ติดอันดับ

การลงทุนของจีนในตองงาคุกคามอนาคตของประเทศในแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ข้อเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวนหลายล้านดอลลาร์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอให้กับตองงา อาจสร้างปัญหาให้ประเทศในแปซิฟิกแห่งนี้ นักวิเคราะห์บางรายกล่าว

ประเทศตองงา ราชอาณาจักรหมู่เกาะกว่า 170 เกาะในพอลินีเชีย แปซิฟิกใต้ เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนมูลค่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 พันล้านบาท) แล้ว ซึ่งเทียบเท่าร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ตอนนี้ จีนได้ยื่นข้อเสนอเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการสร้างเมืองนูคูอะโลฟา ซึ่งถูกทำลายจากกลุ่มผู้ก่อจลาจลใน พ.ศ. 2549 ขึ้นมาใหม่

นายอาเธอร์ คัลวาเฮาส์ จูเนียร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกคำเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “การทูตแบบสินเชื่อเงินด่วน”

“เงินเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจและจ่ายให้ล่วงหน้าได้ง่าย แต่คุณควรอ่านรายละเอียดให้ดี” นายคัลวาเฮาส์กล่าวกับแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

หลาย ๆ ฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากับดักหนี้อาจเป็นการตัดกำลังตองงา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วต่อภัยธรรมชาติอันมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีความสามารถน้อยในการชำระคืนเงินกู้ให้กับจีน เช่น เมื่อศรีลังกาไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ให้กับจีน รัฐบาลของศรีลังกาถูกบังคับให้มอบอำนาจการควบคุมท่าเรือแฮมบันโตตา ซึ่งเป็นโอกาสให้จีนมีฐานในเชิงยุทธศาสตร์ใกล้กับอินเดียมากยิ่งขึ้น

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ จีนเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายอิทธิพลไปทั่วประเทศต่าง ๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาต่อต้านความทะเยอทะยานของจีนโดยการเพิ่มและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหลายประเทศร่วมกัน เพื่อให้หมู่เกาะแปซิฟิกมีทางเลือกในการเป็นพันธมิตรอย่างโปร่งใสมากขึ้น

“ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจีนต้องการอะไรในแปซิฟิกใต้” นายรอรี เมดคาล์ฟ หัวหน้าภาคแห่งวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวกับแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “เป็นที่ชัดเจนว่าจีนกำลังมีบทบาทอย่างมาก และทำให้โลกรับรู้ถึงการเข้ามาในภูมิภาคนี้”

อย่างไรก็ตาม นายเมดคาล์ฟคาดการณ์ว่าฐานทัพเชิงยุทธศาสตร์ในแปซิฟิกอาจเป็นที่มั่นด้านความมั่นคงให้กองทัพเรือจีน ซึ่งปัจจุบันต้องล่องเรือผ่านหมู่เกาะในญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง เพื่อเข้าไปยังแปซิฟิก

แรงจูงใจอื่นที่เป็นไปได้เบื้องหลังการเคลื่อนไหวในแปซิฟิกของจีน อาจรวมถึงการเข้าถึงได้มากขึ้นด้านการประมง แร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ของภูมิภาค รวมทั้งการพยายามบั่นทอนการสนับสนุนและยอมรับของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกหลายประเทศรวมถึงตองงา ที่มีให้แก่ไต้หวัน นายเมดคาล์ฟกล่าวกับแอสโซซิเอทเต็ด เพรส นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ให้ความเห็นว่าจีนยังอาจพยายามลงชิงคะแนนเสียงในสมัชชาสหประชาชาติ เนื่องจากกลุ่มประเทศอธิปไตยในหมู่เกาะแปซิฟิกสามารถออกเสียงได้อย่างเท่าเทียมกันในที่ประชุม

จีนให้เงินทุนช่วยเหลือและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) แก่ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ซึ่งมากกว่าประเทศใด ๆ ยกเว้นออสเตรเลีย ตามการวิเคราะห์โดยสถาบันโลวีซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของออสเตรเลีย ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีข้อผูกพันในอนาคตรวมอยู่ด้วย แอสโซซิเอทเต็ด เพรสรายงาน

ผู้อพยพชาวจีนได้ดำเนินกิจการร้านขายของชำส่วนใหญ่บนเกาะตองงาแล้ว โดยขายสินค้านำเข้า ตามการรายงานของแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ตอนนี้ ชาวตองงากังวลว่าชาวจีนจะขยายกิจการเข้าสู่การเกษตรและการก่อสร้าง ซึ่งจะยิ่งจำกัดตัวเลือกที่มีน้อยอยู่แล้วของคนท้องถิ่นในการหารายได้เพื่อความอยู่รอด และทำให้วัฒนธรรมชาวตองงาเจือจางลง

นางโอลา โคโลอิ ผู้ดำเนินธุรกิจที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในตองงากล่าวกับแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ว่าร่องรอยของจีนรุกรานเข้ามามากเกินไปแล้ว ซึ่งส่งผลต่อสิ่งที่เธอสามารถซื้อได้เนื่องจากสินค้ามากมายที่ขายในตองงานั้นมาจากจีน โดยกล่าวว่า ชาวตองงาทุกคนควรเป็นกังวลถึงเงินกู้ของจีนเหล่านี้

“ฉันรู้สึกเหมือนว่าในอีกไม่นานฉันจะกลายเป็นชาวจีน” นางโคโลอิกล่าวกับแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

(ภาพ: สมเด็จพระราชาธิบดีตู่เปาที่ 6 แห่งตองงา (ซ้าย) จับมือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หลังจากพิธีลงนามที่ศาลาประชาคมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 ในกรุงปักกิ่ง)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button