ติดอันดับ

วาระครบรอบ 70 ปีสงครามเกาหลี เน้นย้ำความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้

สงครามเกาหลีเริ่มขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 เมื่อทหารเกาหลีเหนือกว่า 130,000 นาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธจากโซเวียต เคลื่อนกำลังพลข้ามเส้นขนานที่ 38 เพื่อบุกเข้าไปในเกาหลีใต้

องค์การสหประชาชาติซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมปกป้องสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยเร็ว และประณามการกระทำของเกาหลีเหนือทันที แม้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ แต่ก็ให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือ และกลายเป็นพันธมิตรหลักในสงครามครั้งนี้ ซึ่งเป็นเสมือนสังเวียนระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย

สงครามเกาหลีกลายเป็นสงครามแรกที่องค์การสหประชาชาติมีส่วนร่วม ภายหลังก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2488 จากสมาชิกเดิมจำนวน 51 ประเทศ มี 16 ประเทศที่ส่งกำลังทหารและสิ่งอื่น ๆ เข้าร่วม รวมทั้งญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนเกาหลีใต้

เกาหลีใต้และพันธมิตรต่อสู้กับเกาหลีเหนือและจีนเรื่อยมา จนกระทั่งได้ทำข้อตกลงสงบศึกร่วมกันเมื่อ พ.ศ. 2496 อย่างไรก็ตาม นายบรูซ คัมมิงส์ นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก อธิบายกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า ยังไม่มีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งในทางเทคนิคหมายความว่าประเทศทั้งสองยังทำสงครามกันอยู่

ข้อตกลงกำหนดเขตแดนใหม่บริเวณเส้นขนานที่ 38 ซึ่งเป็นจุดที่สงครามปะทุขึ้น ทำให้อาณาเขตของเกาหลีใต้ขยายไปอีก 3,880 ตารางกิโลเมตร และเกิดเขตปลอดทหารกว้าง 4 กิโลเมตรขึ้น

ความขัดแย้งเป็นเวลาสามปีของเกาหลี ได้วางรากฐานความสัมพันธ์ในปัจจุบันระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต

สงครามครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายแก่คาบสมุทรเกาหลีเป็นอย่างมาก เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 3 ล้านถึง 4 ล้านคน แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจากเกาหลีเหนือ ผู้ที่เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนอาจสูงถึงร้อยละ 50-70 ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์บางราย (ภาพ: ผู้คนเดินผ่านบริเวณพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานแห่งสงครามเกาหลี ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้)

นับตั้งแต่มีการสงบศึก เกาหลีใต้และเกาหลีเหนืออยู่ร่วมกันอย่างสงบแต่ดำเนินไปในเส้นทางที่แตกต่างกัน เกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยรวมเอาสังคมร่วมสมัยที่เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จทั้งหมดเข้าด้วยกัน ส่วนเกาหลีเหนือแยกตัวออกมาในทางเศรษฐกิจ โดยนำทรัพยากรส่วนใหญ่ที่มีอย่างจำกัดและควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการไปใช้ในกองทัพ ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชากร รวมถึงการดูแลด้านอาหารของประชาชนได้ ตามรายงานของสื่อหลายสำนัก

ในขณะเดียวกัน ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับสาธารณรัฐเกาหลีก็แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าที่เคย

“ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 70 ปีของจุดเริ่มต้นสงครามเกาหลี สหรัฐอเมริกายังคงยืนหยัดปกป้องสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเต็มที่นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน” นายมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในระหว่างการให้ข้อมูลสรุปแก่สื่อมวลชนที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ร่วมกับนายจอง คยองดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี “จากการต่อสู้และการเสียสละร่วมกันอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ความเป็นพันธมิตรของเราจึงแข็งแกร่งและยังคงเป็นแกนหลักของความมั่นคง เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองบนคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอันกว้างใหญ่แห่งนี้”

“ผมขอขอบคุณเหล่าทหารผ่านศึกและครอบครัวที่มีส่วนในสงครามเกาหลี รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างสุดซึ้ง ที่ทำให้มั่นใจว่าการเสียสละครั้งใหญ่ของกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ เมื่อ 70 ปีที่แล้วไม่สูญเปล่า” นายจองกล่าวในการแถลงข่าว

“สาธารณรัฐเกาหลีจะจารึกไว้ในส่วนลึกของหัวใจถึงความเสียสละและการอุทิศตนของเหล่าวีรบุรุษทุกคน ที่มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับสหรัฐฯ ให้เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้น ที่สนับสนุนซึ่งกันและกันและมองไปยังอนาคต” นายจองเขียนไว้ในส่วนความคิดเห็นที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าวของกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

“ยิ่งไปกว่านั้น พันธมิตรฝ่ายเราจะทำให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกองทัพที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจเกิดจากการรวมตัวด้านความมั่นคงและท่าทีความพร้อมทางทหาร สาธารณรัฐเกาหลีจะยังคงรักษา”คาบสมุทรที่สงบสุข” ให้ปราศจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามด้วยการสร้างสันติภาพที่ถาวรอีกด้วย” นายจองระบุ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button