ติดอันดับ

ฝูงบินอวกาศของญี่ปุ่นเพื่อป้องกันดาวเทียมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น

ฟีลิกซ์ คิม

ฝูงบินปฏิบัติการอวกาศของญี่ปุ่นจะเป็นแนวหน้าการป้องกันในการปกป้องกลุ่มดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นของประเทศ จากการโจมตีหรือความเสียหายที่เกิดจากเศษซากในอวกาศที่ล่องลอยอยู่

ฝูงบินหน่วยใหม่นี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับปฏิบัติการอวกาศและกระตือรือร้นในการทำงานด้านการป้องกันอวกาศร่วมกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด

โดยอธิบายถึงดาวเทียมของญี่ปุ่นว่า “เป็นหูเป็นตา หรือเป็นอวัยวะสำหรับสื่อสาร” นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม “การปกป้องดาวเทียมของเราจากการโจมตีที่เป็นอันตรายหรือเศษซากอวกาศนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก”

นายโคโนะระบุว่า ฝูงบินอวกาศ “เป็นเหมือนหน่วยสืบสวนพิเศษทางวิทยาศาสตร์” ที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวังอวกาศอย่างใกล้ชิดควบคู่กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ในพิธีปล่อยฝูงบิน นายโคโนะอธิบายว่า อวกาศเป็น “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงใหม่” และกล่าวว่าญี่ปุ่นต้องพัฒนาขีดความสามารถใหม่โดยเร็ว ระบบเรดาร์ขั้นสูงในการตรวจจับดาวเทียมที่น่าสงสัยและเศษซากที่เป็นอันตรายจะทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ นายโคโนะกล่าวเสริม

ดาวเทียมของญี่ปุ่นเผชิญกับภัยคุกคามรวมถึงระบบการสกัดกั้นดาวเทียมที่เป็นได้ทั้งแบบจลน์และไม่ใช่แบบจลน์ นางสาวยูกะ โคชิโนะ นักวิจัยด้านนโยบายความมั่นคงและกลาโหมของญี่ปุ่น ที่สถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศอธิบายไว้ในบทความออนไลน์ “หน่วยภารกิจและความมั่นคงมิติอวกาศใหม่ของญี่ปุ่นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ระบบจลน์ประกอบด้วยยานสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้ปล่อยขีปนาวุธขึ้นไปทำลายดาวเทียมรายงานสภาพภูมิอากาศดวงหนึ่งใน พ.ศ. 2550 รัสเซียกำลังพัฒนายานสกัดกั้นภาคพื้นดินที่รู้จักกันในชื่อ นูดอล รวมถึงยานสกัดกั้นทางอากาศอีกหนึ่งลำ ระบบการสกัดกั้นดาวเทียมที่ไม่ใช่แบบจลน์เกี่ยวข้องกับเลเซอร์และการรบกวนสัญญาณ นางสาวโคชิโนะกล่าวเสริม

และกล่าวย้ำว่า การเริ่มต้นของฝูงบินปฏิบัติการอวกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนถึงการใช้ดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ดาวเทียมเหล่านี้ ได้แก่ คิราเมกิ-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารทางทหารแบบเอกซ์แบนด์ที่ใช้สำหรับการบัญชาการ การควบคุม การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ข่าวกรอง การตรวจตรา และการลาดตระเวน ซึ่งปล่อยจากจรวดเอช-ทูเอของญี่ปุ่น (ตามภาพที่ศูนย์อวกาศทะเนะงะชิมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ) และระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธจำนวน 4 ดวง หรือที่เรียกว่ามิจิบิคิ ซึ่งกองทัพเรือญี่ปุ่นใช้ในการเดินเรือ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบเตือนภัยขีปนาวุธอวกาศล่วงหน้าด้วย นางสาวโคชิโนะกล่าว

ฝูงบินจะประจำที่ฐานทัพอากาศฟุชูนอกกรุงโตเกียว สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงาน เจ้าหน้าที่จำนวน 20 นายจะขยับขยายไปพร้อมกับขีดความสามารถของฝูงบิน นายโคโนะกล่าว ฝูงบินจะเริ่มปฏิบัติการอย่างเต็มที่ใน พ.ศ. 2566 เมื่อมีการใช้เรดาร์อวกาศห้วงลึกภาคพื้นดิน

นอกเหนือจากเรดาร์ดังกล่าว ยังมีการของบประมาณด้านกลาโหม พ.ศ. 2563 ของรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับดาวเทียมการเฝ้าระวังทางอวกาศที่มีกล้องโทรทรรศน์เชิงทัศนศาสตร์เพื่อสแกนเศษซากอวกาศและการสกัดกั้นดาวเทียม “ความสนใจที่เพิ่มขึ้นด้านการเฝ้าระวังทางอวกาศของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรความมั่นคงระดับภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย” นางสาวโคชิโนะสรุป

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button