เรื่องเด่น

การรักษาสิ่งแวดล้อม

ผู้มีส่วนได้เสียในทะเลจีนใต้ หาทางแก้ไขการถมทะเลของจีนเพื่อสร้างพื้นที่และความล้มเหลวในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

นายจีรี โคมิเน็ก  |  ภาพโดย รอยเตอร์

มื่อมองในด้านสิ่งแวดล้อม ทะเลจีนใต้คือขุมทรัพย์ของนานาชาติเนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของชีวภาพทางทะเลที่คิดเป็นปริมาณหนึ่งในสามของโลก นอกเหนือจากความงามของน้ำทะเลสีน้ำเงินเข้มและสีเขียวแล้ว ภูมิภาคนี้ยังเปรียบเสมือนเสาหลักที่สำคัญยิ่งทางด้านระบบนิเวศของโลก ทะเลจีนใต้สร้างความมั่นคงทางอาหารแก่สัตว์ทะเล และเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในแต่ละวันของประชากรหนึ่งในเจ็ดของโลก

“หากไม่รวมจีน คาดว่าน่าจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ

รอบ ๆ ทะเลจีนใต้ราว 500 ล้านคนต้องพึ่งพาปลาที่จับได้ในภูมิภาคนี้เป็นแหล่งอาหารประจำวัน” ดร.อลัน ฟรีดแลนเดอร์ นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมาเนา กล่าว

ดร.ฟรีดแลนเดอร์และนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนเชื่อว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งบรูไน จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนาม ล้วนทำการประมงเกินขนาด ซึ่งทำให้กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตที่รุนแรงอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก

“น้ำมันและก๊าซไม่ใช่เรื่องใหญ่พอที่จะเป็นประเด็น แต่ปริมาณปลาในทะเลต่างหากที่เป็นประเด็น” ดร.จอห์น แมกมานัส ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาชีววิทยาทางทะเลของมหาวิทยาลัยไมอามีกล่าว

กระบวนการขุดทรายจากทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินใหม่ตามแบบฉบับของจีน อาจมีผล กระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะที่มีความเปราะบางในทะเลจีนใต้
กระบวนการขุดทรายจากทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินใหม่ตามแบบฉบับของจีน อาจมีผล
กระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะที่มีความเปราะบางในทะเลจีนใต้

ดร.แมกมานัสยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนน้ำมันให้แก่เรือประมงพาณิชย์ 50,000 ลำที่เข้ามาจับปลาในทะเลจีนใต้ รวมถึงเรือที่อยู่ในหมู่เกาะสแปรตลีและบริเวณรอบ ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง “เรือประมงเหล่านี้ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารประสิทธิภาพสูงเพื่อให้ลูกเรือสามารถขอความช่วยเหลือจากทหารหรือหน่วยยามฝั่งของจีนหากรู้สึกว่าตนถูกท้าทายจากเรือที่ติดธงของประเทศอื่นที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลจีนใต้” ดร.แมกมานัสกล่าว

“กฎข้อแรกคือ ห้ามให้เงินสนับสนุนการทำประมง” ดร.แมกมานัสกล่าวเพิ่มเติมโดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การทำการประมงเกินขนาดในภูมิภาคแห่งนี้

นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า การทำการประมงเกินขนาดส่งผลให้สัตว์น้ำที่เป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเลจีนใต้มีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 50 จากปี พ.ศ. 2503 ถึงปี พ.ศ. 2543 สัตว์น้ำเหล่านี้ ได้แก่ ปลาเก๋า ปลากระพง ปลามง ปลาทูน่า (หกสายพันธุ์) ปลาแมกเคอเรล (หลายสายพันธุ์) และฉลาม ซึ่งยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการทำประมงเชิงพาณิชย์ในทะเลจีนใต้

“จากการประมาณการอย่างอนุรักษ์นิยม ผมเชื่อว่าอีกเพียงหนึ่งทศวรรษนับจากนี้เราจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตในทะเลจีนใต้ได้ หากเราไม่ทำอะไรบางอย่างโดยเร็วเพื่อหยุดการทำประมงเกินขนาด และการทำลายแนวปะการังจากการขุดลอกและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” ดร.ฟรีดแลนเดอร์กล่าว

แม้ว่าหลายประเทศรวมทั้งจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามจะยังคงมีกำลังทหารประจำการอยู่ในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีจำนวนทหารมากที่สุด แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนถือเป็นประเทศที่ดำเนินยุทธศาสตร์แบบแข็งกร้าวมากที่สุดเพื่อยึดครองและแปรเปลี่ยนแนวปะการังและโขดหิน (ซึ่งปกติจะจมอยู่ใต้น้ำยกเว้นในช่วงน้ำลง) ในหมู่เกาะสแปรตลีให้กลายเป็นค่ายทหาร โดยมีจุดประสงค์ในการอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้เพื่อขยายขอบเขตการทำประมงเชิงพาณิชย์ซึ่งขัดกับหลักความยั่งยืน

จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเรือขุดมากที่สุดในโลกกำลังดำเนินการตามนโยบายขุดทรายเพื่อเพิ่มขนาดฐานที่มั่นด่านนอกของตนในหมู่เกาะ

สแปรตลี การกระทำดังกล่าวส่งผลเสียต่อแนวปะการังในแถบนี้ ซึ่งเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลนานาชนิดที่เชื่อว่ามีความหลากหลายมากกว่าที่พบในฮาวายหรือแคริบเบียนราว ๆ ห้าถึงเจ็ดเท่า

“สันปะการังมีความสำคัญมาก และต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์เพราะมันไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิดเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันบึงน้ำเค็มซึ่งเป็นที่วางไข่ของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ บึงน้ำเค็มทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสำหรับตัวอ่อนของปลา” ดร.แมกมานัสกล่าว

ภูมิภาคนี้เป็นที่อยู่ของตัวอ่อนจำนวนมหาศาลซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล แต่ในขณะเดียวกันที่นี่ก็กำลังถูกทำลายอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการที่เป็นอันตราย ตามความเห็นของดร.แมกมานัสและนักชีววิทยาทางทะเลอื่น ๆ ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทะเลจีนใต้
“ทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจีนใต้ต่างพากันจับปลาที่อยู่ใกล้กับแนวชายฝั่งของตนเองไปจนแทบจะหมดเกลี้ยง จึงต้องออกเรือไปทำการประมงห่างฝั่งไกลออกไปเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เราต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจก็คือ ทั้ง ๆ ที่มีการทำประมงเกินขนาดกันอย่างแพร่หลาย ทำไมเราจึงไม่เห็นว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดหายไปจากแถบนี้ และคำตอบก็คือตัวอ่อนของสัตว์น้ำมากมายที่พบในแนวปะการังนั่นเอง” ดร.แมกมานัสกล่าว

ประเทศหนึ่งที่คอยดูแลปกป้องแนวปะการังตามแนวชายฝั่งของตนมาโดยตลอดคือบรูไน ซึ่งออกกฎหมายห้ามทำการประมงใกล้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลโดยเด็ดขาด

ภาพถ่ายจากเครื่องบินตรวจการณ์ พี-8 เอ โพไซดอน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เผยให้เห็นเรือขุดของจีนในน่านน้ำรอบแนวปะการังมิสชีฟของหมู่เกาะ สแปรตลี ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้
ภาพถ่ายจากเครื่องบินตรวจการณ์ พี-8 เอ โพไซดอน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เผยให้เห็นเรือขุดของจีนในน่านน้ำรอบแนวปะการังมิสชีฟของหมู่เกาะ
สแปรตลี ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้

หลักฐานทางดาวเทียม

บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังขยายขนาดของแนวปะการังและโขดหินในหมู่เกาะสแปรตลีอย่างอุกอาจด้วยการขุดลอกทรายและนำไปถมบริเวณแนวปะการังที่เปราะบาง แนวปะการังและโขดหินเหล่านี้โดยปกติจะจมอยู่ใต้น้ำยกเว้นในช่วงน้ำลง

“เราจะเห็นได้จากโปรแกรมกูเกิล เอิร์ธ ว่าจีนได้สร้างเกาะเทียมขนาด 12.82 ตารางกิโลเมตร และได้ถมแนวปะการังระหว่างกระบวนการก่อสร้างไปด้วย ตัวอย่างเช่น แนวปะการังมิสชีฟก็หายไปจนหมด” ดร.แมกมานัสกล่าว

ดร.แมกมานัสกล่าวว่ายังมีเกาะอื่น ๆ อีก 20 เกาะที่มีร่องรอยของการขุดลอก โดยรัฐบาลจีนได้นำกองเรือออกไปขุดลอกทรายจากหมู่เกาะใกล้เคียง

“การถมทรายได้ทำลายแนวปะการังในบริเวณเกาะต่าง ๆ เจ็ดเกาะ และยังมีเกาะอื่น ๆ อีก 20 เกาะที่กำลังมีความเสี่ยง” ดร.แมกมานัสกล่าว เมื่อสันปะการังได้รับความเสียหาย เกาะก็จะถูกคลื่นกัดเซาะได้ง่ายขึ้นในฤดูพายุไต้ฝุ่น และในที่สุดก็ต้องทำการขุดลอกทรายเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมเกาะเทียมที่สร้างขึ้นเนื่องจากมีการสูญเสียพื้นที่ไปในช่วงไต้ฝุ่น

ทหารจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ชี้หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเผยให้เห็นการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 บนพื้นที่ที่สร้างขึ้นใกล้กับแนวปะการังเฟียรี ครอส ในหมู่เกาะสแปรตลี
ทหารจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ชี้หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเผยให้เห็นการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 บนพื้นที่ที่สร้างขึ้นใกล้กับแนวปะการังเฟียรี ครอส ในหมู่เกาะสแปรตลี

การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางกฎหมาย

เหล่านักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐจากภูมิภาคทะเลจีนใต้และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า มีวิธีการแก้ปัญหาที่จะช่วยป้องกันไม่ให้จีนทำลายแนวปะการังอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดประสงค์เพื่อการอ้างสิทธิ อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหาต้องมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างนานาชาติ “ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทะเลจีนใต้อาจใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการทำลายแนวปะการังที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือ การใช้กลไกดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จก็ต่อเมื่อมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะกระทำการดังกล่าวเท่านั้น” ดร.ยูนา ลีออนส์ จากศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเห็นพ้องว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายแย้งว่า แม้จีนจะไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนเต็มตัว แต่จีนก็กำลังใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกบางรายเป็นแรงผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ล้มเลิกความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศ “การบรรลุข้อตกลงของอาเซียนจะต้องยึดถือหลักการฉันทามติเป็นพื้นฐาน และในอดีตที่ผ่านมา สมาชิกบางราย อาทิ กัมพูชาและลาวซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนมากและติดหนี้ประเทศจีนได้คลายความพยายามที่จะลงมติเห็นชอบร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้” ดร.เอ็ดการ์โด โกเมซ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำภาควิชาชีววิทยาทางทะเลแห่งสถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กล่าว

ประเทศสมาชิกบางรายของประชาคมนานาชาติแห่งนี้ได้เรียกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมายโดย ใช้แนวทางของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาเพื่อแก้ปัญหาในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้อยู่แต่เดิม

หน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคทะเลจีนใต้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการประมงและการอ้างสิทธิในดินแดนแย้งว่า อาจมีการก่อความไม่สงบหากรัฐไม่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิทำกิจกรรมประมงเชิงพาณิชย์ในทะเลจีนใต้

“การอ้างสิทธิจะต้องยุติลงก่อน และรัฐบาลต่าง ๆ ต้องเลิกอ้างเหตุผลว่าตนไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากยอมให้ประชาชนทำการประมงต่อไป มิฉะนั้นจะเกิดการจลาจล” ดร.แมกมานัสกล่าว

“นอกจากนี้ ยังต้องยุติกิจกรรมที่สนับสนุนการอ้างสิทธิ เช่น การสร้างที่ทำการไปรษณีย์และสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่เป็นการแสดงตนของรัฐบาลที่ช่วยให้รัฐมีข้ออ้างในการอ้างสิทธิในพื้นที่บางแห่งโดยเฉพาะ” ดร.แมกมานัสกล่าวเพิ่มเติม และยืนยันว่าจีนต้องเป็นแกนนำในการแก้ปัญหา
มาตรการอื่น ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันโดยอาศัยคณะทำงานในระดับภูมิภาคเพื่อให้มีการประสานงานภายในคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมนอกชายฝั่งตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรนอกชายฝั่งควรดำเนินการผ่านองค์กรควบคุมระดับพหุภาคี

“จีนคือกุญแจสำคัญที่ต้องริเริ่มการเปลี่ยนแปลงในฐานะผู้นำใหม่ของโลกเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น จีนมีแรงกดดันภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้” ดร.แมกมานัสกล่าว

ดร.แมกมานัสกล่าวว่า แรงกดดันบางส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาจมาจากความพยายามของจีนที่จะฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางทะเล เนื่องจากปัจจุบันการค้าทั่วโลกของจีนร้อยละ 80 ต้องขนส่งผ่านทะเลจีนใต้

“จีนต้องการผู้สนับสนุนเพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว และสภาพการณ์ในภูมิภาคทะเลจีนใต้ขณะนี้เต็มไปด้วยการหวาดกลัวความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 80 ของประชากรในฟิลิปปินส์หวาดกลัวความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น สิ่งสุดท้ายที่ทุกคนต้องการคือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มโจมตีเรือพาณิชย์เนื่องจากข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนไม่ได้รับการแก้ไข” ดร.แมกมานัสกล่าว


ความพยายาม ด้านสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์

มื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงโดยแท้จริงว่าฝูงปลาที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์กำลังจะหายไปเนื่องจากการทำประมงเกินขนาดและการทำลายแนวปะการัง รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลภายในน่านน้ำอธิปไตยของตนจะปลอดภัยจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด

“ทางการฟิลิปปินส์ได้ทำโครงการฟื้นฟูปะการังเพื่อเยียวยาปะการังที่เสียหายให้กลับมามีสภาพดีดังเดิม” ดร.เอ็ดการ์โด โกเมซ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำภาควิชาชีววิทยาทางทะเลแห่งสถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กล่าว

“ปัจจุบัน กำลังมีการศึกษาสภาพความเสียหายของปะการัง และหวังว่าเราน่าจะทราบผลภายในสองปีนี้” ดร.โกเมซกล่าวเพิ่มเติม

ฟิลิปปินส์เป็นหัวหอกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคุ้มครองการประมงและทรัพยากรทางทะเลรวมทั้งระบบปะการังในภูมิภาคมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างเช่น รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ก่อตั้งสำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลขึ้นในปี พ.ศ. 2541

นายเอซิส เปเรซ ผู้อำนวยการสำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลและปลัดกระทรวงการเกษตรฟิลิปปินส์ ได้ตอกย้ำความสำคัญของทรัพยากรเหล่านี้ที่ช่วยสร้างอาชีพแก่ชาวประมงฟิลิปปินส์ การทำลายแนวปะการังอย่างไม่ลดละจะส่งผลกระทบกับชุมชนประมงอย่างน้อยเก้าแห่งตลอดแนวชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเท่ากับชีวิตชาวบ้านกว่า 12,000 ชีวิตที่มีรายได้หลักจากอาชีพทำประมง

“เราอยากให้จีนเคารพข้อผูกพันสากลและนึกถึงประชาชนนับล้าน ๆ คน ไม่ใช่เฉพาะในฟิลิปปินส์เท่านั้น ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่งเหล่านี้” นายเปเรซกล่าว “เราไม่อาจยอมให้จีนทำการถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่และทำการประมงแบบทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ เพราะนั่นอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกและความหลากหลายทางชีวภาพ” นายเปเรซ อธิบาย

นอกจากนี้ สำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลยังปิดแหล่งประมงบางส่วนซึ่งจำนวนสายพันธุ์ปลาลดลงจนน่าตกใจเนื่องจากการทำประมงเกินขนาด หรือในจุดที่ปะการังและตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกทำลาย พื้นที่ทำการประมงจะถูกปิดไปเรื่อย ๆ จนกว่าสัตว์ทะเลจะมีเวลามากพอที่จะฟื้นคืนสู่สภาพปกติ

“น่าเสียดายที่เราไม่สามารถทำการศึกษาแบบเดียวกันนี้ในหมู่เกาะสแปรตลีเนื่องจากทางการจีนไม่อนุญาตให้เราเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ทุกครั้งที่คณะนักวิทยาศาสตร์ของเราพยายามจะเข้าไปในพื้นที่ก็จะพบกับเรือของกองทัพเรือหรือหน่วยยามฝั่งของจีนที่บังคับให้คณะของเรากลับออกมา” ดร.โกเมซกล่าว

จีนได้ทำลายแนวปะการังไปแล้วเป็นพื้นที่อย่างน้อย 800 เฮกตาร์ ด้วยการเทปูนซีเมนต์หรือการขุดทราย ดร.โกเมซระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ปะการังที่เสียหายจากการกระทำดังกล่าวต้องใช้เวลานานนับ 100 ปีจึงจะฟื้นตัวกลับมาได้

“ปัญหาคือเราไม่ทราบว่าปะการังเสียหายหรือถูกทำลายไปมากแค่ไหนแล้ว” ดร.โกเมซกล่าว

การศึกษาของนักวิจัยชาวฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า เมื่อถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 จีนได้ทำลายพื้นที่บางส่วนในหมู่เกาะสแปรตลีไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงส่วนหนึ่งของแนวปะการังเฟียรี ครอส และแนวปะการรังกาเวน ซึ่งคาดว่าน่าจะกินพื้นที่ราว 311 เฮกตาร์ (ภาพ 1) นอกจากนี้ ดร.โกเมซซึ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฟิลิปปินส์ประจำปี พ.ศ. 2557 ยังระบุด้วยว่า ประเทศที่ตั้งอยู่รอบทะเลจีนใต้ต้องแบกรับความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 108.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,916 ล้านบาท) ต่อปี ทั้งนี้คำนวณจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของระบบนิเวศต่อสุขภาวะของมนุษย์ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 350,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 12.6 ล้านบาท) ต่อเฮกตาร์ต่อปี ดร.โกเมซเปิดเผยข้อมูลนี้ระหว่างการแถลงข่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558

ดร.โกเมซระบุว่า นอกจากจะก่อสร้างฐานที่มั่นทางทหารในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกแล้ว การที่เรือประมงสัญชาติจีนลักลอบจับหอยมือเสือ ปะการัง และสัตว์น้ำอื่น ๆ ก็ทำความเสียหายให้กับความสมดุลทางนิเวศวิทยาของพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หอยที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมายจะถูกขนส่งไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะที่มณฑลไห่หนาน เพื่อแปรรูปและจำหน่ายเป็นของที่ระลึก เช่น งานฝีมือจากปะการัง กำไลเปลือกหอย สร้อยเปลือกหอย และเปลือกหอยแกะสลัก “แนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตของทรัพยากรสัตว์น้ำในบริเวณทะเลชายขอบทวีปจากสภาวะเชื่อมต่อของตัวอ่อนของสัตว์น้ำอีกด้วย” ดร.โกเมซอธิบาย

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์เคยเรียกร้องให้จีนหยุดถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ซึ่งไม่เพียงทำลายสมดุลทางนิเวศเท่านั้น แต่ยัง “คุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” ด้วย

ในอดีต ฟิลิปปินส์พึ่งพาทะเลจีนใต้ในการทำประมงคิดเป็นร้อยละ 25 ของผลผลิตปลาทั้งหมดของประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่ยอมให้เรือประมงฟิลิปปินส์เข้ามาจับปลาในแหล่งประมงหลายจุดในทะเลจีนใต้

“ช่วงสองปีที่ผ่านมา ทางการจีนห้ามชาวประมงฟิลิปปินส์จับปลาที่หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล หรือในบริเวณใกล้เคียง เรือของกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งจีนถึงกับฉีดน้ำจากท่อฉีดน้ำอัดแรงดันใส่ลูกเรือประมงฟิลิปปินส์ ลองนึกดูว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราถูกห้ามทำประมงในบริเวณที่เราจับปลามาหลายชั่วคน” ดร.โกเมซกล่าว

รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อคัดค้านการกระทำของจีนด้วยการนำข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะและการอ้างสิทธิในพื้นที่ภายในเส้นประเก้าเส้นไปร้องเรียนต่อคณะอนุญาโตตุลาการสหประชาชาติเพื่อให้มีการตัดสินชี้ขาด

“ประเทศที่อ้างสิทธิควรพยายามแก้ไขข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตด้วยสันติวิธี เช่น การเจรจาและการหารือ โดยไม่ต้องใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลังเพื่อบังคับให้เป็นไปตามการอ้างสิทธิของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค” นายชาร์ลส์ โฮเซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุ

การถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ของจีนเป็น “กิจกรรมที่ละเมิดปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ พ.ศ. 2545 ระหว่างอาเซียนและจีนอย่างร้ายแรง กิจกรรมเหล่านี้ทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลของภูมิภาคเสียหายจนไม่อาจแก้ไขได้ ฟิลิปปินส์ขอให้จีนใส่ใจข้อเรียกร้องของภูมิภาคและประชาคมโลกที่ต้องการให้จีนยุติกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่และปฏิบัติตามความในข้อ 5 ของปฏิญญาดังกล่าว” นายโฮเซกล่าวเพิ่มเติม

iAPDF_V41N2_THAi_Forum

สำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลของฟิลิปปินส์ 

สำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลในสังกัดกระทรวงการเกษตรฟิลิปปินส์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการพัฒนา ปรับปรุง จัดการและอนุรักษ์การประมงและทรัพยากรทางทะเลของประเทศ

ภารกิจของสำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเล:

  • อนุรักษ์ คุ้มครองและบริหารจัดการการประมงและทรัพยากรทางทะเลของประเทศเพื่อความยั่งยืน
  • บรรเทาความยากจนและสร้างอาชีพเสริมแก่ชาวประมงพื้นบ้าน
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในขีดจำกัดทางนิเวศวิทยา
  • ใช้ทรัพยากรนอกชายฝั่งและในทะเลลึกอย่างคุ้มค่าที่สุด
  • พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

ข้อมูลจาก: http://www.bfar.da.gov.ph/aboutUS


ตัดไม้ทั้งป่าเพื่อท”ล“นจอดรถ

นักวิทยาศาสตร์เตือนภัยจากการถมทะเลของจีนเพื่อสร้างพื้นที่บนแนวปะการัง

รอยเตอร์

หล่านักวิทยาศาสตร์กังวลว่า การถมทะเลสร้างเกาะเทียมของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งเป็นดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบปะการังที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะยังคงสร้างความเสียหายเช่นนี้ต่อไป

การที่จีนใช้ปะการังและทรายที่ขุดขึ้นมาเพื่อสร้างเกาะเทียมบนแนวปะการังเจ็ดแห่งยังได้ทำลายระบบปะการังในพื้นที่โดยรอบอีกด้วย นั่นหมายความว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย อาจกว้างใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก ตามคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์หลายรายที่ศึกษาภาพหมู่เกาะสแปรตลีที่ถ่ายจากเทียม

ความกังวลดังกล่าวสวนทางกับถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของจีนที่ระบุว่ารัฐบาลยึดมั่นในการพิทักษ์ปะการังและสภาพแวดล้อมทางทะเลอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ตามข้อผูกพันภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติ

ดร.จอห์น แมกมานัส นักชีววิทยาทางทะเลชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยไมอามีซึ่งทำวิจัยในทะเลจีนใต้ร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์ กล่าวกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ว่า การถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมของจีน “ส่งผลให้พื้นที่แนวปะการังเกิดความเสียหายถาวรในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”

นอกเหนือจากบริเวณที่ทำการก่อสร้างแล้ว ปะการังในบริเวณกว้างยังถูกทำลายจากการขุดทรายจากบึงน้ำเค็มเพื่อนำไปใช้บนเกาะใหม่และการขุดลอกพื้นทะเลเพื่อเข้าถึงเกาะใหม่ดังกล่าว ดร.แมกมานัสเขียนในกระดานข่าวสมุทรศาสตร์บนเว็บไซต์ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง

ดร.แมกมานัสสนับสนุนให้ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ลืมข้อพิพาทระหว่างกันไปก่อน และสร้าง “สวนสันติภาพ” ทางทะเลเพื่ออนุรักษ์สิ่งที่ยังเหลืออยู่

“ผมไม่รู้จะหาคำไหนมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะเปรียบเทียบด้วยสำนวนที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ในแวดวงป่าไม้ นั่นก็คือ พวกเขาตัดไม้ทั้งป่าเพื่อทำลานจอดรถ” ดร.แมกมานัสกล่าว

การวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสร้างเกาะใหม่ของจีนจะมุ่งเน้นที่ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสรีภาพในการเดินเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนกล่าวว่าสิ่งก่อสร้างของตนจะมีวัตถุประสงค์ทางทหารที่ยังไม่ระบุภารกิจอีกด้วย

มีเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้นที่กล่าวหาจีนอย่างเปิดเผยว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย รัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าการถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่ของจีนทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลจีนใต้ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 281 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 10,108 ล้านบาท) ต่อปี เมื่อถูกถามเกี่ยวกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวล กระทรวงการต่างประเทศของจีนก็อ้างแถลงการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ของทบวงกิจการทางมหาสมุทรซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านทะเลของจีนที่ระบุว่า จีนมีมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากมาย
“ผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังจะมีลักษณะเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นชั่วคราว และสามารถควบคุมและฟื้นฟูได้” กระทรวงการต่างประเทศของจีนชี้แจง และปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้

ความหลากหลายทางชีวภาพ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เรือขุดของจีนได้ขุดทรายในหมู่เกาะสแปรตลีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 เอเคอร์ (800 เฮกตาร์ หรือ 8 ตารางกิโลเมตร) นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา

ประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิโดยเฉพาะเวียดนาม ได้ถมทะเลเพื่อรองรับฐานที่มั่นที่มีอยู่ หรือขยายท่าเรือและทางวิ่งเครื่องบินแต่ในขนาดที่เล็กกว่าจีนมาก ประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิในหมู่เกาะสแปรตลียังประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไต้หวัน

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแม้แนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลีจะมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับระบบปะการังอื่น ๆ ที่สำคัญของโลก แต่ก็ถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวอ่อนปะการังและปลาจะช่วยขยายพันธุ์แนวปะการังตามชายหาดที่ถูกคุกคามได้

นอกจากนี้มันยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์นานาชนิด เช่น หอยมือเสือ พะยูนและเต่าสายพันธุ์ต่าง ๆ

จากผลการศึกษาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 โดยสถาบันศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศราชารัตนัมของสิงคโปร์ นางยูนา ลีออนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และกฎหมายทางทะเลพบว่านอกจากแนวปะการังทั้งเจ็ดแห่งแล้ว ปะการังน้ำตื้นและพื้นที่ อื่น ๆ ที่ไม่มีเจ้าของก็ถูกขุดลอกเพื่อนำมาสร้างเกาะเทียมในบริเวณใกล้เคียงด้วย

“ปัจจุบันแนวปะการังที่ไม่เคยถูกแตะต้องมานานหลายศตวรรษเพราะอยู่ในทะเลอันไกลโพ้นก็หายไปจนหมด” นางลีออนส์เขียนหลังทำการศึกษาวิจัยที่ประกอบด้วยการสำรวจภาพถ่ายดาวจากเทียมความละเอียดสูง

นางลีออนส์ซึ่งเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า เธอได้เห็นหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับการขุดแนวปะการังมาถมทะเลในรูปแบบที่จีนนิยมกระทำ แต่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและใครอยู่เบื้องหลัง

“ขนาดของการขุดลอกแนวปะการังที่กำลังดำเนินอยู่ในเกาะร้างที่ห่างไกลในทะเลจีนใต้นั้นใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของมนุษยชาติ” นางลีออนส์กล่าว

“ดูเหมือนว่าเรือขุดของจีนจะเป็นต้นเหตุของความเสียหายใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น แต่เราไม่ทราบว่าโดยรวมแล้วเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด รวมทั้งความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุอื่นก่อนที่จีนจะเริ่มสร้างเกาะเทียม”

จุดประสงค์ที่น่ากังขา

ทางการจีนกล่าวว่าสิ่งก่อสร้างบนเกาะจะช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการค้นหาและกู้ภัยและการติดตามสภาพอากาศ

“ไม่มีใครใส่ใจกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศของเกาะต่าง ๆ แนวปะการังและพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวข้องมากไปกว่าจีน” นายอูหยาง ยูจิง อธิบดีกรมแนวอาณาเขตและกิจการมหาสมุทรแห่งกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558

นายยูจิงกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับ “การก่อสร้างและการอนุรักษ์” เท่า ๆ กัน พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่าจีนจะปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

นายเทอร์รี ฮิวจ์ นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ในควีนส์แลนด์ กล่าวว่าการถมทะเลเป็น “ความเสียหายเฉพาะจุด” แต่หมู่เกาะสแปรตลียังอาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าจากการทำประมงเกินขนาดในระยะยาวและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ผลการศึกษาที่นายฮิวจ์ทำร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนในปี พ.ศ. 2555 แสดงว่าการที่ปะการังในพื้นที่ลดลงอย่างมากเกิดจากสาเหตุดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวปะการังทั่วโลก

นายฮิวจ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การสร้างเกาะเทียมของจีนเมื่อมองด้วยตาจะดูเหมือนสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ แต่แนวปะการังส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถูกทำลายลงไปแต่อย่างใด

“ปะการังบางส่วนยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี” นายฮิวจ์กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button