เรื่องเด่น

การรักษา สันติภาพ

ศรีลังกาก้าวขึ้นมาในฐานะผู้รักษาสันติภาพระดับโลก พล.ท. มาเฮช เสนานายาเกะ ผู้บัญชาการกองทัพบกกล่าวกับ ฟอรัม

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

นายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกาแต่งตั้งพล.ท. มาเฮช เสนานายาเกะเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พล.ท. เสนานายาเกะได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโทอีกด้วย

พล.ท. เสนานายาเกะเข้าร่วมปฏิบัติการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่กองกำลังเพื่อความมั่นคงศรีลังกามีส่วนร่วม โดยใช้เวลาต่อสู้ถึง 30 ปี พล.ท. เสนานายาเกะได้รับการยอมรับในด้านความกล้าหาญและวีรกรรมในการเผชิญหน้ากับศัตรู สำหรับการรับใช้ชาติ พล.ท. เสนานายาเกะได้รับรางวัลรานา วิครามา ปาดักคามา สำหรับการกระทำส่วนตัวอันกล้าหาญและวีรกรรมในการต่อสู้ที่ดำเนินตามความคิดริเริ่มของผู้รับใช้ชาติคนหนึ่ง รางวัลรานา โซโอรา ปาดักคาเม หลายครั้งสำหรับการกระทำส่วนตัวที่โดดเด่นในการเผชิญหน้ากับศัตรูระหว่างการส่งกำลัง และรางวัลอุทธามะ เสวา ปาดักคมา สำหรับการทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการรับใช้ชาติต่อเนื่องอย่างน้อย 15 ปีอย่างมีระเบียบวินัยและประวัติการปฏิบัติงานที่สมบูรณ์แบบ

พล.ท. เสนานายาเกะจบการศึกษาจากวิทยาลัยอนันดาในโคลอมโบ และสมัครเป็นทหารในกองทัพบกศรีลังกาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 หลังจบการฝึกเรียบร้อยแล้ว ได้เข้าร่วมกับกองทัพน้อยทหารช่าง นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาล เนห์รู ประเทศอินเดีย และจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐฯ อีกด้วย

ทหารศรีลังกาเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในเฮติ โดยช่วยแจกจ่ายอุปกรณ์เลือกตั้งใน พ.ศ. 2549

ตลอดอาชีพทางการทหารที่ได้รับเกียรติยศ พล.ท. เสนานายาเกะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมากมาย รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการและผู้ฝึกสอน เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรม ศูนย์บัญชาการกรมรบพิเศษ ผู้บัญชาการกองพลน้อยทหารราบ-วาวูนิยาที่ 211 ผู้บัญชาการกองพลน้อยรบพิเศษและผู้บัญชาการกองพลที่ 52 ในวารานี เมืองจาฟฟ์นา นอกจากนี้ ยังปฏิบัติหน้าที่ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงสำนักงานเสนาธิการพลเอกแห่งกองพลที่ 52 และเสนาธิการพลจัตวาในกองบัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงที่เมืองจาฟฟ์นาในช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของสงคราม อีกทั้งยังถือบทบาทผู้นำที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ซาปุกัสคันดาด้วย

ใน พ.ศ. 2559 พล.ท. เสนานายาเกะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงจาฟฟ์นา และมีส่วนช่วยเหลืออันโดดเด่นในการตั้งถิ่นฐานใหม่ของคนพลัดถิ่นภายในคาบสมุทร ชุมชนและรัฐบาลตระหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่อันหาใดเปรียบของเขาในกระบวนการปรองดอง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกองทัพบกศรีลังกา และยังดำรงตำแหน่งพันเอกแห่งกรมรบพิเศษ

คุณคิดว่าอะไรคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพศรีลังกา

หลังจากยุติสงครามกลางเมือง 30 ปีได้สำเร็จใน พ.ศ. 2552 เราลดการก่อการร้ายในดินแดนของเราลง และพัฒนาทฤษฎีและยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีการต่อต้านการก่อการร้าย เราอยู่มาเป็นปีที่เก้าแล้วนับตั้งแต่การหยุดยิงและไม่มีการปะทุของสงครามในประเทศเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว

เหตุใดคุณจึงคิดว่าแนวทางในการรักษาสันติภาพอย่างยั่งยืนของคุณประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

เราใช้แผนการที่ครอบคลุมมากและทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้อดีตผู้ก่อความไม่สงบเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราใช้แนวคิด “5 อาร์” แบบผสมผสาน ซึ่งย่อมาจากการปรับนิสัย การฟื้นฟู การผสมกลมกลืน การตั้งถิ่นฐานใหม่ และการปรองดอง ดังนั้น กองทัพซึ่งเป็นกำลังที่ใหญ่ที่สุดเบื้องหลังยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับแนวคิดนี้ที่นำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ

คุณจะอธิบายบทบาทในอนาคตของศรีลังกาในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างไร

เป็นเรื่องสำคัญที่ศรีลังกาควรรักษาความสงบสุขเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค และเป็นเรื่องสำคัญที่ภูมิภาคจะต้องมีความสงบสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและสันติภาพในภูมิภาคเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราสร้างความร่วมมือที่สำคัญกับหลายประเทศในภูมิภาค เช่น อินเดียและปากีสถาน ซึ่งเป็นสองพันธมิตรหลัก เรา ในฐานะพันธมิตรที่เป็นกลาง จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงแปซิฟิกผ่านศรีลังกา การสนทนากับประเทศเหล่านี้และภายในอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ ในศรีลังกา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเชื่อมโยงกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศทั่วทั้งสามเหล่าทัพ จากการวางแผนของรัฐเองและการประสานงานในการฝึกร่วมเมื่อใดก็ตามที่เราเกี่ยวข้อง

คุณช่วยเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของศรีลังกาในปฏิบัติการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศได้ไหม

ศรีลังกาส่งทหารเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในหลายปีที่ผ่านมาไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เฮติ เลบานอน มาลี ซูดานใต้ ติมอร์-เลสเต และซาฮาราตะวันตก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพยายามเพิ่มความมุ่งมั่นทุ่มเทในภารกิจดังกล่าว ปัจจุบัน เราให้การสนับสนุนภารกิจในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เลบานอน และซูดานใต้ เราจัดหากำลังความสามารถด้านกองทัพมากมาย เช่น วิศวกร ผู้สังเกตการณ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ เช่น ในซูดานใต้ เรากำลังควบคุมดูแลโรงพยายามระดับสองอยู่

สมาชิกหน่วยกู้ภัยของกองทัพบกศรีลังกาพาหญิงคนหนึ่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย ระหว่างเกิดน้ำท่วมที่ชานเมืองคาดูเวลา นอกเมืองหลวงโคลอมโบในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559

กองทัพบกศรีลังกามีการเปลี่ยนแปลงอะไรรออยู่บ้าง ในเมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงนานแล้ว

ตอนนี้เรามีกำลังพล 200,000 นายอยู่ในกองทัพบก เราประกาศแผนการสำหรับ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2568 แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะลดขนาดลง แม้ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับขนาดที่เหมาะสม เพื่อรักษาบูรณภาพของประเทศที่นำไปใช้กับแต่ละสาขาของวิศวกรกองทัพบกและปืนใหญ่ เราใช้กองทัพบกเพื่อช่วยสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ เรายังจะเพิ่มการมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติด้วย

คุณช่วยเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพบกในการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่หลังความขัดแย้งได้ไหม

กองทัพบกถือเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมกับประชาชนของศรีลังกา ในการโน้มน้าวใจประชาชนเรา ช่วยจึงเหลือประชาชนเพื่อรับรองว่าเราจะไม่เข้าสู่สงครามอีก ในความหมายที่กว้างขึ้น คือเราได้แบ่งกองทัพบกออกเป็นสามกองทัพ แรกสุดคือกองกำลังรบที่มีการฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือสงคราม กองกำลังที่สองมีไว้สำหรับสร้างชาติ เราสามารถตอบแทนแก่ประเทศผ่านการก่อสร้าง เกษตรกรรม และโครงการชลประทาน เรากำลังฟื้นฟูระบบและสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ เพื่อชดใช้ในแง่ที่ว่าทหารแต่ละนายจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่ในด้านทหารราบแต่ในด้านอุตสาหกรรม หน่วยที่สามเป็นหน่วยบริหารกองทัพบกและกีฬา รวมทั้งเป็นผู้นำในกระบวนการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ กองทัพบกเข้าร่วมแข่งขันกีฬามา 22 ปีแล้ว เราคาดหวังว่าแรงงานของศรีลังกาจะนำโดยกองทัพบกผ่านกองทัพทั้งสามนี้ เพราะพวกเขามีวินัยและการฝึกอบรมที่จะทำให้เป็นจริงได้ เราหวังว่าจะพัฒนาศักยภาพของประเทศด้วยแนวทางนี้ได้

คุณคิดว่าสิ่งใดเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดที่ศรีลังกาต้องเผชิญ

เรากำลังเปลี่ยนจากกองทัพที่ยึดภัยคุกคามเป็นหลัก มาเป็น กองทัพยึดเอาศักยภาพเป็นหลัก เราจะรักษาความแข็งแกร่งของทหาร การฝึกซ้อม และเตรียมยุทโธปกรณ์ให้พร้อมเผชิญกับความรุนแรงทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามแบบใหม่ เช่น การค้ายาเสพติด การลักลอบค้ามนุษย์ สงครามไซเบอร์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามแบบใหม่ที่เราจะต้องเผชิญ นอกจากนี้เรายังเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ประชากรล้นทะลักจากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากการเป็นประเทศเกาะที่มีการเดินทางผ่าน เราอาจถูกใช้เป็นฐานก่อภัยคุกคามแบบใหม่ก็ได้ ในตะวันออกส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิม ซึ่งมีค่อนข้างมาก

ศรีลังกาเป็นประเทศที่เปิดกว้าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ดังนั้นอาจมีคนเข้ามาและใช้ประเทศเป็นที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราให้ความสนใจต่อสงครามไซเบอร์มาก มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ขึ้นในทั้งสามเหล่าทัพสำหรับการปฏิบัติการร่วม ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะไม่ได้มีเพียงการปฏิบัติการร่วมของทุกเหล่าทัพเท่านั้น แต่หน่วยงานของรัฐบาลทุกหน่วยยังร่วมมือกับการจัดการหน่วยงานเหล่านั้นด้วย

จริงที่ว่าเรายังไม่มีปัญหาในตอนนี้ แต่นั่นเป็นภัยคุกคามที่เราจะต้องเผชิญ

คุณคิดว่าประเด็นที่ต้องนำกลับมาคิดต่อจากการประชุมและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกประจำปีครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ถึง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวายคือเรื่องใด

การประชุมได้เน้นความสำคัญของปฏิบัติการแบบผสมผสานและปฏิบัติการแบบพหุภาคี ความท้าทายและสถานการณ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากจนไม่มีประเทศใดที่จะจัดการได้เพียงลำพัง ดังนั้น แนวทางแก้ไขจึงต้องเป็นแบบพหุภาคีเพื่อรับมือกับปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก

เราเชื่อมั่นในการทำสงครามร่วมกัน แต่ด้วยแนวทางแบบพหุภาคี ทำให้เรื่องดังกล่าวมีความท้าทาย สงครามเป็นส่วนขยายจากการเมืองในหลาย ๆ ด้าน วาระทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ อาจเข้ามาแทรกแซง เมื่อปราศจากความเข้าใจสันติภาพที่แท้จริงอย่างที่ประชาชนควรได้รับ ก็จะส่งผลต่ออุดมการณ์ของประเทศเอง ประเทศเหล่านั้นอาจไม่ให้ความร่วมมือในแบบที่เราคิด โดยเฉพาะในแง่ของการแบ่งปันข่าวกรอง หากไม่มีการแบ่งปันข่าวกรองอย่างแท้จริง นั่นจะเป็นความท้าทายของจริงที่ทุกกองทัพต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ส่วนของการฝึกซ้อมร่วมเท่านั้นที่ท้าทาย แต่เป็นปัญหาด้านข่าวกรองของมนุษย์ด้วย ซึ่งเป็นปัญหาของการให้ความรู้แก่ประชากรเพื่อให้เข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์ เป็นผู้คนที่แบ่งแยกกันด้วยชนชั้น ศาสนา และอีกมากมาย พวกเขาตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในภูมิภาคที่มีต่อความมั่นคง

เราเข้าใจถึงความสำคัญของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในฐานะชาวศรีลังกา เราเข้าใจในฐานะประเทศหนึ่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกับกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

คุณมีประเด็นอื่นที่อยากกล่าวเพิ่มเติมกับผู้อ่านของ ฟอรัม หรือไม่

เราเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นมิตรของเรา เราต้องการทำให้มั่นใจว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นมิตร และกระตือรือร้นที่จะทำให้แน่ใจว่าแต่ละประเทศเป็นมิตร รวมทั้งมีความศรัทธาว่าเพื่อนบ้านของเราทุกประเทศจะร่วมมือกันได้ การใช้เวลาเพื่อทำให้มั่นใจว่ากองทัพทั้งหมดในภูมิภาคนี้เป็นมิตรต่อกัน และทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของแนวทางพหุภาคีอย่างแท้จริงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button