ติดอันดับ

อินโดนีเซียกล่าวว่า “ไม่เกี่ยวข้อง” กับการเรียกร้องการเจรจาเรื่องทะเลจีนใต้ของจีน

อินโดนีเซียได้ยกเลิกการเรียกร้องให้มีการเจรจาเกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างราบรื่น โดยระบุว่า ไม่มีข้อพิพาทที่จะต้องเจรจา

นายดาโมส ดูโมลี อากูสมัน ผู้อำนวยการทั่วไปด้านกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศประจำกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวย้ำถึงแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ของประเทศว่า ไม่มีข้อพิพาททางอาณาเขตกับรัฐบาลจีน

เมื่ออ้างอิงจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) แล้ว “อินโดนีเซียไม่มีการอ้างสิทธิ์ที่ทับซ้อนกับจีน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องการจำกัดขอบเขตทางทะเล” นายอากูสมันกล่าวกับเบนาร์นิวส์ ซึ่งเป็นบริการข่าวออนไลน์ในเครือเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563

นายอากูสมันแสดงความคิดเห็นดังกล่าวหลายวันหลังจากที่รัฐบาลจีนเขียนจดหมายโต้แย้งถึงหัวหน้าองค์การสหประชาชาติว่า ทั้งสองประเทศมีการอ้างสิทธิทางทะเลที่ขัดแย้งกันในบางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความตึงเครียดและความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ในทางกลับกัน มีการส่งจดหมายของจีนฉบับนั้นมาแทบจะทันทีหลังจากจดหมายทางการทูตของรัฐบาลอินโดนีเซียถึงนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อปฏิเสธเส้นประเก้าเส้นของจีน ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย

เส้นประดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการอ้างสิทธิทางอาณาเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีด้วย แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลระหว่างประเทศ พ.ศ. 2559 จะปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่จีนยังคงใช้ยุทธวิธีที่รุนแรง เป็นเหตุให้เกิดการประท้วงอย่างเป็นทางการจากหลายประเทศ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวอื่น ๆ จีนได้สร้างเกาะเทียมในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทและตั้งฐานทัพบนแผ่นดินใหม่เหล่านั้น

“อินโดนีเซียย้ำว่า แผนที่เส้นประเก้าเส้นที่บ่งบอกถึงการเรียกร้องสิทธิทางประวัติศาสตร์นั้นขาดพื้นฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และกำลังละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982” จดหมายของอินโดนีเซียถึงองค์การสหประชาชาติระบุ ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เส้นประเก้าเส้นยังรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนที่กำหนดตามเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งขยายเป็น 370 กิโลเมตร ให้สิทธิพิเศษแก่อินโดนีเซียในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเรือจากสองประเทศที่หมู่เกาะนาตูนา หลังจากที่เรือประมงจีนเริ่มปฏิบัติการในเขตดังกล่าว ซีเอ็นเอ็นรายงาน อินโดนีเซียจึงตอบโต้โดยการส่งเครื่องบินขับไล่และเรือของกองทัพเรือไปยังพื้นที่ดังกล่าว (ภาพ: เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ของกองทัพอินโดนีเซียเตรียมออกบินจากฐานทัพอากาศในเมืองเปกันบารู เพื่อลาดตระเวนเหนือทะเลจีนใต้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกแถลงการณ์ในเดือนถัดมาถึงความกังวลเกี่ยวกับ “การเรียกคืนดินแดน การพัฒนาล่าสุด และเหตุการณ์ร้ายแรงในทะเลจีนใต้ ซึ่งได้บ่อนทำลายความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดและอาจทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้”

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เรือเฝ้าระวังทางทะเลของจีนแล่นเข้ามาชนและทำให้เรือประมงของเวียดนามจมลงใกล้หมู่เกาะพาราเซล ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น เวียดนามส่งจดหมายทางการทูตถึงองค์การสหประชาชาติ เพื่อย้ำถึงอำนาจอธิปไตยของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า จีนได้สร้างความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ด้วยท่าทีที่ก้าวร้าว เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ต่างหันไปให้ความสนใจเรื่องการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยความตึงเครียดในการเดินเรืออย่างต่อเนื่องและการดำเนินการปฏิบัติการด้านเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ เรือของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียจึงดำเนินการฝึกซ้อมร่วมใกล้น่านน้ำที่มีการอ้างสิทธิ์โดยเวียดนาม มาเลเซีย และจีน

ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มีจดหมายถึงนายกูแตร์เรส โดยนางเคลลี คราฟต์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า “สหรัฐฯ คัดค้านการอ้างสิทธิ์ใน ‘สิทธิทางประวัติศาสตร์’ ของจีนในทะเลจีนใต้”

“ในการยืนยันการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่กว้างใหญ่ดังกล่าวในทะเลจีนใต้ จีนมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงสิทธิและเสรีภาพทางทะเลที่ทุกประเทศได้ใช้ตามสิทธิอย่างเต็มที่” นางคราฟต์กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button