ติดอันดับ

การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการกับภัยคุกคามด้านอาวุธเคมีในอินโดแปซิฟิกที่หลงเหลืออยู่

ทอม แอบกี

การโจมตีที่คร่าชีวิตพลเรือนโดยกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งที่ใช้อาวุธและระเบิดแบบดั้งเดิมในประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในภูมิภาคเป็นกังวลว่าการโจมตีในอนาคตอาจมีการใช้อาวุธเคมี

เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบอินโดแปซิฟิก เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 ถึง 11 เมษายน พ.ศ. 2562 ซึ่งดำเนินการโดยองค์การห้ามอาวุธเคมีที่ตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์ เพื่อจัดการภัยคุกคามดังกล่าว

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกห้ามการใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม หลังจากที่เห็นความน่าสะพรึงกลัวของการใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามในอดีต และในการโจมตีด้วยเคมีล่าสุดโดยระบอบอันธพาลและกลุ่มก่อการร้าย มากกว่าร้อยละ 96 ของคลังแสงอาวุธเคมีทั้งหมดทั่วโลกซึ่งมีการเปิดเผยถูกทำลายแล้ว อ้างอิงจากองค์การห้ามอาวุธเคมี

แม้จะมีความก้าวหน้าในการทำลายคลังแสงและหยุดการผลิต แต่สภาวะปัจจุบันทำให้ภัยคุกคามของการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในภูมิภาคโดยตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีความเป็นไปได้ จึงต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน เอกอัครราชทูต ดาโตะ อิลันโควัน โคลันดาเวลู ประธานหน่วยงานระดับชาติว่าด้วยอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีของมาเลเซีย กล่าวในสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า

“อุตสาหกรรมเคมีที่กำลังเจริญก้าวหน้าในเอเชีย พร้อมด้วยการไหลบ่าของการนำเข้าสารเคมีที่เข้ามาและเคลื่อนไหวอยู่ภายในภูมิภาค ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการนำสินค้าเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่าง ๆ”

ข้อกังวลนี้สร้างความตระหนักมากขึ้นเนื่องจากการครบรอบ 24 ปีในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562 ของการโจมตีเมื่อ พ.ศ. 2538 ที่สถานีรถไฟใต้ดินของโตเกียว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คนและบาดเจ็บ 6,000 คน การโจมตีครั้งนั้นก่อเหตุโดยลัทธิโอมชินริเกียวที่เชื่อเรื่องวันโลกาวินาศ ด้วยการใช้แก๊สพิษซาริน ผู้ก่อเหตุกลุ่มเดียวกันนี้ยังใช้แก๊สพิษดังกล่าวในการโจมตีก่อนหน้านั้นในเมืองมัตสึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน อ้างอิงจากองค์การห้ามอาวุธเคมี

การสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามดังกล่าวแก่ประชาชน และการกระตุ้นรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อต่าง ๆ ในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ คือมาตรการสำคัญสองประการที่เอกอัครราชทูตอิลันโควันกล่าวว่าต้องดำเนินการ “โดยผู้มีบทบาททั้งหมดที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศ” (ภาพ: ตำรวจชาวญี่ปุ่นสวมชุดป้องกันขณะตรวจสอบวัตถุเคมีจำลองที่ท่าเรือโยโกสุกะ ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ระหว่างแปซิฟิกชีลด์ 18 การฝึกนานาชาติซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง)

องค์การห้ามอาวุธเคมีรายงานว่ามากกว่า 190 ประเทศได้ลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีซึ่งมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2540 อนุสัญญาดังกล่าวห้ามมิให้ใช้ พัฒนา ผลิต เสาะหา สะสมไว้ในคลัง รักษาไว้ หรือขนย้ายอาวุธเคมีโดยประเทศที่ให้สัตยาบัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลแห่งชาติควบคุมเขตอำนาจตามกฎหมายของตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่าพลเมืองของตนจะไม่ละเมิดสนธิสัญญาดังกล่าว

ดาโตะ ฮาจิ มาร์ซุกิ ยาห์ยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียบอกกับผู้เข้าร่วมการประชุมว่า การจะบรรลุผลสำเร็จในการควบคุมดังกล่าว ต้องมี “การประสานงานและการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในการป้องกันไม่ให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐนำสารเคมีที่เป็นพิษไปใช้ในทางที่ผิด”

ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเห็นพ้องกับนายมาร์ซุกิ ร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การห้ามอาวุธเคมีในการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ การพัฒนาแนวทางการรักษาความมั่นคงด้านสารเคมี กระบวนการทางศุลกากร รวมถึงแผนการเตรียมความพร้อมและรับมือฉุกเฉิน

องค์การห้ามอาวุธเคมีสรุปว่ารัฐบาลแห่งชาติต้องประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อจัดการกับภัยคุกคามการก่อการร้ายด้วยสารเคมี และป้องกันไม่ให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐซึ่งเป็นอันตรายเข้าถึงสารต้องห้าม

กองเลขาธิการฝ่ายเทคนิคขององค์การห้ามอาวุธเคมีย้ำถึงข้อที่ 6 ของอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี ซึ่งกำหนดมาตรการเฝ้าสังเกตและตรวจพิสูจน์ ที่ประเทศที่ให้สัตยาบันต้องดำเนินการกับสารเคมีที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นข้อกังวลตามอนุสัญญา ข้อดังกล่าวอนุญาตให้มีข้อยกเว้นภายในขอบเขตที่จำกัดด้านการวิจัย การแพทย์ เภสัชกรรม หรือวัตถุประสงค์ด้านการป้องกัน

มีผู้แทนจากอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ บรูไน พม่า อินโดนีเซีย อิรัก มาเลเซีย เนปาล ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และติมอร์-เลสเตเข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button