เรื่องเด่น

ความมั่นคง ทางทะเล

หัวหน้าหน่วยงานใหม่ของอินโดนีเซีย บอกเล่าความคิดของตนในการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด การประมงที่ผิดกฎหมาย และภัยคุกคามอื่น ๆ ต่อเสถียรภาพ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พล.ร.ท. อัคมัด เทาฟิคโอเอรอชแมน รองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซีย หรือที่รู้จักในนามคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออินโดนีเซียใน พ.ศ. 2528 พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและปฏิบัติหน้าที่บนเรือเหนือผิวน้ำ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในด้านการทำสงครามปราบปรามเรือดำน้ำ พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน บัญชาการเรือหลายลำ กองเรือรบคุ้มกัน และกองกำลังฝึกฝนของกองเรือ ผลการดำเนินงานของ พล.ร.ท.

เทาฟิคโอเอรอชแมน ในงานที่ได้รับมอบหมายทั้งทางน้ำและทางบกทำให้มีความก้าวหน้าทางอาชีพเร็วยิ่งขึ้น ในฐานะนายทหารชั้นนายพล พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหมวดเรือเฉพาะกิจการรบทางทะเลและผู้บัญชาการกองเรือสูงสุด พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน นำกองกำลังเฉพาะกิจเมราห์พุทธิห์ (สีแดงและสีขาว)
ของอินโดนีเซียในภารกิจ พ.ศ. 2554 เพื่อปลดปล่อยลูกเรือชาวอินโดนีเซียของเรือเอ็ม/วี ซินาร์ คูดัส หลังจากโจรสลัดโซมาเลียยึดเรือบรรทุกสินค้าลำดังกล่าว กองกำลังเฉพาะกิจดูตา ซามูดรา ร่วมมือกับกองกำลังเฉพาะกิจ

อื่น ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 151 รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังพิเศษของกองทัพเรือและกองทัพบกอินโดนีเซีย หลังจากได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายพลใน พ.ศ. 2554 พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน ได้รับตำแหน่งรองผู้ว่าการโรงเรียนนายเรืออินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้เลื่อนเป็นผู้ว่าการใน พ.ศ. 2557 และเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองเรือตะวันตกใน พ.ศ.

2558 ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน ได้จัดตั้งกองเรือตะวันตกตอบสนองรวดเร็ว ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำลายล้างการปล้นแบบติดอาวุธและการกระทำอันเป็นโจรสลัดในช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ จนกระทั่งไม่มีเหตุปล้นเกิดขึ้นอีกภายในหกเดือน

ภายใต้การบัญชาการของ พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลมุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลระดับมืออาชีพ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากชุมชนทางทะเลระดับชาติและนานาชาติ หน่วยงานดังกล่าวพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยแบบพึ่งพาตนเองในอินโดนีเซียด้วยลักษณะที่แข็งแกร่ง หน่วยงานนี้เปิดตัวใน พ.ศ. 2557 โดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอินโดนีเซีย แม้ว่าผู้นำสูงสุดของหน่วยงานจะได้รับการคัดเลือกจากกองทัพเรืออินโดนีเซียโดยประธานาธิบดี

เรือเคเอ็น แทน จุง ดาทา ของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซีย (ซ้าย) ล่องคู่ไปกับเรือตรวจการณ์สแตรทตันของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ในช่องแคบสิงคโปร์ จ.อ. ลีไว รีด/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

ภารกิจของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลคือการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยในน่านน้ำและเขตอำนาจศาลของอินโดนีเซีย รวมทั้งเป็นตัวแทนของอินโดนีเซียในฐานะรัฐหมู่เกาะ เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอินโดนีเซียในฐานะรัฐทางทะเล โดยการทำให้คณะกรรมการดังกล่าวเป็นผู้พิทักษ์ศูนย์กลางทางทะเลของโลก และทำให้อินโดนีเซียเป็นรัฐทางทะเลที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

บทบาทหลักของคณะกรรมการประสานงาน คือการดำเนินการด้านความมั่นคงทางทะเลและการลาดตระเวนเพื่อความปลอดภัยในน่านน้ำและเขตอำนาจศาลของอินโดนีเซีย เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถป้องกันรวมถึงต่อต้านปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล ตลอดจนการประมงที่ผิดกฎหมายและการลักลอบขนยาเสพติด คณะกรรมการประสานงานนี้มีบุคลากรมากกว่า 1,000 คน เรือเดินทะเล 36 ลำ มีตั้งแต่เรือเล็กจนถึงขนาด 110 เมตร และฐานทัพประจำภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ฐานทัพโซนตะวันตกในบาตัม ฐานทัพโซนกลางในมานาโด และฐานทัพโซนตะวันออกในอัมบอน ซึ่งรวมถึงสถานีเฝ้าระวัง 15 แห่งทั่วอินโดนีเซีย

คณะกรรมการประสานงานซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของกระทรวงประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และกิจการความมั่นคง นอกจากนี้ยังแยกจากกองกำลังรักษาชายฝั่งและทะเลอินโดนีเซียซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการประสานงานเป็นผู้ถือผลประโยชน์ในกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อกำจัดการทำประมงผิดกฎหมายของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของ

ฟอรัม: ประสบการณ์ของคุณในหลายตำแหน่งงานที่สำคัญ นำคุณไปสู่การเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซีย กรุณาบอก ฟอรัม เพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลและวิธีที่คุณปฏิรูปหน่วยงานดังกล่าว

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: ตอนที่ผมได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีอินโดนีเซียให้รับหน้าที่บัญชาการคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล ผมอยู่ที่โรดไอแลนด์เพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมมนาใน พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศด้านพลังงานทะเลครั้งที่ 23 ที่วิทยาลัยยุทธนาวีสหรัฐฯ เมื่อกลับมา ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีและบอกพวกเขาว่า บางทีอาจเลือกคนมาเป็นผู้นำคณะกรรมการประสานงานผิด เพราะตลอด 34 ปีในกองทัพเรือผมอยู่ในหน่วยรบเสมอ เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดจากการต่อสู้เป็นการบังคับใช้กฎหมาย จากการมาเพื่อทำลาย กลายเป็นการมาเพื่อปกป้อง ยากที่จะเปลี่ยนความคิด วิธีคิดของผม แต่ประธานาธิบดีกล่าวว่า คุณต้องเป็นผู้นำคณะกรรมการประสานงานและทำให้องค์กรดีขึ้น ดังนั้นผมจึงทำตามคำสั่งของท่านที่ให้มายังคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล

ดังนั้น เราจึงได้เรียนรู้ก่อนว่า… คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลเป็นอย่างไร เนื่องจากเราไม่เคยนึกถึงคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลมาก่อน แล้วเราก็พบคำสั่งของประธานาธิบดีให้ก่อตั้งคณะกรรมการประสานงาน และให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาชายฝั่งในอินโดนีเซีย รวมทั้งให้พัฒนาสถานที่ฝึกอบรมและโครงการฝึกอบรมสำหรับคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลทั้งหมด เราต้องกำหนดว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งคืออะไร ผมตระหนักว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ มีประสบการณ์มากที่สุดหลังจากที่ก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 200 ปี

เรือของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลลาดตระเวนในน่านน้ำของอินโดนีเซีย หน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซีย

เมื่อผมเปิดคู่มือของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ หน้าแรก พบว่าน่าสนใจมาก เพราะคู่มือระบุว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในเจ็ดสถาบันเครื่องแบบในสหรัฐฯ คำถามต่อไปคือ สถาบันเครื่องแบบคืออะไร ผมรู้ว่านั่นเป็นภาระผูกพันเพียงอย่างเดียวสำหรับกฎหมายและอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล ผมเปลี่ยนเครื่องแบบจากชุดบาติกแขนยาวและชุดซาฟารี เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของหน่วยงานในฐานะสถาบันกองกำลังรักษาชายฝั่ง ขั้นตอนแรกคือการเปลี่ยนความคิดของผู้คนผ่านเครื่องแบบใหม่ ตอนนี้เรามีชุดฤดูร้อนสำหรับงานทางการและชุดต่อสู้

หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน เราตระหนักว่าเราต้องกำหนดภารกิจ ภารกิจของคณะกรรมการประสานงาน คือการดำเนินการลาดตระเวนเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยของทะเลในการขัดขวางทางทะเล และเพื่อการประสานงานของผู้ถือผลประโยชน์ทั้งหมด รวมทั้งใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการด้านความมั่นคงทางทะเล เราจะดำเนินการลาดตระเวน วางแผน และจัดระเบียบ ภารกิจและความสามารถของเรามีความเชื่อมโยงกันในการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้นผมจึงบอกเจ้าหน้าที่ว่าเราต้องจัดลำดับความสำคัญ ก่อนอื่นเราต้องพัฒนาโคนอป ซึ่งเป็นแนวคิดของการปฏิบัติงาน สำหรับกองเรือพื้นฐาน เราต้องการเรือ 77 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 29 ลำ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 6 ลำ ฐานทัพจำนวนหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดคือศูนย์บัญชาการ เราตระหนักว่างบประมาณค่อนข้างมีจำกัด เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญ ฉะนั้นเราจึงสร้างศูนย์บัญชาการก่อน แนวคิดง่าย ๆ คือต้องมีกฎระเบียบและกฎหมาย เนื่องจากเรามีผู้ถือผลประโยชน์จำนวนมาก เราตระหนักว่า เราไม่เพียงแต่สามารถใช้เอกภาพของการบังคับบัญชาเพื่อดำเนินการเท่านั้น แต่เรายังสามารถให้เอกภาพของความพยายามได้ด้วย คณะกรรมการประสานงานจึงสามารถให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุด
ถัดมา เราได้หารือกันว่าสถานีกองกำลังรักษาชายฝั่งแห่งแรกจะตั้งอยู่ที่ไหน เราจะจัดให้มีศูนย์บัญชาการสองแห่งเนื่องจากต้องอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ เช่น อินโดนีเซียมีช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ 4 แห่งจาก 9 แห่งในโลก นอกจากนี้ เรายังมีเส้นทางเสริมสี่สายที่เราสามารถรับประกันความปลอดภัย หลังจากนั้นจุดยุทธศาสตร์อื่น ๆ ก็ทำให้เรามีสถานีกองกำลังรักษาชายฝั่งรวม 21 แห่ง

เรามีชายฝั่งที่ทอดตัวเป็นแนวยาว จึงไม่สามารถจัดตั้งสถานีกองกำลังรักษาชายฝั่งไว้ในแต่ละที่ เนื่องจากจะมีต้นทุนสูงมาก ดังนั้นเราต้องมีสถานีกองกำลังรักษาชายฝั่งแบบเคลื่อนที่ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังเขตหนึ่ง ๆ ได้เมื่อเราเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญ เราสามารถย้ายยุทโธปกรณ์ไปยังบางพื้นที่และเพิกเฉยต่อพื้นที่อื่น ความสามารถคือการเฝ้าระวังก่อนอันดับแรก เพื่อตรวจจับและหยุดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และแน่นอนว่า ตามด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการช่วยเหลือในปฏิบัติการขัดขวางทางทะเล ซึ่งนี่คือลำดับความสำคัญของผมในอนาคต

น.อ. เนียวโต สับโทนา (ซ้าย) ผู้บังคับบัญชาเรือเคเอ็น แทน จุง ดาทาของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซีย พบกับ น.อ. บ็อบ ลิตเติล ผู้บังคับบัญชาเรือตรวจการณ์สแตรทตันของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ขณะเรือกำลังจอดอยู่ที่เมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซียจ.อ. ลีไว รีด/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

ฟอรัม: องค์กรและหน่วยงานหลักที่คุณติดต่อด้วยมีที่ใดบ้าง

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: หน่วยงานแรกคือกองทัพเรือ ซึ่งมียุทโธปกรณ์อยู่แล้วและมีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีเพื่อดำเนินการปฏิบัติการ โดยเราร่วมมือกับกองทัพเรืออย่างใกล้ชิด แต่นอกจากนี้ ในการบังคับใช้กฎหมาย เราประสานงานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นเราร่วมมือกับสำนักงานต่อต้านยาเสพติดแห่งชาติของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ศุลกากร กระทรวงคมนาคม การประมงและอื่น ๆ แต่หลัก ๆ คือกองทัพเรือและตำรวจ ความท้าทายและโอกาสสำหรับคณะกรรมการประสานงานคือการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในทะเล ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎข้อบังคับและกฎหมายหลายฉบับ เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการประสานงานได้เสนอต่อรัฐสภาอินโดนีเซียเพื่อให้สัตยาบันกฎหมายความมั่นคงทางทะเล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมการประสานงานในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ

ฟอรัม: ช่วยเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพยายามด้านความร่วมมือของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลให้เราฟังได้หรือไม่

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลสนับสนุนความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการปรับปรุงกิจกรรมร่วมที่มีอยู่และความพยายามในการสร้างศักยภาพผ่านการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นทางทะเล การแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองเพื่อปรับปรุงความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล ความร่วมมือในอนาคตกับสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะรวมถึงความร่วมมือในการสร้างศักยภาพ การฝึกอบรม การศึกษา การแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรอง ความร่วมมืออื่น ๆ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงคือความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ในรูปแบบของการประชุมสัมมนากองกำลังรักษาชายฝั่ง โดยมีหัวข้อพิเศษที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลกใน เช่น ทะเลจีนใต้ เราตระหนักดีว่าทุกฝ่ายมีภัยคุกคามระดับโลกต่อความปลอดภัยทางทะเลร่วมกัน เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง และต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อหาทางออก

ฟอรัม: คุณประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศใดบ้างเพื่อสร้างขีดความสามารถและศักยภาพ

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: เราตระหนักว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ มีประสบการณ์มากที่สุด แต่ก็มีลักษณะและความท้าทายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีความแตกต่างจากอินโดนีเซียอย่างมากในมุมมองของกลุ่มเกาะ เราได้เรียนรู้จากกองกำลังรักษาชายฝั่งอื่น ๆ เช่น กรีซ ผมคิดว่ากรีซที่มี 9,000 เกาะ ซึ่งเป็นเกาะส่วนใหญ่ในยุโรปมีความคล้ายคลึงกับอินโดนีเซีย เราได้เรียนรู้จากฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเช่นกัน เราได้ประโยชน์จากความซับซ้อนในการทำงานของกองกำลังรักษาชายฝั่ง ซึ่งก็คือกลุ่มเกาะ เราเรียนรู้จากกันและกันได้

ความท้าทายแรกของเราคือตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์และกลุ่มดาวทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซีย เรามีช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ 4 แห่ง และเราก็มีเส้นทางคมนาคมทางทะเล ภายใต้การให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เราต้องเตรียมเฝ้าระวังเพื่อให้มีเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัยในมหาสมุทร ซึ่งนี่เป็นการเพิ่มความซับซ้อน ประการที่สองคือความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ในโลก ความท้าทายนี้ทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะมีส่วนร่วมและสร้างอิทธิพลต่อผู้มีบทบาทรายใหญ่บางรายในภูมิภาค ความท้าทายต่อไปของเราคือ เรามีเขตแดนมากมายติดกับหลายประเทศ และบางจุดยังคงมีข้อพิพาท อันจะนำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมได้พูดคุยกับผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่งคนอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อหลีกเลี่ยงการคำนวณที่ผิดพลาดในทะเล ซึ่งเราอาจจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศได้ เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เราตรวจพบกองเรือประมง 6 ลำจากเวียดนาม ซึ่งได้รับการคุ้มกันจากเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่ง 2 ลำเมื่อเข้าสู่พื้นที่พิพาท ผมสั่งให้สกัดกั้นเรือเหล่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาในอาณาเขตของเรา แต่เนื่องจากพื้นที่ที่พวกเขาทำประมงอยู่เป็นพื้นที่ซึ่งกำลังเป็นข้อพิพาท เราจึงแนะนำให้พวกเขาทำประมงในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่พิพาท เราติดต่อกองกำลังรักษาชายฝั่งเวียดนามมานัดพบกันในทะเล พวกเขาตกลง และถอนเรือออกจากพื้นที่ไปทางเหนือ ผมคิดว่ามีวิธีที่ดีในการป้องกันความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น เรารู้เพราะเรือเหล่านั้นเป็นเรือประมงแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจไม่มีแผนที่หรือจีพีเอส หรืออาจไม่รู้ตำแหน่งที่ถูกต้องเมื่อเข้าสู่น่านน้ำของเรา

ฟอรัม: นอกเหนือจากการประชุมในทะเล คุณยังเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติหรือระดับภูมิภาคเพื่อหารือถึงวิธีหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเหล่านี้ด้วยหรือไม่

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: นอกจากนี้ เรายังมีองค์กรที่เรียกว่า การประชุมหัวหน้าหน่วยกองกำลังรักษาชายฝั่งแห่งเอเชีย เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเราหารือถึงวิธีการร่วมมือกัน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของเรายังทำการฝึกร่วมกันด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลของเราส่งเรือไปยังอินเดียเพื่อเข้าร่วมการฝึกร่วมสำหรับการวางแผน รวมถึงไปยังจาการ์ตา กองกำลังรักษาชายฝั่งเกาหลีและกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ส่งเรือตรวจการณ์สแตรทตันของกองกำลังรักษาชายฝั่ง เข้าร่วมการฝึกผสมความร่วมมือและความพร้อมทางเรือของอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม เรายังดำเนินการลาดตระเวนร่วมกับกองกำลังพิทักษ์เขตแดนออสเตรเลีย เราส่งเรือไปลำหนึ่ง และพวกเขามีเรือลำหนึ่งด้วย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 เราจะดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ไม่เพียงประสานงานการลาดตระเวนเท่านั้นแต่ดำเนินการตรวจเยี่ยมด้วย

ฟอรัม: ปัจจุบันคุณทำการลาดตระเวนชายแดนกับประเทศใดบ้าง

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: เราทำการลาดตระเวนชายแดนอย่างเป็นทางการกับออสเตรเลียเท่านั้น แต่เรายังทำการลาดตระเวนอย่างไม่เป็นทางการกับกองกำลังรักษาชายฝั่งเวียดนาม เพื่อให้เราสามารถพบกันในทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรูกัน เราเชิญพวกเขาไปพร้อมกับเรือของผม เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถพบปะและหารือรวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงาน

ฟอรัม: คุณคิดว่าสิ่งใดเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงสูงสุดสำหรับอินโดนีเซียที่คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลเป็นผู้รับมือ

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: ความสำคัญสูงสุดคือการรักษาความมั่นคงของเส้นทางคมนาคมทางทะเล จากนั้นคือการรับประกันภาระผูกพันทางทะเลในหมู่เกาะของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล นอกจากนี้ เรายังเห็นความสำคัญในการสร้างความสงบเรียบร้อยในทะเลที่ดีในเขตอำนาจศาลของผม สุดท้าย เราสามารถรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเล ตราบใดที่ยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เราสนับสนุนหน่วยเฉพาะกิจ 115 ซึ่งนำโดยกระทรวงการประมงตามอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี เราสนับสนุนพวกเขาเพื่อประสานความพยายามของเรา นอกจากนี้ ผมยังแบ่งปันประสบการณ์ของผมกับพวกเขาจากตอนที่ผมอยู่ในกองทัพเรือในฐานะผู้บัญชาการการรบและกองเรือ เช่น เมื่อพวกเขาเริ่มหน่วยเฉพาะกิจ พวกเขาไม่มีแนวคิดในการดำเนินการปฏิบัติการ… และผมมีความสามารถในเรื่องนั้น

ฟอรัม: คุณช่วยบอกถึงทะเลจีนใต้ หลักปฏิบัติ และความสำคัญของการที่ทุกประเทศปฏิบัติตามกติกาของนานาชาติได้ไหม

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: ในทะเลจีนใต้ เรามีพรมแดนติดกับเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เราต้องหยุดด้วยการกระทำนอกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล นั่นคือเส้นประเก้าเส้น นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขตเศรษฐกิจของเรา เรายังคงยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลอันถูกต้องตามกฎหมาย บางครั้งเรามีความตึงเครียดที่นั่น ย้อนกลับมายังประสบการณ์ของผมในฐานะผู้บัญชาการ เราส่งการสกัดกั้นไปยังทะเลจีนใต้เนื่องจากเราตรวจพบกิจกรรมสำคัญมากมายที่นั่น ผมจับได้บางส่วน และบางส่วนก็เป็นกองกำลังรักษาชายฝั่งจีน พวกเขาบอกว่า “นี่เป็นพื้นที่ทำประมงของจีน” ผมจึงบอกว่า “ผมไม่รู้จักพื้นที่ทำประมงดั้งเดิม ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมีสิทธิในการประมงแบบดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทำประมง เรามีข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศในด้านสิทธิในพื้นที่ทำประมง” เมื่อเป็นอินโดนีเซียและมาเลเซีย… ในการประมงจำนวนมากของมาเลเซียตั้งแต่สมัยโบราณ พวกเขาทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียหลังจากข้อตกลงกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหา และพวกเขายังคงอยู่ที่นั่น เราไม่รู้จักพื้นที่ทำประมงแบบดั้งเดิม เรายังคงยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ดังนั้น เราจึงยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคแห่งนี้เพื่อดำเนินการขัดขวาง

ฟอรัม: เหตุใดความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐฯ จึงมีความสำคัญ

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: เมื่อย้อนนึกถึงประสบการณ์ของผมในฐานะผู้บัญชาการกองรบในโซมาเลีย… เมื่อเรือพ่อค้าถูกโจรสลัดโซมาเลียปล้น ผมเป็นผู้บัญชาการกองรบ ประธานาธิบดีตัดสินใจส่งกลุ่มเฉพาะกิจ และหลังจากการหารือท่านได้เลือกผมให้เป็นหัวหน้ากลุ่มเฉพาะกิจนี้ เนื่องด้วยประสบการณ์ของผมใน พ.ศ. 2547 (ผมจำได้ว่าผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ คือ พล.ร.อ. โธมัส ฟาร์โก แห่งหลักนิยมฟาร์โก ซึ่งสหรัฐฯ ได้ส่งยุทโธปกรณ์ไปยังภูมิภาคนี้เพื่อจัดระเบียบเส้นทางคมนาคมทางทะเล) ในฐานะผู้บัญชาการ ผมขอการอนุมัติจากผู้บัญชาการกองทัพเรือให้ส่งผมไปยังช่องแคบมะละกาเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติการ เนื่องจากใน พ.ศ. 2543 การจี้เรือเป็นปัญหาใหญ่ในช่องแคบมะละกา และในอดีต ก่อน พ.ศ. 2543 พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการปล่อยตัวประกันของเรือมากนัก สำหรับอากาศยานนั้นสำเร็จ แต่กับเรือนั้นไม่เลย ในฐานะผู้บังคับบัญชา ผมค้นพบคำตอบและดำเนินการทันที เพราะเราทราบเรื่องนี้เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. และมีการระบุตำแหน่งแล้ว เราวางแผนเสร็จสิ้นในห้าชั่วโมงต่อมา และตอน 23.00 น. เราเรียกกองกำลังพิเศษมาเพื่อดำเนินปฏิบัติการปล่อยตัว แต่ในเวลานั้น พวกเขายังไม่ได้ใช้ปฏิบัติการพิเศษ ทางเลือกของผมคือถอนคนของเราหรือใช้กำลังบังคับ ในตอนนั้นผมยอมเสี่ยงที่จะใช้กำลังบังคับโดยใช้ทีมของผม ผมมีทีมละเจ็ดคนสองทีม รวมทั้งหมด 14 คน โจรจี้เรือมีห้าคนและตัวประกันมี 36 คน เราทราบถึงสถานการณ์ รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์ จนมีช่วงที่เหมาะเจาะในเวลา 1.00 น. เพื่อเริ่มทำการจู่โจม เราทำการต่อสู้ระยะประชิด เราไม่เคยเตรียมพร้อมเรื่องนั้นมาก่อน ดังนั้นสำหรับอุปกรณ์ เราจึงใช้เอเค-47 คุณคงนึกภาพออก เอเค-47 กับกระสุน 7.62 ที่ระยะ 1.5 เมตร คุณคงนึกภาพออกเมื่อยิงกระสุนไป หัวของชายคนนั้นก็ระเบิด เราจัดการพวกโจรจี้เรือทั้งห้าคน และปฏิบัติการก็ประสบความสำเร็จเต็ม 100 ด้วยเหตุผลสี่ประการ ประการแรก เราช่วยตัวประกันทั้งหมด 36 คนโดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ประการที่สอง โจรจี้เรือทั้งหมดถูกกำจัด ประการที่สาม เราไม่สูญเสียยุทธภัณฑ์เรือเลย ประการสุดท้าย เราได้เรือคืนมาอย่างปลอดภัยโดยไม่มีสมาชิกของกองกำลังได้รับบาดเจ็บในการยิงต่อสู้ ผู้บัญชาการกองทัพเรือได้เรียกตัวผมให้มาที่จาการ์ตาทันที ผมไปจาการ์ตาและเจ้าหน้าที่ทั่วไปทุกคนอยู่ที่นั่น โดยผู้บัญชาการขอให้ผมสรุปผลปฏิบัติการ สิ่งที่ควรพิจารณาอย่างแรกคือหลักนิยมของ พล.ร.อ. ฟาร์โก นั่นคือ หากคุณประสบความสำเร็จ ให้ต่อยอดจากสิ่งนั้น หากคุณล้มเหลว ให้ออกแบบใหม่ ผมอธิบายและผู้บัญชาการกองทัพเรือกล่าวว่า “คุณนี่บ้าจริง ๆ” ผมตอบ “ใช่ครับท่าน หากไม่บ้าผมก็คงไม่ชนะ”

ผมคิดว่าด้วยประสบการณ์ดังกล่าวใน พ.ศ. 2554 ประธานาธิบดีจึงเลือกผมให้นำกลุ่มหน่วยเฉพาะกิจไปโซมาเลีย ในเวลานั้น ผมได้เขียนถึงวิธีตอบโต้โจรสลัดโซมาเลียสำหรับปฏิบัติการกู้ภัย (ผมได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีที่บ้านของเขา ผมทราบจากสำนักงานของประธานาธิบดีว่า กองทัพได้ส่งประวัติย่อของนายทหารระดับร้อยตรี 11 นายเพื่อนำกลุ่มเฉพาะกิจ พวกเขาขอคำแนะนำอื่น ๆ และบอกว่าพวกเขามีหัวหน้าที่บ้าที่เข้ามาเป็นผู้บัญชากองบัญชาการยุทธการกองเรือ ผมถูกเรียกตัวให้ไปที่บ้านของเขา มีการประชุมสั้น ๆ (เพียงครึ่งชั่วโมง) และผมได้รับคำสั่งง่าย ๆ ว่า ออกเดินทางไปโซมาเลียวันพรุ่งนี้ ตอนนั้นผมตระหนักว่า เราไม่มีแผนฉุกเฉินสำหรับโซมาเลียและเราก็ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับสถานการณ์ ผมโทรหาเพื่อนร่วมงานบางคน เช่น ผู้บัญชาการหน่วยซีลสหรัฐฯ ซึ่งผมรู้จักที่กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เราพยายามวางแผนตามข้อมูลที่เราสามารถรวบรวมได้ ก่อนที่เราจะแล่นเรือออกไปตอนพระอาทิตย์ตกดินในคืนถัดมาเพื่อไปยังโซมาเลีย โดยแทบไม่มีข้อมูลใด ๆ ระหว่างทาง เราพยายามวางแผน และตระหนักได้ว่าเมื่อเราไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำโซมาเลีย จะมีกองกำลังรออยู่จำนวนมากนอกเหนือจากกองกำลังเฉพาะกิจ 151 มีกองกำลังเฉพาะกิจ 550 และ 552 ไปจนถึงกองกำลังเฉพาะกิจอื่น ๆ

จากรัสเซียและจีน คำถามเดียวเมื่อผมไปถึงคือ จุดประสงค์ของเรือฟริเกตพวกนี้คืออะไรและคำสั่งของเราสำหรับเรื่องนี้คืออะไร ผมบอกว่าผมมีภารกิจระดับชาติจากประเทศของตนเอง ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ 151 ซึ่งในตอนนั้นนำโดย พล.ร.ต. แฮริส ชาน แห่งกองทัพเรือสิงคโปร์ มาหาผมที่เรือ และเราได้รับข้อมูลมากมายที่ทำให้เราเปลี่ยนแผนการได้ หลังจากได้รับการอนุมัติและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทุกคนในพื้นที่ ภารกิจนี้สามารถทำได้สำเร็จด้วยกองกำลังเฉพาะกิจ ดูตา ซามูดรา

บทเรียนสำคัญในเรื่องนี้คือ เราทุกคนมีภัยคุกคามและปัญหาเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล ปัญหาเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับการแก้ไขโดยประเทศเดียว นั่นคือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ และความร่วมมือนี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้นเมื่อเราได้ทำความรู้จักหน่วยของประเทศอื่น ๆ ด้วยตนเอง

ฟอรัม: คุณได้ข้อมูลเชิงลึกจากกองกำลังเฉพาะกิจ ดูตา ซามูดรา หรือไม่

พล.ร.ท. เทาฟิคโอเอรอชแมน: หลังจากได้รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สิ่งแรกที่ผมทำคือการเตรียมพร้อมตัวเองและหน่วยเฉพาะกิจ สำหรับปฏิบัติการทางไกลที่กองทัพเรืออินโดนีเซียไม่เคยทำมาก่อนจนถึงขณะนั้น ความท้าทายที่สำคัญคือกองทัพเรืออินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนั้นไม่มีหลักนิยมในการดำเนินปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันที่อยู่นอกเขตอำนาจศาลของอินโดนีเซีย จำเป็นต้องช่วยเหลือลูกเรือของเรือเอ็มวี ซินาร์ คูดัส ที่ถูกโจรสลัดโซมาเลียจับเป็นตัวประกัน ในมุมมองนั้น ผมใช้เวลาระหว่างการเดินทางไปยังพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวเอง โดยการศึกษาและฝึกหน่วยที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผมอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ผมยังประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันจะประสบความสำเร็จ เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ ผมได้หวนนึกถึงประสบการณ์ของผมเองตลอดการทำงานในกองทัพเรือ รวมทั้งการฝึกอบรมที่ได้รับการดำเนินการโดยบุคลากรทั้งหมดภายในหน่วยเฉพาะกิจ ดูตา ซามูดรา การประสานงานกับกองกำลังเฉพาะกิจแห่งชาติหลายกองกำลังในพื้นที่นั้นประมาณค่ามิได้ในการช่วยปฏิบัติการ ด้วยคำแนะนำและการปกป้องจากพระผู้เป็นเจ้า การจู่โจมโจรสลัดและการช่วยเหลือลูกเรือเอ็มวี ซินาร์ คูดัส ดำเนินไปโดยไร้ผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกเหนือจากโจรสลัดที่ถูกกำจัด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button