เรื่องเด่น

การต่อสู้เพื่อ มาตุภูมิ

การต่อสู้กับการก่อการร้ายมอบบทเรียนให้กองทัพฟิลิปปินส์

พ.ท.ดร.ซัลการ์เนน แฮรอน

ภาพความมั่นคงกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นเพราะทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อการร้าย ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ก่อการร้ายเรียนรู้การปรับตัวเข้ากับมาตรการตอบโต้ที่ใช้ป้องกันการก่อการร้าย และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้ก่อการร้ายสร้างความรุนแรงถึงชีวิตมากยิ่งขึ้นในขณะที่พยายามใช้ยุทธวิธีและเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและทักษะทางเทคนิคที่สูงขึ้น ผู้ก่อการร้ายยังคงมีแรงจูงใจจากปัญหาท้องถิ่นเป็นหลัก แต่กองกำลังของนานาประเทศและสถานการณ์ทั่วโลกกำลังสร้างความขุ่นเคืองมากขึ้นและทำให้ผู้ก่อการร้ายเพิ่มขอบเขตการปฏิบัติการออกไป

เมื่อมีแนวโน้มเช่นนี้ ความร่วมมือในการต่อสู้กับการก่อการร้ายจึงเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนมากที่สุด ไม่มีประเทศใดสามารถเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายได้เพียงลำพัง ดังนั้น การร่วมมือแบบพหุภาคีจึงเป็นสิ่งจำเป็น องค์การสหประชาชาติและองค์กรในระดับภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงแต่ละประเทศต่างมุ่งมั่นในการจัดการกับประเด็นนี้ แนวคิดการแก้ไขปัญหามีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ยังขาดแคลนคือการดำเนินงานแบบพหุภาคีที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย นี่คือความจริงที่ต้องเอาชนะให้ได้เพื่อจัดการและขจัดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การก่อการร้ายและปัญหาข้ามชาติอื่น ๆ ไม่มีขอบเขตที่แน่นอน ซึ่งแต่ละประเทศต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านความร่วมมือทางข่าวกรองผ่านประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาวของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ในเรื่องนี้ ฟิลิปปินส์ได้รับบทเรียนเกี่ยวกับการก่อการร้ายและมาตรการการต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งควรค่าแก่การแบ่งปัน

ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายในฟิลิปปินส์

การก่อการร้ายในฟิลิปปินส์เกิดจากแนวคิดที่ประกอบไปด้วยปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจและอิทธิพลของคตินิยมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดที่ยึดถือโดยอัลกออิดะห์ และญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (เจไอ) และล่าสุดคือรัฐอิสลามอิรักและซีเรียซึ่งรู้จักกันในชื่อดาอิซ กลุ่มก่อการร้ายเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนอันก่อให้เกิดองค์กรที่แยกตัวออกมาที่ไม่ยอมรับข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล และรับทัศนคติที่ยึดมั่นในหลักการแบบสุดโต่งมาใช้ในการแสวงหาลู่ทางเพื่อล้มล้างรัฐโลกวิสัยด้วยวิธีการรุนแรง และก่อตั้งรัฐอิสลามที่แยกตัวจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ปกครองโดยชะรีอะฮ์ หรือกฎหมายอิสลาม

ตัวอย่างเช่นสงครามอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) ซึ่งดึงดูดความสนใจจากเหล่านักรบอิสลามจากประเทศต่าง ๆ และยังเป็นโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานในต่างประเทศของนักเทศน์ ผู้อุปถัมภ์ และนายจ้างที่มีความคิดหัวรุนแรงซึ่งสนับสนุนปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดากลุ่มก่อการร้ายและปัจเจกบุคคลที่มีความคิดหัวรุนแรง สิ่งเหล่านี้กระตุ้นความรู้สึกของการเป็นพวกพ้องเพื่อเปิดทางให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ต่อมา อิทธิพลแบบดั้งเดิมและเป็นแบบแผนของอัลกออิดะห์และเจไอที่มีต่อกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นเริ่มถูกดาอิซครอบงำ จากการปลุกปั่นด้วยความสำเร็จในช่วงเปิดสมรภูมิ กลไกชวนเชื่ออันแน่วแน่ การสรรหาบุคลากรทางออนไลน์ผ่านสื่อสังคม และที่สำคัญที่สุดคือการใช้เรื่องเล่าของดาอิซเกี่ยวกับการสร้างชุมชนอิสลาม และข้อความพยากรณ์ที่นำมาสู่ความวิบัติของเหล่าศัตรูของอิสลาม นักรบก่อการร้ายต่างชาตินับพันคนเดินทางไปยังซีเรียและอิรักเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มดาอิซ รวมถึงผู้ที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 700 ถึง 1,000 คน

ทหารคนหนึ่งมองผ่านกระจกหน้าของรถทหารที่ถูกกระสุนยิงจนร้าว ขณะที่หน่วยของเขากำลังเตรียมตัวเคลื่อนพลออกจากสมรภูมิที่ปะทะกับนักรบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มรัฐอิสลามในฟิลิปปินส์ตอนใต้ เก็ตตี้อิมเมจ

ตั้งแต่ประกาศตนว่าเป็นรัฐเคาะลีฟะฮ์ในตะวันออกกลางเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 เครือข่ายดาอิซเติบโตขึ้นพร้อมกับกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ ทั่วโลกที่มาร่วมสวามิภักดิ์ ดาอิซตอบรับและเชื่อมโยงบางกลุ่มเหล่านี้อย่างเป็นทางการในรูปแบบของ วิลายะฮ์ หรืออำนาจการปกครอง

ในฟิลิปปินส์ นายอิสนิลอน ฮาปิลอน รองผู้นำกลุ่มอะบูซัยยาฟที่มีฐานอยู่ในบาซีลันและผู้ติดตาม ได้สวามิภักดิ์ต่อเคาะลีฟะฮ์ของดาอิซคือ นายอะบู บักร์ อัลบัฆดาดี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยนอกจากกลุ่มของนายฮาปิลอนแล้ว ยังมีองค์กรและปัจเจกบุคคลหัวรุนแรงอื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ที่ให้การสนับสนุนดาอิซ

ผู้ก่อการร้ายต่างชาติ

การมีผู้ก่อการร้ายต่างชาติในฟิลิปปินส์ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ภายในช่วงกลางทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543-2552) หลังการปราบปรามกลุ่มเจไอในภูมิภาค ความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายโดยรัฐบาล และการเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร ทำให้จำนวนนักรบก่อการร้ายต่างชาติในประเทศเริ่มลดน้อยลง ค่ายฝึกการก่อการร้ายส่วนใหญ่ในมินดาเนาถูกปิดตัวลง และแกนนำการก่อการร้ายต่างชาติคนสำคัญหลายคนเสียชีวิตที่นั่นหรือในประเทศบ้านเกิดของตนเอง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลังการอุบัติขึ้นของดาอิซใน พ.ศ. 2557 กระตุ้นให้ผู้ก่อการร้ายต่างชาติสายพันธุ์ใหม่เดินทางไปยังมินดาเนาและสานสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นด้วยความเป็นปึกแผ่นกับดาอิซ ในปัจจุบัน กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติที่พบในฟิลิปปินส์มีเจ็ดกลุ่ม และมีกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่มที่กำลังถูกจับตามอง

ผู้ก่อการร้ายต่างชาติสร้างอิทธิพลต่อทิศทางของกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นให้ดำเนินรอยตามวิสัยทัศน์ของดาอิซในอาณาเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมอบโอกาสให้กลุ่มเหล่านั้นได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ออกเงินสร้างสุเหร่าและโรงเรียน (มัดดารอซะฮ์) ในชุมชนมุสลิมเป็นฉากบังหน้าเพื่อขยายถิ่นฐานในประเทศนั้น และในท้ายที่สุดก็จะใช้เป็นสถานที่ปลูกฝังความคิดหัวรุนแรงและการล้างสมอง และเป็นสถานที่กบดานสำหรับกิจกรรมก่อการร้าย

ผู้ก่อการร้ายต่างชาติเผยแพร่คำสอนแบบสุดโต่งที่แฝงไปด้วยความรุนแรง และส่งเสริมการถ่ายถอดความรู้ เช่น การทำอุปกรณ์ระเบิดและการฝึกเป็นนักแม่นปืน ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ก่อการร้ายต่างชาติให้ความช่วยเหลือในการรวมกลุ่มของผู้ก่อการร้ายท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับดาอิซในตะวันออกกลางผ่านกลุ่มคาติบาห์ นูซันตารา ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีถิ่นฐานในซีเรีย

คาติบาห์ นูซันตารา คือหน่วยรบชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ดาอิซซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่พูดภาษามาเลย์ โดยส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ก็มีชาวฟิลิปปินส์และชาวสิงคโปร์อยู่ด้วย กลุ่มนี้มีชื่อเสียงกระฉ่อนว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีกรุงจาการ์ตาเมื่อ พ.ศ. 2559 และกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 30 กลุ่ม

ผู้ก่อการร้ายต่างชาติชื่อดังในฟิลิปปินส์อีกรายคือ ดร.มาห์มุด บิน อาหมัด ชาวมาเลเซีย และเป็นหัวหน้าฝ่ายสรรหาบุคลากรของดาอิซ ดร.มาห์มุดมีหน้าที่ฝึกและส่งนักรบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเข้าร่วมกับดาอิซในซีเรียและอิรัก ดร.มาห์มุดวางแผนก่อตั้งกลุ่มย่อยดาอิซอย่างเป็นทางการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการรวบรวมกลุ่มก่อการร้ายเล็ก ๆ จากอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์เข้าด้วยกัน ในภายหลัง ดร.มาห์มุดก่อตั้งกลุ่มคาติบาห์ อัล มูจาฮีร์ (กองพันพลัดถิ่น) ในฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวอินโดนีเซียและชาวมาเลเซียที่ไม่สามารถเข้าร่วมกับดาอิซในตะวันออกกลาง

โดยทั่วไป เหล่านักรบก่อการร้ายต่างชาตินี้ใช้เส้นทางลับเข้าออกทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งสะดวกต่อการติดต่อในท้องถิ่นและต่างชาติ ช่องทางอื่น ๆ ได้แก่จุดเข้าประเทศตามแบบ เช่น สนามบินและท่าเรือ

การเข้ายึดมาราวี

การเข้ายึดมาราวีถูกกำหนดให้เริ่มต้นขึ้นในวันแรกของช่วงเราะมะฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 แผนการนี้

มีรูปแบบมาจากการยึดโมซุลของดาอิซในอิรัก ซึ่งดำเนินการโดยการสังหารผู้คนอย่างป่าเถื่อนในหลายพื้นที่ของมาราวีซึ่งเป็นเมืองอิสลามเพียงแห่งเดียวของประเทศพร้อม ๆ กัน และดำเนินการโจมตีชุมชนชาวคริสต์ในเมืองอื่น ๆ ผู้ก่อการคาดหวังไว้ว่าพันธมิตรทางการเมืองและผู้คนในมาราวีจะสนับสนุนการยึดครองเมือง อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ถูกสกัดไว้ได้เมื่อรัฐบาลทำการบุกจู่โจมตามข่าวกรองที่ได้รับที่เซฟเฮาส์ของผู้นำดอเลาะ อิสลามียะห์ คือ นายอิสนิลอน ฮาปิลอน และพวกพ้องเมาเต อับดุลละห์ และโอมาร์คัยยาม ในเมืองมาราวี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การบุกจู่โจมครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าก่อนเวลาอันควรระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับผู้ก่อการร้ายกลุ่มย่อยที่ส่วนใหญ่แทรกซึมเข้าเมืองอย่างลับ ๆ เหตุการณ์ที่สำคัญคือ สมาชิกติดอาวุธเกือบ 700 คน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกดอเลาะ อิสลามียะห์ ญาติพี่น้อง สมาชิกนอกกฎหมายและผู้สนับสนุนอื่น ๆ โจมตีสิ่งปลูกสร้างหลายจุด จับพลเรือนเป็นตัวประกัน และยึดครองอาคารและพื้นที่สำคัญบางส่วนของเมือง

นาวิกโยธินฟิลิปปินส์ยิงปืนครกใส่ที่ตั้งของศัตรูในมาราวี ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เก็ตตี้อิมเมจ

หลายสัปดาห์ต่อมา กองทัพฟิลิปปินส์ออกปฏิบัติการเข้าโจมตีฐานที่มั่นศัตรูหลายแห่ง รวมถึงการใช้พลซุ่มยิง ซึ่งช่วยให้กองกำลังของรัฐบาลเข้าควบคุมอาคารบ้านเรือนที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึดไว้ก่อนหน้านี้ได้อีกครั้ง เป็นผลให้ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ประกาศชัยชนะเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560

ประสบการณ์ราคาแพงการยึดมาราวีกลายเป็นประสบการณ์ราคาแพงไม่เพียงสำหรับกองกำลังฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น แต่รวมถึงรัฐบาลด้วย ในปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่กินเวลาห้าเดือน กองกำลังความมั่นคงเผชิญกับนักรบก่อการร้ายสายพันธุ์ใหม่ที่มาพร้อมยุทธวิธีหลากหลาย ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ใช้ความรู้ทางสมรภูมิในการรบกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สภาพแวดล้อมที่มีอยู่ เช่น จุดได้เปรียบ เส้นทาง บ้านเรือนที่เสริมการป้องกัน เครือข่ายบุคคลและกลุ่มติดอาวุธ ทรัพยากรของเมือง และความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนของผู้อยู่อาศัยบางกลุ่ม เพื่อก่อสงครามกองโจรตามเขตเมืองที่ยาวนาน ความขัดแย้งที่ทำให้ทหารและตำรวจนับร้อยต้องจบชีวิต ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงขีดความสามารถของกองกำลังความมั่นคงแห่งฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสงครามในเมือง ข่าวกรอง การเฝ้าระวังและการลาดตระเวน รวมถึงการดักข้อมูล

รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังตระหนักถึงความศรัทธาทางศาสนาอันหยั่งลึกที่ผู้ก่อการร้ายยึดเหนี่ยว ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการล้างสมองด้วยแนวคิดหัวรุนแรง แรงศรัทธาทางศาสนาของผู้ก่อการร้ายอยู่เหนือการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ และเป็นสิ่งที่หลอมรวมกลุ่มเหล่านี้ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเข้าด้วยกัน ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และส่งผลให้เกิดการเข้ายึดมาราวี ในระยะแรกทุกคนต่างเชื่อกันว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เพียงต้องการสร้างความหวาดกลัว การขาดเสถียรภาพและแสวงหาผลกระโยชน์ทางการเงินเท่านั้น โดยไม่มีขีดความสามารถในการรบอย่างเต็มอัตราศึก ทฤษฎีนี้ผิดคาด เพราะความเป็นจริงกลับมีนักรบที่มีขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยม สามารถเข้ายึดพื้นที่ที่มีการปกครองอย่างเป็นระเบียบได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมท้องถิ่นและนานาประเทศ ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ยกระดับตนเองจากที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

แม้ปฏิบัติการทางทหารจะมีประสิทธิภาพ แต่กองกำลังทหารไม่สามารถปราบการก่อการร้ายได้เพียงลำพัง ผู้ก่อการร้ายใช้ประโยชน์จากปฏิบัติการทางทหารและการโจมตีทางอากาศ โดยใช้เหตุการณ์นองเลือดและการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดจากความขัดแย้งเป็นการเล่าเรื่องในเชิงกระตุ้นความสนใจที่ค่อย ๆ กัดกินความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหวังที่จะหว่านล้อมผู้อยู่อาศัยที่สูญเสียและได้รับผลกระทบให้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายและเข้าใจเหตุผลของการใช้ความรุนแรง

กฎหมายที่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดองค์กรก่อการร้ายและการแผ่ขยายของคตินิยมด้านความรุนแรง ตั้งแต่กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีข้อบกพร่อง ไปจนถึงการควบคุมชายแดน กฎหมายการเข้าเมืองและความมั่นคง รัฐบาลได้เห็นการปรับสภาพกายและจิตใจผ่านสถาบันสอนศาสนาอิสลามหัวรุนแรง ทางการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อองค์กรและระบบทางศาสนาและการศึกษา (ทุนการศึกษาอิสลามและการศึกษาต่างประเทศ) ระบบการส่งแรงงานไปต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ระบบการเมืองและการเลือกตั้ง และท้ายที่สุดคือวิธีการปกครองของท้องถิ่น ความพยายามเข้าควบคุมเมืองมาราวีเพื่ออ้างสิทธิในอาณาเขตโดยใช้กลยุทธ์ของดาอิซ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการไร้ขีดความสามารถดังกล่าว

การสนับสนุนและกำลังพลของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีส่วนสัมพันธ์กับบริบททางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในส่วนที่เรื่องเหล่านี้ปรากฏชัดเจน ชาวมุสลิมฟิลิปปินส์จำนวนมากต้องแบกรับความรุนแรงและความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของการกดขี่และความด้อยโอกาสในการปรับปรุงสถานภาพทางสังคม ทำให้ผู้คนสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายเพื่อหลีกหนีความยากจนและการถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายมักให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เพื่อเป็นแลกกับการเข้าร่วมและให้การสนับสนุน

ความพยายามของฟิลิปปินส์ในในการต่อต้านการก่อการร้าย

รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้มาตรการความมั่นคงที่ครอบคลุมเพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกตามจากการกลับมาของของนักรบต่างชาติและการก่อการร้าย การรณรงค์ตอบโต้การก่อการร้ายของฟิลิปปินส์ยึดหลักตามนโยบายของรัฐและกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศ ได้แก่ พระราชบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฉบับที่ 9372 หรือพระราชบัญญัติความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2550 โดยกำลังมีการปรับแก้บทบัญญัติหลัก ๆ เพื่อเพิ่มฟันเฟืองในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามการก่อการร้ายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานหลายภาคส่วนที่รู้จักกันในชื่อสภาการต่อต้านการก่อการร้าย ได้รับการจัดตั้งขึ้นอันเป็นผลจากพระราชบัญญัติความมั่นคงของมนุษย์เพื่อใช้นโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศ ศูนย์การจัดการโครงการของสภาการต่อต้านการก่อการร้าย ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการดำเนินงานที่เหมาะสมตามคำสั่งจากสภาทั้งหมด ซึ่งพยายามปรับปรุงการประสานงานของส่วนราชการเพื่อตอบโต้การก่อการร้าย

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์การจัดการโครงการและสภาการต่อต้านการก่อการร้าย เริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อป้องกันและตอบโต้ลัทธิสุดโต่ง ซึ่งจะแก้ปัญหาเหล่าผู้เผยแพร่คตินิยมความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความพยายามตามแนวทางนี้กำลังดำเนินการในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมินเดาเนา ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังปรับใช้มาตรการการออกกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมโดยกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฉบับที่ 10167 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายต่อต้านการฟอกเงิน และพระราชบัญญัติแห่งสาธารณรัฐฉบับที่ 10168 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการจัดหาเงินให้กับผู้ก่อการร้าย โดยกำหนดให้ธนาคารและสถาบันการเงินรายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินที่อาจเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้าย และให้ระงับทรัพย์สินหรือเงินของบุคคลและองค์กรที่ได้รับการกำหนดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายโดยทันที

ทั้งรัฐบาลและกองทัพฟิลิปปินส์ยังคงมีความเด็ดขาดในนโยบายการไม่ต่อรองกับผู้ก่อการร้ายหรือจ่ายเงินค่าไถ่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ได้ฝังรากลึกในเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนสามฝ่ายที่มีกองกำลังทหาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลท้องถิ่น และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรที่ทำงานร่วมกับกลุ่มลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่อย่างลับ ๆ เพื่อรักษากระแสเงินทุน

บทบาทสำคัญของกองทัพฟิลิปปินส์ในการตอบโต้การก่อการร้ายมุ่งไปที่การปฏิบัติการทางทหารที่ขับเคลื่อนด้วยข่าวกรอง ทันเวลาและแม่นยำ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กองทัพฟิลิปปินส์ใช้ข่าวกรองจากทุกแหล่งเพื่อระบุ ตรวจสอบ และค้นหาตำแหน่งเป้าหมายของศัตรู และชิงความได้เปรียบจากจุดอ่อนที่สำคัญของศัตรู การเพิ่มข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับแกนนำผู้ก่อการร้ายคือ การใช้ระบบการให้รางวัลตอบแทน ซึ่งมุ่งไปที่การให้สิ่งกระตุ้นแก่ผู้ให้ข่าวเพื่อรายงานการปรากฏตัวของแกนนำหล่านี้ในสถานที่ท้องถิ่น

นักรบแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรและตำรวจท้องถิ่นเดินข้ามแอ่งน้ำระหว่างทางไปยังเขตแนวหน้าที่ปะทะกับพวกหัวรุนแรงในจังหวัดมินดาเนา ฟิลิปปินส์ เก็ตตี้อิมเมจ

การรวบรวมข่าวกรองปริมาณมากภายใต้จุดมุ่งหมายของกองทัพฟิลิปปินส์ มีส่วนช่วยให้การทำงานด้านความมั่นคงดีขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อไป พร้อมทั้งการกำจัดแกนนำผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ ผู้วางแผนลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ และผู้วางระเบิด เราเข้าจับกุมที่ตั้งค่ายศัตรูหลายแห่ง ยับยั้งผู้ก่อการร้ายไม่ให้เข้าถึงเขตปลอดภัย ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ ตัดกำลังความสามารถในการใช้อาวุธและการสนับสนุนด้านส่งกำลังบำรุง

หน่วยข่าวกรองของกองทัพฟิลิปปินส์ยังเป็นสมาชิกของกลุ่มสืบสวนทางการเงินของผู้ก่อการร้ายร่วมที่เป็นการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการต่อต้านการระดมทุนของผู้ก่อการร้าย

ในการสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลเพื่อให้สังคมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันนั้น กองทัพฟิลิปปินส์ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเสริมสร้างสันติภาพในมินดาเนาเพื่อป้องกันชุมชนมุสลิมไม่ให้ได้รับความเสียหายจากกลุ่มก่อการร้าย มีการริเริ่มโครงการพัฒนาชุมชนพิเศษในถิ่นทุรกันดารเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงของประชาชนต่อการถูกชักชวนให้เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย กองทัพฟิลิปปินส์สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสันติภาพ การเสวนาเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา โครงการต่อต้านการปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรงและการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรง และช่วยเหลือด้านการเร่งติดตามการให้บริการพื้นฐานเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมทั้งกำจัดเครือข่ายสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำลายความแข็งแกร่งและความสามารถของผู้ก่อการร้ายต่อไป

นอกจากนั้น กองทัพฟิลิปปินส์ส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาคและระดับสากลให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องกัน ปราบปราม และกำจัดการก่อการร้ายในทุกสภาพและทุกรูปแบบให้ได้ในที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือด้านการแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรอง รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจ และกลไกการสร้างศักยภาพ

หน่วยข่าวกรองของกองทัพฟิลิปปินส์กำลังเพิ่มความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงร่วมกันผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนข่าวกรองในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอาเซียนด้วยเช่นกัน การพัฒนาครั้งสำคัญคือ การเปิดตัวองค์กรแลกเปลี่ยนข่าวกรองเชิงลึกของกองกำลังอาเซียนที่ริเริ่มโดยฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2554

กองทัพฟิลิปปินส์ได้ทำการซ้อมรบกับกองทัพของต่างชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และยังได้รับการสนับสนุนและการฝึกทางเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสงครามในเมืองจากกองทัพของต่างชาติที่เป็นหุ้นส่วนของเรา

โดยรวม ความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายของฟิลิปปินส์เป็นไปตามกรอบวิธีของแนวทางที่ให้สังคมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการกำจัดสาเหตุของความบาดหมางและความขุ่นเคืองที่อาจเป็นเหตุให้ผู้ที่มีความคิดหัวรุนแรงนำไปแสวงหาประโยชน์ ตลอดจนยกระดับสภาพสังคมเศรษฐกิจของภาคสังคมที่ด้อยโอกาส และเผยแพร่วัฒนธรรมความเข้าใจและสันติภาพ

เรื่องราวนี้เรียบเรียงจากการนำเสนอของ พ.ท.ดร.ซัลการ์เนน แฮรอน แห่งกองทัพมาเลเซีย ในระหว่างการประชุมผู้นำหน่วยข่าวกรองเอเชียแปซิฟิก ในเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาและปรับความยาวเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button