ติดอันดับ

การฝึกทวิภาคีแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดรูปแบบใหม่ในอินโดแปซิฟิก

ติดอันดับ | May 14, 2020:

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-1บี แลนเซอร์ ของสหรัฐฯ บินออกจากสหรัฐอเมริกาภาคพื้นทวีปเพื่อรวมทีมกับเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นในการฝึกทวิภาคี โดยใช้เวลาเดินทางไปกลับกว่า 30 ชั่วโมง ก่อนจะเดินทางกลับมายังฐานทัพในรัฐเซาท์ดาโคตา

การฝึกครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ สู่การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ที่แทบคาดเดาไม่ได้ โดยอากาศยานที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือต่างประเทศสามารถเผชิญกับภัยคุกคามและมีส่วนร่วมในภารกิจร่วมหรือพหุภาคีได้ทุกที่ทั่วโลก การฝึกครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายนดังกล่าวเป็นการแสดงรูปแบบการใช้งานกองกำลังแบบไดนามิกโฉมใหม่ของกองทัพอากาศ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้คาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ได้ พร้อมกับสร้างความประหลาดใจด้วยความสามารถด้านการปฏิบัติการที่คาดเดาไม่ได้

พล.อ.อ. ชาร์ลส์ บราวน์ จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศแปซิฟิก กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า การฝึกทวิภาคีครั้งนี้เน้นย้ำถึง “ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อความมั่นคงและเสถียรภาพ” ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก พล.อ.อ. บราวน์ กล่าวว่า “ตั้งแต่การเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่มองไม่เห็นด้านการระบาดใหญ่ทั่วโลกไปจนถึงการจัดการกับการรุกรานทางทหารและกิจกรรมที่บีบบังคับ เรายังคงเป็นกองกำลังที่มีพลัง นวัตกรรม และทำงานร่วมกันได้ ซึ่งมุ่งเน้นวิสัยทัศน์ร่วมในการส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

เครื่องบินแลนเซอร์บินจากฐานทัพเอลส์เวิร์ธของกองทัพอากาศในรัฐเซาท์ดาโคตาไปยังฐานทัพอากาศมิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเครื่องบินเอฟ-2เอส จำนวนเจ็ดลำ และเครื่องบินเอฟ-15เอส จำนวนแปดลำของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นรวมพลกันอยู่ โดยเครื่องบินเอฟ-16เอส ของสหรัฐฯ หกลำเข้าไปสมทบที่มิซาวะ (ภาพ: ลูกเรือของอากาศยานฝึกซ้อมเหนือดรอกอนเรนจ์ ใกล้กับมิซาวะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการระเบิดร่วมระหว่างกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกและกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ)

การฝึกทวิภาคีมีจุดเริ่มต้นมาจากการผลักดันปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะมีความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม “ศัตรูที่คิดว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะจะท้าทายสหรัฐอเมริกา ควรรู้ไว้ว่า คุณกำลังคิดผิดอย่างมหันต์” นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในทวีตเมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการกองบัญชาการโจมตีทางอากาศทั่วโลกเห็นด้วยกับคำกล่าวของนายเอสเปอร์ “การใช้งานกำลังทางอากาศอย่างรวดเร็วนี้ช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ทางกลาโหมแห่งชาติโดยตรง และรับประกันว่าเราจะสามารถจัดหากองกำลังที่มีอำนาจมากได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์หรือพันธมิตรของอเมริกา และหุ้นส่วนของเรา” พล.อ. ทิม เรย์ กล่าว ตามรายงานของ military.com “ภารกิจนี้เป็นการแสดงให้มิตรของเราทั่วทั้งภูมิภาคเห็นว่า เราจะยังคงความสามารถในการคาดการณ์อย่างเต็มที่ด้านความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถปฏิบัติการได้จากหลายตำแหน่งที่ตั้งทั่วโลก แม้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกเช่นนี้”

พล.อ.อ. บราวน์ กล่าวเสริมว่า “กว่า 60 ปีแล้วที่ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ การบูรณาการด้านการปฏิบัติการเครื่องบินทิ้งระเบิดในอินโดแปซิฟิกควบคู่ไปกับพันธมิตรโคคุจิเออิตาอิเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มความพร้อมที่ผสานกันของเรา ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน แสดงให้เห็นภาพอำนาจของเราทั่วโลก และให้ความโปร่งใสทั่วทั้งภูมิภาค”

เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทำการฝึกและปฏิบัติการทวิภาคีร่วมกับประเทศพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนเป็นประจำ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 สตราโตฟอร์เทรส จำนวนสองลำ บินเคียงข้างเครื่องบินเอฟ-16เอส จำนวนหกลำของกองทัพอากาศ และเครื่องบินขับไล่ 36 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นมากกว่า 45 ลำใกล้กับประเทศญี่ปุ่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button