ติดอันดับ

องค์กรนอกภาครัฐเสริมความพยายามในการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรงของรัฐในอินโดนีเซีย

ติดอันดับ | Feb 17, 2020:

องค์กรนอกภาครัฐในอินโดนีเซียกำลังดำเนินการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงในอดีตกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง โดยการจัดฝึกอบรมและช่วยเหลือด้านอาชีพเพื่อให้จัดตั้งธุรกิจของตนเองได้ ความพยายามเหล่านี้ขององค์กรนอกภาครัฐเป็นการส่งเสริมความพยายามในการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรงที่รัฐดูแล โดยเฉพาะหลังจากอดีตกลุ่มหัวรุนแรงได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมของรัฐบาล

อินโดนีเซียถูกกลุ่มหัวรุนแรงโจมตีอย่างรุนแรงถึง 45 ครั้งในระหว่าง พ.ศ. 2525 ถึง 2563 ตามรายงานจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 การก่อเหตุส่วนใหญ่มักกระทำโดยกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะฮ์ อย่างกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ และจามาห์ อันชารุต ดอเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวอินโดนีเซียที่จงรักภักดีต่อรัฐอิสลาม

นายแคเมอรอน ซัมป์เตอร์ นักวิชาการด้านการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงคาดคะเนไว้ในรายงานสำหรับศูนย์การต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศที่กรุงเฮกว่า มีผู้ต้องหาประมาณ 600 รายที่ถูกกล่าวหาหรือตัดสินว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงต้องโทษจำคุกและอยู่ในเรือนจำของอินโดนีเซีย ระหว่าง พ.ศ. 2545 ถึง 2562 มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง 650 ราย หลังจากรับโทษด้วยความผิดฐานก่อการร้าย นายซัมป์เตอร์เขียน

ผู้ต้องขังที่ต้องโทษด้วยข้อหาการก่อการร้ายจำเป็นต้องเข้าโครงการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงที่เป็นภาคบังคับของรัฐ เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการพ้นโทษและการปล่อยตัว นางธรรมา อกัสเทีย ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเพรสซิเดนท์ในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวอกัสเทีย เป็นผู้ร่วมเขียนบทความเรื่อง “การต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งผ่านความร่วมมือของภาครัฐกับสังคม: กรณีศึกษาโครงการการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย” ให้กับวารสารนโยบาย ข่าวกรอง และการต่อต้านการก่อการร้าย

นายซัมป์เตอร์รายงานว่า โครงการนี้ของรัฐมีจุดมุ่งหมายที่จะย้อนกลับการปลูกฝังความหัวรุนแรง โดยการรวบรวมข้อมูลและกำหนดระดับความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ของนักโทษแต่ละคน ต่อมาเป็นการฟื้นฟูสภาพเพื่อ “พัฒนาความเข้าใจและทัศนคติที่พอดี” ในหมู่นักโทษและครอบครัวของพวกเขา เพื่อให้เหล่านักโทษกลายเป็นพลเมืองที่ “ไม่แปลกแยก รักสงบ และใจกว้าง”

นางอกัสเทียกล่าวว่า “พวกหัวรุนแรงมักหลุดพ้นจากความรุนแรง หากพวกเขารู้สึกว่าถูกชักนำให้หลงผิดตามจุดมุ่งหมายหรือแนวปฏิบัติขององค์กรก่อการร้าย” เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว อดีตกลุ่มหัวรุนแรงหลายคนจะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสภาพที่องค์กรนอกภาครัฐเป็นผู้จัด

นางอกัสเทียกล่าวว่า “โครงการเหล่านี้อาจให้สินเชื่อทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้อดีตนักโทษดังกล่าวเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นร้านขายอาหาร” หรือจัดให้มีการฝึกอาชีพแก่ผู้เข้าร่วม นางอกัสเทียอธิบายว่า ความสำเร็จของการขจัดแนวคิดหัวรุนแรงเป็นเรื่องที่มีตอนจบเป็นอดีตกลุ่มหัวรุนแรงได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ในฐานะสมาชิกที่รักสงบและมีส่วนร่วมในสังคม

นางสาวอกัสเทียยกตัวอย่างนายนาเซอร์ อับบาส ซึ่งเกิดในปากีสถาน เขาฝึกให้กลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ เป็นพวกหัวรุนแรงสุดโต่งเพื่อต่อสู้ในอินโดนีเซียช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) นายอับบาสถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 หกเดือนหลังจากที่อดีตนักเรียนของเขาหลายคนลงมือโจมตีในบาหลีด้วยระเบิดและทำให้พลเรือน 202 คนเสียชีวิต ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์ที่นายอับบาสบอกกับนักข่าวบีบีซีว่าทำให้ตนเอง “สะเทือนใจ” และรู้สึก “ผิดบาป”

หลังจากผ่านการเข้าร่วมโครงการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรงแล้ว นายอับบาสได้ให้หลักฐานซัดทอดสมาชิกกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ จนนำไปสู่การตัดสินโทษและการจำคุก “จากนั้น นายอับบาสก็ช่วยตำรวจสื่อสารกับพวกหัวรุนแรงในคุก” นางอกัสเทียกล่าว “เพราะนักโทษเหล่านั้นจะฟังนายอับบาส”

โครงการดูแลนักโทษหลังออกจากคุกสำหรับอดีตกลุ่มหัวรุนแรงได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การนอกภาครัฐที่ชื่อว่า ยายาซัน ปราซัสตี เปอร์ดาไมอัน ซึ่งโครงการนี้ฝึกอบรมและจ้างงานในร้านอาหารจานด่วนชื่อดาเปอร์ บิสทิก ในเมืองสุราการ์ตาของอินโดนีเซีย และช่วยให้อดีตกลุ่มหัวรุนแรงเริ่มทำธุรกิจขนาดเล็กของตนเองได้ (ภาพ: นักเคลื่อนไหวกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กรุงจาการ์ตาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง)

นางอกัสเทียกล่าวว่า “ดาเปอร์ บิสทิก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างชุมชนดังกล่าว เนื่องจากเป็นการรักษาเครือข่ายสนับสนุนขนาดใหญ่” ของอดีตกลุ่มหัวรุนแรง

นางอกัสเทียกล่าวว่า องค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับความพยายามในการป้องกัน เพื่อต่อต้านการปลูกฝังลัทธิหัวรุนแรง โดยรวมถึงเครือข่ายปฏิบัติการชาวมุสลิมในเอเชีย ซึ่งให้การศึกษาและความเป็นชุมชนในแง่ของการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านอุดมการณ์ลัทธิหัวรุนแรง

ทอม แอบกี ผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button