เรื่องเด่น

การปรับปรุง เรือดำน้ำของอินเดียให้ทันสมัย

กองเรือชั้นสกอร์ปิเน่ที่ต่อขึ้นเอง เป็นหัวข้อของการเฉลิมฉลอง

นายสาโรช บานา

ช่างเป็นวันที่น่าจดจำสำหรับกองทัพเรืออินเดีย จากการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของกองเรือดำน้ำเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการมอบหมายการเข้าประจำการให้กับให้เรือดำน้ำชั้น
สกอร์ปิเน่ที่ผลิตขึ้นเองเป็นลำแรกของอินเดีย ซึ่งเป็นเรือของกองทัพเรืออินเดียที่ชื่อว่ากัลวารี

เรือไอเอ็นเอส กัลวารี ตั้งชื่อตามฉลามเสือซึ่งเป็นนักล่าที่น่ากลัวในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเรือดำน้ำเพชรฆาตพลังดีเซลขนาด 61.7 เมตร 1,565 ตันลำแรกจากหกลำที่ต่อขึ้นโดยบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเมือง มุมไบและมีรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ชื่อมาซากอนด็อก จำกัด หรือเอ็มดีแอล ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การถ่ายโอนเทคโนโลยีจากดีซีเอ็นเอส บริษัทต่อเรือของฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่าเนเวิลกรุ๊ป มีการกำหนดชื่อโครงการว่า โปรเจกต์-75 เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 และเรือกัลวารีจึงเปิดตัวในอีกเก้าปีให้หลัง จากนั้นก็มีการติดตั้งอุปกรณ์และทดลองเดินเรือต่ออีกสองปี

การประจำการของเรือกัลวารีทำให้นึกย้อนไปถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เมื่อกองทัพเรือได้รับเรือในชื่อเดียวกันลำแรก ซึ่งเป็นเรือดำน้ำเชื้อเพลิงดีเซลชั้นโซเวียตฟ็อกซ์ทรอตลำแรกในแปดลำ ที่ทำให้เกิดกองเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เรือทั้งแปดลำซึ่งต่อขึ้นที่อู่ซูโดเมคในเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือกรุงปีเตอร์สเบิร์ก) ได้รับการปลดประจำการแล้ว เรือชั้นสกอร์ปิเน่ลำที่สองมีชื่อว่า คันเดอรี ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเรือลำที่สองในชั้นฟ็อกซ์ทรอตด้วยเช่นกัน เรือดังกล่าวเปิดตัวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 และอยู่ระหว่างการทดลองแล่นในทะเล ในขณะที่เรือลำที่สาม การันจ์ เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561 เรือดำน้ำที่เหลืออีกสามลำยังอยู่ในขั้นติดตั้งอุปกรณ์มากมายและจะเข้าร่วมกองเรือภายใน พ.ศ. 2563

การคืนชีพเรือ

กองทัพเรืออินเดียคืนชีพตามธรรมเนียมให้กับเรือและเรือดำน้ำที่ปลดประจำการไปแล้วผ่านการตั้งชื่อ ทางการอินเดียปลดประจำการเรือ กัลวารีลำแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539 หลังรับใช้ชาติมาเกือบ 30 ปี

นายแรม นาท โควินด์ ประธานาธิบดีอินเดียซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพบก มอบธงสีประจำตัวของประธานาธิบดีให้แก่กองทัพเรือดำน้ำ นับเป็นเกียรติยศสูงสุดที่มอบให้แก่หน่วยทหารใด ๆ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2494 กองทัพเรืออินเดียซึ่งเฉลิมฉลอง พ.ศ. 2560 เป็น “ปีแห่งเรือดำน้ำ” นับเป็นกองทัพแรกในสามเหล่าทัพที่ได้รับเกียรติดังกล่าว

บุคลากรกองทัพเรืออินเดียยืนบนเรือดำน้ำอินเดียระหว่างการสวนสนามทางเรือนานาชาติ ในวิสาขาปัตนัม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

พล.ร.จ. ราเกช อานันด์ (เกษียณอายุ) ประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัท มาซากอนด็อก จำกัด มองว่าการนำเรือกัลวารีเข้ามาร่วมในกองทัพเรืออินเดียเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญในการทำสงครามใต้น้ำอันเนื่องมาจากความเหนือกว่าในทุกด้านของการปฏิบัติการ” นายราเกชซึ่งยกย่องความสมบูรณ์แบบของการยิงอาวุธทั้งหมดก่อนการเข้าประจำการ กล่าวว่า เทคโนโลยีล้ำสมัยของเรือชั้นสกอร์ปิเน่นี้ประกอบด้วยคุณสมบัติการล่องหนที่เหนือกว่า เช่น เทคนิคการการเก็บเสียงขั้นสูง ระดับเสียงรบกวนที่แผ่ออกมาต่ำ รูปทรงที่เพิ่มประสิทธิภาพทางอุทกพลศาสตร์ และพลังทำลายล้างด้วยตอร์ปิโดนำวิถีที่แม่นยำ รวมทั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือแบบปล่อยผ่านชุดยิง

กระทรวงกลาโหมและเจ้าหน้าที่กองทัพเรือปฏิเสธว่าการรั่วไหลของข้อมูลอย่างมหาศาลในโปรเจกต์-75 ซึ่งรายงานโดยหนังสือพิมพ์ ดิออสเตรเลียน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 บ่อนทำลายโครงการเรือดำน้ำที่ละเอียดอ่อนของรัฐบาลอินเดียหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อลดผลกระทบของการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ทางการจึงโต้แย้งว่าเอกสารที่รั่วไหลออกไปทั้งหมด 22,400 หน้า ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเก่าเมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่งตอนนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ออสเตรเลียได้มอบสัญญาจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท) ให้แก่ดีซีเอ็นเอส (เนเวิลกรุ๊ป) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 เพื่อต่อเรือดำน้ำ 12 ลำ และข้อมูลที่รั่วไหลดังกล่าวถือเป็นผลมาจากการจารกรรมขององค์กร

เรือดำน้ำอยู่ในแนวหน้าของปฏิบัติการเชิงรุกทั้งหมดของกองทัพเรืออินเดีย มีบทบาทโดดเด่นโดยเฉพาะในสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อ พ.ศ. 2514 เมื่อมีการเคลื่อนเรือดำน้ำสี่ลำไปยังสมรภูมิทางทะเลทั้งทางตะวันออกและตะวันตกของปฏิบัติการบนอ่าวเบงกอลและทะเลอาหรับ เพื่อจำกัดการปฏิบัติการของศัตรู ปัจจุบัน กองทัพเรืออินเดียมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการด้วยเรือดำน้ำแบบธรรมดาและแบบนิวเคลียร์หกชั้น ซึ่งเป็นเรือดำน้ำที่มียุทธศาสตร์ทางทะเลที่แท้จริงในการใช้การป้องปรามเพื่อรักษาสันติภาพ

เอาชนะอุปสรรค

50 ปีของเรือดำน้ำอินเดียไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเสมอ สี่ปีก่อน เจ้าพนักงานตรวจสอบการเงินการบัญชีและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายงานว่า การสร้างเรือรบด้วยตนเองจะมีการหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องด้วยเวลาและงบประมาณที่บานปลาย สมุห์บัญชีของประเทศเลือกบริษัทมาซากอนด็อกให้เป็นผู้สรุปค่าใช้จ่ายสำหรับรายการที่ไม่สามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังตำหนิเรื่องการขาดการมองการณ์ไกลและการสื่อสารระหว่างกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรืออินเดีย

โปรเจกต์-75 ล่าช้ากว่ากำหนดการ 5 ปี และต้นทุนสัญญาเดิมของโครงการจาก 2.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) ไอเอ็นเอส กัลวารี ได้เข้าประจำการใน พ.ศ. 2555 นอกเหนือจากเวลาและค่าใช้จ่ายที่บานปลายแล้ว ยังมีความท้าทายหลักอีกอย่างหนึ่ง เรือชั้นสกอร์ปิเน่จะต้องมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนานับตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยองค์กรวิจัยและพัฒนาทางกลาโหม แต่ระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศกลับไม่ได้ติดตั้งและความล่าช้ายาวนานทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการผลิตในที่สุด

พนักงานดีซีเอ็นเอสมองใบพัดของเรือดำน้ำชั้นสกอร์ปิเน่ที่บริษัท เนเวิล ดีเฟนส์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเนเวิลกรุ๊ปในเมืองลา มงตาญ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 รอยเตอร์

ระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศเพิ่มประสิทธิภาพความทนทานของเรือดำน้ำที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ในการอยู่ได้น้ำได้นานสามถึงห้าเท่า เรือดำน้ำที่ไม่มีระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานเพียงสองถึงสามสัปดาห์เท่านั้น ขณะที่ในปัจจุบันเรือดำน้ำแบบธรรมดามาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศ การขาดสมรรถนะที่สำคัญนี้เป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติการของอินเดีย กองทัพเรืออินเดียห้อมล้อมไปด้วยกองเรือดำน้ำที่ด้อยสมรรถนะ 15 ลำ รวมถึงเรือดำน้ำไอเอ็นเอส กัลวารีและไอเอ็นเอส อารีฮันต์ ซึ่งเป็นเรือลำแรกที่ต่อขึ้นเองและเป็นเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวพลังงานนิวเคลียร์ที่เข้าประจำการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 เรือดำน้ำบางส่วนใกล้จะปลดประจำการแล้ว และมีมากที่สุดเพียง 10 ลำที่สามารถปฏิบัติการได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากเรือกัลวารี อารีฮันต์ และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เช่าจากรัสเซียเป็นเวลา 10 ปีในข้อตกลงมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท) เรือส่วนที่เหลือประกอบด้วยเรือดำน้ำชั้นสินธุกอช 3,100 ตัน (ชั้นกิโลจากรัสเซีย) จำนวนแปดลำลดลงจาก 10 ลำ และเรือดำน้ำชั้นชิชูมาร์จากเยอรมนี เอชดีดับเบิลยู ไทป์ 209 ขนาด 1,850 ตันจำนวนสี่ลำ ในขณะที่อายุการใช้งานของเรือดำน้ำที่กำหนดไว้คือประมาณ 25 ปี เรือชั้นกิโลแปดลำมีอายุ 23 ถึง 28 ปีแล้วและเรือเอชดีดับเบิลยูมีอายุ 20 ถึง 28 ปีแล้ว

หนึ่งในเรือดำน้ำชั้นกิโลมีชื่อว่า ไอเอ็นเอส สินธุรักชัก เข้าประจำการใน พ.ศ. 2540 ได้รับความเสียหายจากการระเบิดที่บริเวณที่จอดเรือในมุมไบ ในช่วงภัยพิบัติด้านสันติภาพที่เลวร้ายที่สุดของกองทัพเรืออินเดีย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตสามนายและลูกเรือ 15 คนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556

ความท้าทายยังคงมีอยู่

ในฐานะผู้มีอำนาจทางทะเลในภูมิภาคที่พยายามรวมพื้นที่ที่มีการเข้าถึงทั่วทะเลต่าง ๆ ตั้งแต่จะงอยแอฟริกาไปจนถึงช่องแคบมะละกา ตลอดจนทะเลจีนใต้ให้เป็นปึกแผ่น อินเดียต้องการเพิ่มกำลังเรือดำน้ำและขยับขยายกลุ่มเรือบรรทุกอากาศยาน จึงกำหนดเป้าหมายการนำเรือดำน้ำใหม่ 24 ลำเข้ามาภายใน พ.ศ. 2573 เพื่อให้แน่ใจในระดับกำลังพล ภายใต้แผน 30 ปีที่ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการกิจการด้านความมั่นคงใน พ.ศ. 2542 เรือดำน้ำครึ่งหนึ่งมีการต่อขึ้นด้วยความร่วมมือจากต่างประเทศภายใน พ.ศ. 2555 โดยอีก 12 ลำที่เหลือจะต่อขึ้นตามการออกแบบเอง

เวลาและค่าใช้จ่ายที่บานปลายของโครงการเรือดำน้ำชั้นสกอร์ปิเน่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายยังคงห่างไกล การพัฒนาที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ อาจส่งผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่ออินเดีย ซึ่งมีแนวชายฝั่งที่กว้างใหญ่ถึง 7,615 กิโลเมตรติดกับทะเลอาหรับ อ่าวเบงกอล และทะเลอินเดีย อันดามันและนิโคบาร์ หนึ่งในดินแดนแทรกของเกาะอยู่ใกล้กับพม่า ไทย และอินโดนีเซียมากกว่าแผ่นดินใหญ่ของอินเดีย ด้วยปริมาณการค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 90 ที่เกิดขึ้นไปทั่วทะเลดังกล่าว อินเดียจึงมอบหมายให้กองทัพเรืออินเดียรักษาความมั่นคงของเส้นทางการสื่อสารทางทะเลที่สำคัญ

เรือไอเอ็นเอส อารีฮันต์ได้รับการพัฒนาและต่อขึ้นในประเทศด้วยงบประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท) เป็นลำแรกจากกลุ่มเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์สามลำ ซึ่งคิดขึ้นมาใน พ.ศ. 2541 แต่เพิ่งมีการเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 และเข้าประจำการในอีกเจ็ดปีต่อมา นักออกแบบชาวรัสเซียได้ให้ความช่วยเหลือในโครงการนี้ ซึ่งอ้างอิงจากการออกแบบเรือดำน้ำอะคูลา-1 ที่มีการดัดแปลง เรือไอเอ็นเอส อารีฮันต์ขนาด 6,000 ตันสร้างขึ้นผ่านความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 83 เมกะวัตต์ของเรือได้รับการออกแบบโดยศูนย์วิจัยอะตอมพาพา ตัวเรือประดิษฐ์ขึ้นโดยบริษัท ลาร์เซนแอนด์เทอโบร จำกัด และจัดการประกอบโดยศูนย์การต่อเรือของคณะกรรมการโครงการเรือทั่วไปที่วิสาขาปัตนัม

เรือไอเอ็นเอส อารีฮันต์ได้รับการติดตั้งเรือดำน้ำสาการิกา เค-15/ขีปนาวุธทอดตัวติดเรือ ซึ่งผลิตขึ้นเอง 12 ลูกที่มีพิสัย 700 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ 1 ตัน ลูกเรือ 100 นายของเรืออารีฮันต์ความยาว 110 เมตรลำดังกล่าวได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซีย

สำหรับประสบการณ์ในการปฏิบัติการและการฝึกอบรมเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ กองทัพเรืออินเดียสั่งเรือชั้นอะคูลา-2 เข้ามาจากรัสเซียในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยเป็นการเช่า 10 ปี เรือดำน้ำขนาด 8,140 ตันดังกล่าวซึ่งควบคุมโดยลูกเรือ 73 นายได้รับการขนานนามใหม่เป็น ไอเอ็นเอส จักรา 2 และนำไปใช้ที่วิสาขาปัตนัมซึ่งเป็นฐานของนายพลเรือดำน้ำด้วย แม้ว่าเรือลำดังกล่าวจะมีความทนทานถึง 100 วันและสามารถทำความเร็วได้ถึง 30 น็อต รวมทั้งดำน้ำได้ลึกถึง 600 เมตร แต่ก็ไม่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ตามที่สัญญาเช่าระบุได้ แม้จะมีการติดตั้งท่อตอร์ปิโดแปดท่อก็ตาม อดีตสหภาพโซเวียตให้กองทัพเรืออินเดียเช่าเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ ชั้นอะคูลา-1 ในลักษณะเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อเรือใหม่เป็น ไอเอ็นเอส จักรา ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 จนถึง พ.ศ. 2534

การพัฒนาภูมิภาค

อินเดียพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก้าวทันต่อการพัฒนาในพื้นที่ชายฝั่ง เนื่องจากความสามารถในการต่อสู้ใต้ทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของปากีสถานและจีน ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านที่เคยทำสงครามด้วยในอดีต รัฐบาลจีนกำลังใช้การยับยั้งนิวเคลียร์ทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ ผ่านเรือดำน้ำติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกล ด้วยหนึ่งในกองเรือเรือดำน้ำโจมตีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งประกอบด้วยเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธสี่ลำหรือเอสเอสบีเอ็น เอสเอสเอ็นหกลำ และเอสเอสเค 53 ลำ ตามการรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาจมีการต่อเรือเอสเอสบีเอ็นลำที่ห้าขึ้นในที่สุด โดยแต่ละลำจะติดตั้งขีปนาวุธ เจแอล-2 12 ลูกที่สามารถขนส่งหัวรบนิวเคลียร์ 1 ตันที่ระยะ 8,000 กิโลเมตร

นอกจากนี้ จีนยังขายเรือดำน้ำให้กับปากีสถานและบังกลาเทศด้วย เรือดำน้ำแปดลำที่ขายให้กับรัฐบาลปากีสถานในราคารวมที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทถึง 1.5 แสนล้านบาท) เป็นเรือดำน้ำพลังดีเซล เอส20 เรือสี่ลำแรกจะต่อโดยบริษัทไชน่า ชิปบิลดิง อินดัสตรี คอร์ป ซึ่งจะตั้งศูนย์การฝึกอบรมขึ้นที่เมืองการาจีอีกด้วย และจะส่งมอบเรือภายใน พ.ศ. 2566 ขณะที่ลำที่เหลือจะประกอบที่การาจี ชิปบิลดิงและเอ็นจิเนียริ่ง เวิร์คส์ ภายใน พ.ศ. 2571 กองทัพเรือปากีสถานนำเรือดำน้ำอโกสต้า 90บี (ชั้นคาลิด) จำนวน 3 ลำที่ซื้อในช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533-2542) และเรือดำน้ำอโกสต้า 70 (ชั้นแฮชแมท) 2 ลำที่มีอายุมากกว่าโดยย้อนไปจนถึงปลายทศวรรษ 1970 (พ.ศ.2513-2523) มาใช้ปฏิบัติการ

เรือไอเอ็นเอส เกดแมต ซึ่งเป็นเรือยิงจรวดต่อต้านเรือดำน้ำแบบหลายลำกล้อง เตรียมจอดเทียบท่าที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างการทัวร์กระชับมิตรสี่วันซึ่งรวมถึงเวียดนามและสิงคโปร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บังกลาเทศกำลังจัดซื้อเรือดำน้ำพลังดีเซลไทป์ 035จี ชั้นหมิงสองลำจากข้อตกลงกับรัฐบาลจีนในราคา 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6.1 พันล้านบาท) ซึ่งจะเป็นเรือดำน้ำลำแรกในกองทัพเรือบังกลาเทศ และตามที่นางชีคห์ ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศระบุไว้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ว่าจะเปลี่ยนกองทัพให้เป็นกองกำลังแบบ “สามมิติ” “ประเด็นเรื่องการก่อสร้างฐานเรือดำน้ำอยู่ระหว่างการดำเนินการ” นางฮาสินากล่าวเสริม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ดาห์กาทริบูน

นอกจากนี้ การตัดสินใจที่ล่าช้ายัง ขัดขวางการพัฒนาความเชี่ยวชาญของอินเดียในการสร้างเรือดำน้ำ ในโครงการก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรือดำน้ำเอชดีดับเบิลยู ชั้นชิชูมาร์สี่ลำ เรือสองลำแรกสร้างโดยเอชดีดับเบิลยูที่เมืองคีล และส่งมอบให้กองทัพเรืออินเดียใน พ.ศ. 2529 ในขณะที่อีกสองลำสร้างขึ้นที่มาซากอนด็อกและเข้าประจำการใน พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2537 มาซากอนด็อกลงทุน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 575 ล้านบาท) ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างเรือดำน้ำซึ่งอยู่ในภาวะเลิกใช้งานหลังจาก พ.ศ. 2537 นอกจากนี้ สิ่งที่สูญเสียไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือการฝึกอบรมและทักษะที่มอบให้แก่บุคลากรของอินเดียหลายคนที่อาคารเอชดีดับเบิลยูในเยอรมนี และสถาปนิกรวมทั้งผู้ดูแลกองทัพเรือของอินเดีย ต้องมีการรื้ออู่ต่อเรือดังกล่าวขึ้นมาใหม่หลังจากที่มีการทำสัญญาสร้างเรือชั้นสกอร์ปิเน่ใน พ.ศ. 2548
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสำหรับการก่อสร้างแบบบูรณาการที่ช่วยลดระยะเวลาการสร้าง โครงการปรับแมซด็อกให้ทันสมัยประจำ พ.ศ. 2557 ที่มีมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.1 พันล้านบาท) ของมาซากอนด็อก ดำเนินการสร้างอาคารใหม่และก่อสร้างโรงประกอบย่อยเพิ่มเติมมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 พันล้านบาท) สำหรับสร้างเรือดำน้ำสองกลุ่มพร้อมกัน

การคาดการณ์เกี่ยวกับโปรเจกต์-75

โปรเจกต์-75 ของอินเดียมีมูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท) และค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขตของการชดเชยและการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากผู้ให้ความร่วมมือจากต่างประเทศ

คำร้องขอข้อมูลที่ออกโดยกองทัพเรืออินเดียได้รับการตอบรับจากเนเวิลกรุ๊ปสำหรับเรือชั้นสกอร์ปิเน่ที่มีการดัดแปลง บริษัท ทิสเซ่นครุปป์ มารีน ซิสเท็มส์ ของเยอรมนีผลักดันให้มีเรือไทป์ 214 บริษัท ซาบ คอกคุมส์ เอบี ของสวีเดนสำหรับเรือ เอ24 และบริษัท รูบิน เซ็นทรัล ดีไซน์ บูโร ฟอร์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง ของรัสเซียสำหรับเรือ อามัวร์ 1650 ส่วนบริษัท นาวานเทีย ของสเปนซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเรือชั้น เอส-80 และบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ และคาวาซากิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ของญี่ปุ่นซึ่งร่วมกันสร้างเรือดำน้ำโซริว ได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้แข่งขันรายแรก ๆ แต่กลับถอนตัวออกไป

โปรเจกต์-75 ของอินเดียมีกำหนดให้สร้างเรือดำน้ำเอสเอสเค 6 ลำที่อู่ต่อเรือของรัฐหรือเอกชนในประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการต่อเรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ทันสมัยด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เรือดำน้ำเหล่านี้จะได้รับการติดตั้งระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศ และติดตั้งขีปนาวุธชนิดติดตั้งบนเรือเพื่อการโจมตีเป้าหมายบนฝั่ง รวมทั้งจะสามารถใช้งานร่วมกับอาวุธและเซ็นเซอร์ที่ผลิตขึ้นเอง จะมีการกำหนดพารามิเตอร์ทางเทคนิคโดยขึ้นอยู่กับการตอบรับจากบริษัททั้งสี่แห่ง ซึ่งจะต้องส่งเสนอการประกวดราคาทางเทคนิคและทางพาณิชย์หลังจากมีการออกคำร้องขออย่างเป็นทางการสำหรับข้อเสนอ

กระบวนการคัดเลือกจะใช้เวลาประมาณสองปี โดยเรือดำน้ำลำแรกคาดว่าจะเปิดตัวในอีกแปดเดือนหลังจากข้อตกลงเสร็จสิ้น เทคโนโลยีที่ถ่ายโอนมาจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบที่ทำขึ้นเองที่สำนักงานออกแบบของกองทัพเรือรวมถึงที่อู่ต่อเรือ เรือดำน้ำดังกล่าวมีแนวโน้มจะเป็นการลอกแบบมาจากการออกแบบที่มีอยู่แล้ว โดยผสานการเปลี่ยนแปลงและปรับให้ทันสมัยเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการด้านการใช้งานของกองทัพเรืออินเดีย

แม้อินเดียจะมุ่งมั่นฟื้นฟูการเข้าถึงทางพื้นที่ใต้ทะเลอีกครั้ง แต่จะต้องใช้ความพยายาม เจตนารมณ์ทางการเมือง และเงินทุนที่จำเป็นมากขึ้นในการเสริมสร้างกองเรือดำน้ำให้อยู่ในระดับที่จำเป็น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button