรุงรักษาและการฟื้นฟูคล้ายกันกับการปฏิบัติของสหรัฐฯ เอฟ-35 จึงสามารถกลับไปร่วมการปฏิบัติการได้ใหม่ในวันถัดไป

นอกจากนี้ ในห้วงแรกของความขัดแย้ง อากาศยานของพลเรือนหลายลำได้รับความเสียหายในช่วงที่สนามบินถูกโจมตี ทำให้การปฏิบัติการส่งกำลังบำรุงทางพาณิชย์ต้องหยุดชะงัก เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ได้มีการเชื่อมโยงช่องทางการส่งกำลังของพลเรือนและทหารตามแผนเผชิญเหตุเพื่อจะสามารถจัดส่งอะไหล่ อาวุธและเชื้อเพลิงไปยังสนามบินในที่ต่าง ๆ ทำให้พื้นที่เหล่านี้ยังดำรงอยู่ได้หลายสัปดาห์จนกว่าขีปนาวุธและขีปนาวุธร่อนของข้าศึกจะหมดลงหรือถูกทำลาย

ในขณะที่การปฏิบัติดำเนินต่อไป พบว่ามีเพียงอากาศยานล่องหนอย่าง เอฟ-22, เอฟ-35, บี-2 และบี-21 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติการได้เหนือดินแดนที่มีความขัดแย้งเนื่องจากฝ่ายตรงข้ามได้ใช้ขีปนาวุธเคลื่อนที่ที่ยิงจากพื้นสู่อากาศขั้นสูงจำนวนมาก อากาศยานยุคที่ห้าสามารถทำลายภัยคุกคามทางอากาศได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากอากาศยานยุคก่อนหน้านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศที่มีอำนาจสังหารและเคลื่อนที่ได้ไกล โชคดีที่เอฟ-35 ใช้ขีดความสามารถในการระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ขั้นสูงร่วมกับคุณสมบัติเฉพาะด้านการล่องหนและเครื่องมือการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ในการทำลายขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ ทำให้การปฏิบัติการร่วมสามารถเพิ่มการปฏิบัติการที่เป็นอิสระได้อย่างมั่นคง

แม้ว่าศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางอากาศจะถูกโจมตีอย่างหนักทั้งในทางปฏิบัติการและทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้บัญชาการทหารทางอากาศก็ยังสามารถบังคับบัญชาและควบคุมหน่วยอากาศยานยุคก่อนและยุคที่ห้าได้โดยใช้กระบวนการกระจายอำนาจการบังคับบัญชาและควบคุมที่วางแผนไว้ล่วงหน้าที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้กองกำลังทั้งหมดสามารถปฏิบัติการได้แม้ในยามที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางอากาศใช้การไม่ได้ กระบวนการเหล่านี้ต้อ

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกใน เดอะมิตเชลล์ ฟอรัม ในชุดบทความสั้น และมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม ครั้งนี้ โดยได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากสถาบันเพื่อการศึกษาด้านการบินและอวกาศมิตเชลล์ เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย


การเคลื่อนที่แบบล่องหน

การลงทุนในอากาศยานยุคที่ห้าในอินโดเอเชียแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกกำลังอยู่ในระหว่างการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหรือจัดซื้ออากาศยานรบ “ยุคที่ห้า” เพื่อให้มีความได้เปรียบทางอากาศ
ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้อากาศยานยุคที่ห้าสองรุ่นคือ เอฟ-22 แรปเตอร์ และเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม เอฟ-35 ชาติต่าง ๆ ในอินโดเอเชียแปซิฟิกก็กำลังลงทุนและสร้างอากาศยานเพื่อให้มีขีดความสามารถที่เท่าเทียม และในหลาย ๆ กรณีก็คือการร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ

พล.อ.ท. เทอร์เรนซ์ โอชอห์เนสซี ผู้บัญชาการกองทัพอากาศที่ 7 กองกำลังสหรัฐฯ ประจำเกาหลีในขณะนั้น (ซ้าย) จับมือกับ พล.อ.ท. วัง กึน ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี หน้าเครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-22 ที่ฐานทัพอากาศโอซานในเมืองเปียงเต็ก ประเทศเกาหลีใต้ รอยเตอร์

อากาศยานเหล่านี้ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีล่องหน ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและระบบตรวจจับขั้นสูง และยังมีราคาแพงเกินไปสำหรับประเทศเล็ก ๆ บางประเทศ ผู้จัดการโครงการของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เอฟ-35เอ ซึ่งเป็นอากาศยานรุ่นที่เป็นทางเลือกของกองทัพอากาศ มีราคาประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อลำ (หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาท) แต่ราคาที่สูงลิ่วนี้ก็ไม่ได้ทำให้บรรดาประเทศในอินโดเอเชียแปซิฟิกที่มีงบประมาณทางทหารแน่นหนาเกิดความย่อท้อ

ออสเตรเลีย

กองทัพอากาศออสเตรเลียได้ตกลงใจที่จะจัดซื้ออากาศยาน เอฟ-35 จำนวน 72 ลำ สำหรับสามฝูงบินเพื่อประจำการแทนฝูงบิน เอฟ/เอ-18 ฮอร์เน็ต บริษัทล็อกฮีด มาร์ตินได้ส่งมอบอากาศยานสองลำแรกให้กับออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2557 กองทัพอากาศออสเตรเลียระบุว่าจะมีการจัดส่งเครื่องบินเพิ่มในปี พ.ศ. 2561 และฝูงบินแรกจะพร้อมปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2564 คาดว่าอากาศยานทั้ง 72 ลำจะพร้อมปฏิบัติการภายในปี พ.ศ. 2566 ตามที่ระบุในเว็บไซต์ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย

ออสเตรเลียอาจเพิ่มฝูงบินที่สี่ซึ่งจะทำให้มีอากาศยาน เอฟ-35 ทั้งสิ้น 100 ลำ แต่การเพิ่มจำนวนอากาศยานดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ กล่าวว่า การจัดซื้อเอฟ-35 โดยออสเตรเลียและพันธมิตรรายอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิกจะทำให้เกิดกองกำลังรบที่มีอำนาจการสังหารและมีการป้องปรามที่แข็งแกร่งต่อความขัดแย้งทางอาวุธ

“ตามสมมุติฐานนั้น ศักยภาพของเราในการใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของอากาศยานยุคที่ห้าของประเทศพันธมิตรต่าง ๆ จะยิ่งทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีการปฏิบัติการรบที่มีอำนาจการสังหาร” น.อ. แม็กซ์ มารอสโก ซึ่งเป็นนักบิน เอฟ-22 แรปเตอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และรองผู้อำนวยการการปฏิบัติการทางอากาศและพื้นที่ไซเบอร์แห่งกองบัญชาการกองทัพอากาศแปซิฟิกในรัฐฮาวายกล่าว

กองกำลังที่ประสานกันและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยให้พันธมิตรสามารถ “พึ่งพาอำนาจการสังหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดระยะเวลาในการปฏิบัติการรบหากความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงระดับนั้น” พ.อ.อ. มารอสโกกล่าว

จีน

จีนกำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าสองรุ่น อากาศยาน เจ-20 ของเฉิงตู แอโรสเปซ คอร์เปอเรชัน คือ เอฟ-22 แรปเตอร์ในแบบของจีน อากาศยานนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีความได้เปรียบทางอากาศ ตามรายงานของ เดอะดิโพลแมต ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ อากาศยาน เอฟ-35 ในแบบของจีนคือ เสิ่นหยาง เจ-31 ซึ่งจะให้การสนับสนุนทางอากาศระยะใกล้ ทิ้งระเบิดทางอากาศ และยับยั้งการป้องกันทางอากาศของฝ่ายข้าศึก

คาดการณ์ว่า อากาศยาน เจ-20 จะพร้อมปฏิบัติการภายในปี พ.ศ. 2561 และ เจ-31 ภายในปี พ.ศ. 2563

เจ้าหน้าที่อเมริกันบางรายตั้งข้อสงสัยว่า ข้อมูลราชการลัลของการสร้างเครื่องบินขับไล่เหล่านี้อาจถูกขโมยไปจากสหรัฐฯ เพราะดูเหมือนจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้

เทคโนโลยีการลอกเลียนแบบของจีน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 วุฒิสมาชิก โจ แมนชิน จากรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ได้ตั้งข้อสังเกตในระหว่างการให้การต่อเจ้าหน้าที่กองบัญชาการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า อากาศยาน เจ-20 นั้นมีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับ เอฟ-22 และอากาศยาน เจ-31 ก็คล้ายคลึงกับ เอฟ-35

หกเดือนต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 นักธุรกิจชาวจีนรายหนึ่งได้สารภาพว่าตนเป็นผู้ร่วมสมคบคิดในการเจาะระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบริษัทรับจ้างทางการทหารของสหรัฐฯ เพื่อขโมยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการของกองทัพ นายซู บิน วัย 50 ปี ยอมรับว่าได้สมคบคิดกับแฮกเกอร์ที่ไม่ระบุชื่อสองรายในประเทศจีนเพื่อจัดส่งข้อมูลทางทหารของสหรัฐฯ ไปยังประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แห่งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2551 ถึง 2557 ดังที่ระบุในข้อตกลงการรับสารภาพของรัฐบาลกลาง ชายกลุ่มนี้มุ่งเป้าที่เครื่องบินขับไล่ไอพ่น เช่น เอฟ-22 และ เอฟ-35 นายซูถูกตัดสินจำคุกเกือบสี่ปีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ตามรายงานของ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

อินเดีย

อินเดียกำลังพยายามเจรจาข้อตกลงกับรัสเซียในการออกแบบและผลิตเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าลำใหม่ซึ่งอินเดียเรียกว่า เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ออฟ อินเดีย

นอกเหนือจากการเร่งมือเพื่อออกแบบและผลิตเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แล้ว อินเดียยังต้องการที่จะพัฒนาฝูงเครื่องบินขับไล่ ซุคฮอย-30 เอ็มเคไอ ของตนที่มีอยู่ 272 ลำ ให้เป็น “ซูเปอร์ ซุคฮอย” ภายในปี พ.ศ. 2560 อินเดียมีแผนที่จะติดตั้งระบบอาวุธใหม่ให้กับอากาศเหล่านี้และเพิ่มระบบเอวิโอนิกส์ขั้นสูง ตามรายงานของ เดอะดิโพลแมต แม้การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้อากาศยานมีขีดความสามารถของยุคที่ห้าบางประการ แต่ซูเปอร์ ซุคฮอย ก็ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นอากาศยานยุคที่ห้าอย่างแท้จริง

เพราะอากาศยานเหล่านี้ยังคงขาดลักษณะเฉพาะของอากาศยานยุคที่ห้าบางประการ ซึ่งรวมถึงช่องเก็บอาวุธภายในตัวเครื่องที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการล่องหน

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นวางแผนที่จะจัดซื้ออากาศยาน เอฟ-35 จำนวน 42 ลำ ในจำนวนนี้ 38 ลำจะผลิตขึ้นที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น อากาศยานสี่ลำแรกถูกสร้างขึ้นที่เมืองฟอร์ตเวิร์ท รัฐเท็กซัส ญี่ปุ่นได้รับอากาศยาน เอฟ-35 ลำแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ในระระหว่างพิธีส่งมอบที่สหรัฐฯ และจะเข้าประจำการในฝูงบินของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศแห่งประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าของตนเองเพื่อแสวงข้อได้เปรียบทางอากาศเพื่อประจำการแทน เอฟ-15 ที่ใช้งานมานานแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button